นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ฝ่ายการเมือง และโฆษกประจำรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) เปิดเผยว่า ตามที่มีข้อมูลปรากฏเป็นข่าวกรณีที่นักเรียนพี่เลี้ยงชั้น ป.5 และชั้น ม.4 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ แห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.เขาพนม จังหวัดกระบี่
ได้ใช้ยาซีม่าราดตามตัวเด็กชายภูผา บุตรชายนางจินตนา มาชะอุ้ม วัย 9 ขวบ ชั้น ป.2 ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยผิวหนังเกิดรอยไหม้ และมารดาของเด็กได้มารับตัวไปรักษาตัวที่ รพ.เขาพนม ในวันที่ 23 มี.ค. 2564 หลังจากเหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา
โดยเหตุการณ์ดังกล่าว คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับทราบเรื่องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้แสดงความห่วงใยมายังเด็กชายภูผาและครอบครัว และสั่งให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย และรายงานผลการสอบสวนมายังหน่วยงานต้นสังกัดโดยเร็ว
พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ไปยังจังหวัดกระบี่ เพื่อไปเยี่ยมนักเรียนคนดังกล่าวพร้อมให้กำลังใจกับครอบครัวที่ประสบเหตุ
นางดรุณวรรณ กล่าวต่อว่าตนเองได้มีโอกาสพูดคุยกับนายศักดิ์ชัย สุวรรณคต ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 เพื่อสอบถามเบื้องต้นถึงเหตุการณ์ดังกล่าวทราบว่าโรงเรียนอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง และจะมีบทลงโทษไปตามกฎระเบียบของโรงเรียนต่อไป
ทั้งนี้คุณหญิงกัลยาได้กำชับให้โรงเรียนทุกโรงเรียนเพิ่มมาตรการในการดูแลให้เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงเพิ่มความรัดกุมในการตรวจตรา ตรวจสอบ โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีลักษณะเป็นโรงเรียนกินอยู่ประจำที่มีนักเรียนพักค้างในโรงเรียนอยู่ร่วมกันทุกชั้นปี ที่สำคัญคือต้องไม่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก
“ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่งขอส่งกำลังใจให้น้องภูผาและครอบครัวและขอให้น้องหายป่วยโดยเร็ว และอยากเรียนทุกท่านให้ทราบว่าคุณหญิงกัลยา ในฐานะที่กำกับดูแลโรงเรียนราชประชานุเคราะห์มีความห่วงใยในปัญหาที่เกิดขึ้น และกำชับผู้เกี่ยวข้องให้เร่งสอบสวนข้อเท็จจริง
โดยต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมถึงต้องไม่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นอีกในสถานศึกษาทุกแห่งภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้หากผลการสอบข้อเท็จจริงพบว่าคุณครู หรือนักเรียนพี่เลี้ยงมีข้อบกพร่องหรือมีความผิดพลาดในการดูแล ก็ให้โรงเรียนใช้มาตรการในการตักเตือนหรือลงโทษตามระเบียบ ข้อบังคับของทางโรงเรียนหรือทางราชการต่อไป ส่วนในกรณีของคดีความหากผู้ปกครองต้องการเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องก็ถือเป็นสิทธิ และสามารถดำเนินการได้ภายใต้กระบวนการทางกฎหมาย” นางดรุณวรรณ กล่าว