- Line
ฉะเชิงเทรา – ครูสั่งลงโทษ เด็กนักเรียนให้สก๊อตจั๊มพ์จนขาเดี้ยง ลุกเดินไปไหนไม่ได้มานานถึงกว่า 1 สัปดาห์แล้ว ด้านผู้ปกครองร้องผ่านสื่อ หลังแจ้งไปยังทางผู้บริหารโรงเรียนแต่กลับทำนิ่งเฉย สุดท้ายครูสายโหดยอมเข้ามาขอโทษแล้ว แต่เด็กชายวัย 9 ขวบยังเดินไปไหนไม่ได้ แพทย์ให้นอนพักรอดูอาการอยู่ภายใน รพ. ก่อนตรวจไตและเม็ดเลือดควานหาต้นตอของอาการประหลาดที่เกิดขึ้น จนทำให้เส้นยึดขาตายยืดออกไม่ได้
วันที่ 24 ก.พ.64 เวลา 11.30 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก น.ส.พรรณราย ประชาศิริ อายุ 31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 181 ม.1 ต.บ้านโพธิ์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา มารดาของเด็กชายวัย 9 ขวบ ซึ่งเป็นนักเรียนชั้น ป.3 ของโรงเรียนระดับประถมศึกษาประจำตัวอำเภอแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดสนามจันทร์ ว่า บุตรชายได้ถูกครูประจำชั้น ซึ่งเป็นครูพละสั่งลงโทษให้สก๊อตจั๊มพ์ อย่างต่อเนื่องจำนวน 150 ครั้ง และยังให้ไปล้างห้องน้ำ จนเกิดอาการขาเดี้ยง เส้นยึด เดินไปไหนไม่ได้มานานถึงเกือบ 10 วันแล้ว
โดยสาเหตุเกิดจาก ด.ช.วัยซนได้เกิดอาการไอ และจามใส่เพื่อน โดยที่ไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เนื่องจากบุตรชายได้ทำสายคล้องหูเพื่อยึดตัวหน้ากากให้แนบติดกับใบหน้าขาด จนไม่สามารถสวมใส่หน้ากากได้ จึงได้ถูกครูรายดังกล่าวสั่งลงโทษให้สก๊อตจั๊พ์ จำนวน 50 ครั้ง และให้ไปล้างห้องน้ำของโรงเรียน
และเมื่อเด็กชายกลับมา ยังได้มีการหยอกล้อแลบลิ้นปลิ้นตาหลอกเพื่อน เพื่อเป็นการหยอกล้อกันตามประสาเด็กๆ จึงได้ถูกสั่งลงโทษให้สก๊อตจั๊มพ์ หรือการกระโดดลุกนั่งอีก 100 ครั้ง จนทำให้เกิดอาการขาซา แต่ยังสามารถเดินทางกลับมาบ้านได้ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ก.พ.64 ที่ผ่านมา จากนั้นในช่วงรุ่งเช้าของวันที่ 17 เด็กได้มีอาการขาตึง และมีอาการชาที่ขา แต่ยังสามารถเดินทางไปโรงเรียนได้ ทั้งที่ยังเดินได้ไม่ถนัด
ต่อมาในช่วงรุ่งเช้าของวันที่ 18 เด็กชายได้เกิดมีอาการขาชาจนไม่สามารถลุกขึ้นเดินได้ จึงได้ร้องบอกต่อนางทุเรียน พ่วงสมบัติ อายุ 65 ปี ผู้เป็นยายว่าปวดฉี่หรือปัสสาวะ แต่ลุกออกจากที่นอนไม่ได้ เนื่องจากบุตรชายได้พักอาศัยอยู่กับยายและตา โดยตนและสามีได้ไปทำงานอยู่ในพื้นที่ต่างอำเภอ จากนั้นผู้เป็นยายจึงได้ซักถามถึงสาเหตุจนทราบเรื่อง ก่อนที่จะพามาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอาการยังที่ รพ.บ้านโพธิ์ หลังแพทย์ทำการตรวจอาการแล้วได้ให้ยา และให้เดินทางกลับมาพักยังที่บ้านได้
โดยที่ผู้เป็นยายได้ไปแจ้งบอกกับทางผู้บริหารโรงเรียน หรือ ผอ. ว่าได้เกิดเหตุการณ์ลงโทษนักเรียนในลักษณะนี้ขึ้นจนทำให้เด็กเดินไม่ได้ แต่หลังจากได้ไปแจ้งบอกต่อทางผู้บริหารโรงเรียนแล้ว กลับทำนิ่งเฉย จนเวลาผ่านมาหลายวันจนถึงวันที่ 22 ก.พ.64 เด็กก็ยังไม่มีอาการดีขึ้น จึงได้พากลับมาพบแพทย์อีกครั้งยังที่ รพ.บ้านโพธิ์ จนแพทย์ได้สั่งให้นอนพักรักษาตัวอยู่ภายใน รพ. จนถึงวันนี้อาการเด็กก็ยังไม่ดีขึ้น
โดยบุตรชายไม่สามารถที่จะยืดขาออกมาได้ตามปกติ หลังจากได้พยายามยืดให้เหยียดออกมาแล้วได้เกิดอาการเจ็บปวดจนเด็กทนไม่ไหว โดยขณะนี้แพทย์ได้ให้ทำกายภาพบำบัด และทำการเจาะเลือดไปตรวจเพื่อหาอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับระบบการทำงานของไต ซึ่งยังต้องรอผลการตรวจว่าจะทำการรักษาอย่างไรให้หายได้ต่อไป แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อเด็ก จนทำให้ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ อีกทั้งคนในครอบครัวยังต้องหยุดงานเพื่อเวียนกันมาคอยเฝ้าดูอาการ
จนไม่สามารถเดินทางไปประกอบอาชีพได้ตามปกติ อีกทั้งบุตรชายของตนยังเป็นเพียงบุตรชายคนเดียวด้วย ที่ทั้งผู้เป็นตาและยายนั้นเป็นห่วงมากจนกินนอนไม่ได้ ขณะที่ผ่านมาทางโรงเรียนยังไม่ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบใดๆ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งล่าสุดในวันนี้ทางครูประจำชั้นเพิ่งจะติดต่อมาเพื่อขอเข้าเยี่ยมอาการ พร้อมกับได้นำสิ่งของมาเข้าเยี่ยมไข้ เป็นจำพวกนมกล่อง และได้กล่าวขอโทษยอมรับว่าได้ทำไปเกินกว่าเหตุจริงๆ ทั้งยังรับปากว่าจะมาสอนเพิ่มเติมให้ยังที่ รพ. แต่ขณะนี้อาการของเด็กยังไม่ดีขึ้น น.ส.พรรณราย กล่าว
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวพฤติกรรมในการลงโทษเด็กนักเรียนของครูผู้สอนหรือครูประจำชั้นว่า ยังคงเป็นปัญหาของสังคม ทั้งผู้ปกครองและเด็กนักเรียนในหลายโรงเรียน ซึ่งล่าสุดผู้สื่อข่าวยังได้รับการเปิดเผยจากทั้งผู้ปกครองและเด็กนักเรียนอีกว่า มีครูประจำชั้นในโรงเรียนอนุบาลขนาดใหญ่แห่งหนึ่งประจำตัวจังหวัด ที่ได้มีการสั่งลงโทษนักเรียนแบบเหมารวมยกห้องบ่อยครั้งที่มีเด็กเพียงบางคนกระทำผิด ทั้งที่เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ในห้องไม่ได้มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นอะไรด้วย
ทั้งการลงโทษด้วยวิธีการต่างๆ และการตีเด็ก จนทำให้เด็กที่ตั้งใจเรียน หรือไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด กลับถูกลงโทษไปด้วย จึงทำให้เด็กๆ เหล่านั้น ต่างพากันเสียความรู้สึกหรือแอบเจ็บช้ำฝังลึกอยู่ภายใต้จิตใจ ที่อาจกลายเป็นผลกระทบต่อพฤติกรรมในสังคมต่อไปภายในอนาคตได้ ทางผู้บริหารการศึกษาจึงควรสอดส่องดูพฤติกรรมของครูผู้สอน เกี่ยวกับในเรื่องของวุฒิภาวะในการที่จะพิจารณาลงโทษเด็กด้วยว่า มีความเหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะครูประจำชั้น ป.6 ในโรงเรียนขนาดใหญ่แห่งดังกล่าว