ม.ธรรมศาสตร์ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ เปิดตัวนวัตกรรมฟื้นฟูรักษาผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ช่วยลดต้นทุนในการนำเข้าจากต่างประเทศ และลดค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วย ซึ่งจากสถิติผู้พิการทางการเคลื่อนไหวของไทยในปัจจุบัน มีจำนวนสูงถึง 857,655 คน โดยมีรางวัลจากเวทีมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ เมื่อปีที่ผ่านมา ประกันคุณภาพ
ศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า ด้วยจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ด้านการฟื้นฟูและกายภาพบำบัดในประเทศไทยมีอยู่จำกัด อีกทั้งค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงจากต้นทุนในการนำเข้าอุปกรณ์ช่วยฟื้นฟูจากต่างประเทศ จึงส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยที่มีรายได้น้อยขาดโอกาสในการฟื้นฟูร่างกาย ดังนั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ จึงมุ่งศึกษาวิจัย ค้นคว้า และพัฒนานวัตกรรมที่ทันสมัยและเอื้อประโยชน์แก่สังคม จนได้ 2 นวัตกรรมที่ผู้พิการสามารถเข้าถึงการฟื้นฟูรักษาได้ในราคาประหยัด
นวัตกรรมแรกคือ ชุดถอดประกอบรถเข็นคนพิการแบบใช้ไฟฟ้า (Power add on) ที่จะทำให้การเดินทางของผู้ป่วยที่ใช้รถวีลแชร์เปลี่ยนไป เพียงแค่ออกแรงบิดคันเร่ง ก็จะสามารถเคลื่อนที่ได้ในระยะที่ไกลขึ้น โดยที่ไม่รู้สึกเหนื่อยล้า แม้พื้นถนนจะมีลักษณะขรุขระหรือลาดชัน โดยมีต้นกำลังเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าซึ่งติดตั้งอยู่ที่ล้อ ตัวรถเข็นสามารถถอดประกอบหรือพับเก็บได้อย่างสะดวก ล่าสุด ทางสโมสรโรตารี่สากล (ภาคใต้) ได้ขอให้ศูนย์ออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ (CED2) คณะวิศวกรรมฯ ผลิตให้จำนวน 40 คัน เพื่อบริจาคแก่สถานพยาบาลต่าง ๆ ที่มีความต้องการ
และ “นวัตกรรมเครื่องช่วยฝึกเดินด้วยการช่วยพยุงน้ำหนักบางส่วน” ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต กลับมาเดินได้อีกครั้งและลงน้ำหนักเท้าได้เสมือนคนปกติ เพียง “ฝึกเดิน” บนลู่วิ่งเป็นประจำวันละ 20-30 นาที โดยผู้ป่วยจะขึ้นไปยืนบนเครื่องฝึกเดิน พร้อมกับรัดสายช่วยพยุงน้ำหนักและจับราวหัดเดินให้กระชับ จากนั้นระบบจะฝึกให้ผู้ป่วยก้าวเดินอย่างช้า ๆ คล้ายกับการเดินอยู่บนลู่วิ่ง เพื่อเป็นการกระตุ้นข้อต่อต่าง ๆ ทั้งข้อเข่าและข้อเท้าของผู้ป่วยเกิดความคุ้นเคย ตลอดจนมีท่วงท่าการเดินหรือการลงน้ำหนักเท้าเสมือนคนปกติ นวัตกรรมนี้มีราคาต้นทุนอยู่ที่ 600,000 บาท ซึ่งถือว่าถูกกว่าท้องตลาดที่มีการควบคุมซับซ้อนถึง 10 เท่า โดยเป็นผลงานวิจัยร่วมกันระหว่างคณะวิศวกรรมฯ สาขาวิศวกรรมทางการแพทย์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล และคณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชากายภาพบำบัด
สำหรับสถานพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชน ตลอดจนประชาชนที่สนใจนวัตกรรมฟื้นฟูผู้พิการทางการเคลื่อนไหว สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ โทร.0-2564-3001
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ