ผลกระทบหลัง สพฐ.กำหนดเกณฑ์ 40 คนต่อห้อง ทำให้เด็กในพื้นที่บริการใกล้โรงเรียนดังเสียสิทธิ์
วันที่ 4 พ.ค.2561 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้รับร้องเรียนจากผู้ปกครองนักเรียน ว่าการรับชั้น ม.1 ประจำปีการศึกษา 2561 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่ง กำหนดให้โรงเรียนรับนักเรียน 40 คนต่อห้อง นั้น ทำให้มีเด็กในพื้นที่บริการบางส่วน ไม่มีโอกาสในการเข้าเรียนต่อ ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนได้รับความเดือดร้อนและร้องเรียนมาที่ตน อย่างไรก็ตาม ตนย้ำมาตลอดว่า การกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ จะต้องไม่ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนได้รับความเดือดร้อน ดังนั้น หากโรงเรียนที่มีความจำเป็นต้องรับเด็กเข้าเรียนเกิน 40 คนต่อห้อง จึงสามารถทำได้ ขณะที่หลักเกณฑ์การรับนักเรียน กำหนดให้รับเด็กในพื้นที่บริการ
“ผมขอบอกไปถึง ผอ.โรงเรียน ที่ไม่รับเด็กในพื้นที่บริการเข้าเรียนว่า เป็นนโยบาย รมว.ศึกษาธิการ ที่จะต้องไม่ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งตอนนี้ผมได้รับการร้องเรียนหลายแห่งและส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนดังในกรุงเทพฯ ผมมอบหมายให้นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( กพฐ.) หาทางแก้ไขเบื้องต้นแล้ว โดยเด็กที่มีสิทธิควรจะได้เรียน และถ้าโรงเรียนใดบอกว่า รับเด็ก 40 คนต่อห้องแล้วไม่รับเด็กในพื้นที่บริการเพิ่มให้มาฟ้อง รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งการรับเด็กเกิน 40 คนต่อห้องสามารถทำได้ โดยอาจจะเปิดห้องเรียนเพิ่มหรือขยายห้องเรียน”
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวและว่า ส่วนปัญหาการเรียกรับเงินเพื่อแลกที่นั่งเรียนหรือแป๊ะเจี๊ยะนั้น ตอนนี้ยังไม่มีร้องเรียนเข้ามาที่ตน แต่ถ้ามีก็ขอให้มาบอก แต่ขอเตือนว่าเดี๋ยวนี้สื่อโซเชียลรวดเร็วมาก ถ้าใครรับก็อาจจะถูกแอบถ่ายคลิป หากใครรับไว้ก็คงไม่ฉลาด อย่าหาเรื่องใส่ตัว
ด้าน นายบุญรักษ์ กล่าวว่า สพฐ.ยอมรับว่า ตอนที่กำหนดให้รับเด็ก 40 คนต่อห้อง ลืมนึกถึงเด็กในพื้นที่บริการ ดังนั้น สพฐ. จะแก้ไขปัญหาโดยคำนึงนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ ที่จะไม่ให้เด็กผู้ปกครองในพื้นที่บริการเดือดร้อน โดยวันที่ 7 พ.ค.นี้ จะหารือกับโรงเรียนที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย เช่น กรณีเด็กไปใช้สิทธิสอบในโรงเรียนดังพื้นที่อื่น แล้วจะกลับมาขอใช้สิทธิในโรงเรียนพื้นที่บริการด้วยนั้น ต้องหารือในรายละเอียด โดยต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป เพราะถ้าพูดกันแต่หลักการ ถึงเวลาแล้วไม่ครอบคลุม ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติ ดังนั้นจึงต้องขอหารือก่อน ถือเป็นนโยบายที่ต้องปฏิบัติเพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของใคร ส่วนเรื่องการรับแป๊ะเจี๊ยะนั้น ปีนี้ไม่ได้รับร้องเรียนถ้าร้องเรียนถึงตน และมีหลักฐาน ก็ต้องตั้งกรรมการตรวจสอบ แต่ถ้าเป็นการพูดลอยๆ ก็คงทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐาน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ