เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 ที่ชุมชนทับตะวัน ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ได้มีการจัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 12 ขึ้นเป็นวันที่สอง โดยภายงานได้มีการเสวนาในหัวข้อ “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กับความยั่งยืนในการพัฒนา” ซึ่งวิทยากรประกอบด้วยนายกิตติ อินทรกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ นายประถม รัสมี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6(พังงา) นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร(องค์การมหาชน) น.ส.อรวรรณ หาญทะเล ชาวมอแกลนชุมชนทับตะวัน นางแสงโสม หาญทะเล ชาวอูรักลาโว๊ยชุมชนหลีเป๊ะ จ.สตูล
น.ส.อรวรรณ หาญทะเล กล่าวว่า ทุกวันนี้พื้นที่หน้าหาด พื้นที่สุสาน พื้นที่ทำกินของชุมชนยังคงมีปัญหา สาเหตุที่เราขึ้นมาทำงานต่อสู้เพราะเห็นคุณค่าและพยายามรักษาเพื่อเอาไว้หล่อเลี้ยงผู้คน หลายคนอาจมองว่าเราเป็นผู้ร้องขอ แต่จริงๆแล้วชาวเลเป็นผู้บุกเบิก เราทำเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนจนมีมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์มาเรียนรู้ เขารู้สึกทึ่งที่ชาวเลรอดชีวิตจากสึนามิได้
ครูแสงโสม หาญทะเลกล่าวว่า ชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะตอนนี้กำลังเผชิญประเด็นร้อนเพราะมีการปิดทางเดินเข้าโรงเรียน อนามัยและสุสานซึ่งเป็นเส้นทางดั้งเดิมที่ชาวบ้านใช้สัญจรมานับร้อยปี เขาใช้เหล็กกั้นไม่ให้เด็กนักเรียนเข้าไปยังโรงเรียนซึ่งชาวบ้านได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้ว โดยก่อนหน้านี้เหตุการณ์ในลักษณะเดียนวกันได้เกิดขึ้นที่เกาะพีพี ซึ่งเป็นเรื่องความเห็นแก่ตัวของนายทุน อยากเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบแก้ปัญหาให้ด้วย
“ตั้งแต่เมื่อวาน(25 พฤศจิกายน)เวลา 13.00 น.มีความพยายามเชื่อมเหล็กเปิดเส้นทางเข้าโรงเรียน หลายครั้งที่มีการเสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา แต่การแก้ไขปัญหาช้ายิ่งกว่าเต่า เขาอ้างเอกสารสิทธิและเป็นสิทธิส่วนบะคคล แต่หน่วยงานรัฐไม่ได้มองว่าเส้นทางนี้ชาวบ้านใช้มากว่าร้อยปีแล้ว เมื่อวานมีการนำเจ้าหน้าที่ที่ดินมารังวัดที่ดินในพื้นที่ที่มีชาวเล 150 ครอบครัวอยู่อาศัยโดยไม่แจ้งผู้ใหญ่บ้านโดยเจ้าของเอกสารสิทธิพามา เมื่อเราขอไปลงบันทึกประจำวัน ตำรวจว่าเขามีเอกสารถูกต้อง ในที่สุดตอนนี้มีการปิดเส้นทางโรงเรียน อนามัย ทำให้เห็นถึงความโลภของมนุษย์ เขาเห็นแค่เอกสารก็บอกว่าถูกต้องแล้วทั้งๆที่ชาวเลใช้มาเป็นร้อยปี การท่องเที่ยวทำให้เกิดปัญหาเพราะเน้นสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเติบโต ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเสพทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ซึ่งชาวเลเป็นคนดูแลตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ชาวเลยืนยันว่าที่นี่เป็นเขตแดนสยาม แต่ทำไมวันนี้พวกเราที่เป็นลูกหลานกลับถูกทอดทิ้ง เราพูดจนไม่มีน้ำตาแล้ว เพราะน้ำตาแห้งไปหมด ที่นี่กลายเป็นนรกของชาวเลที่ต้องเผชิญกับปัญหา”ครูแสงโสมกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ
ครูแสงโสมกล่าวว่า เมื่อปี 2563 เราได้จัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลขึ้นที่หลีเป๊ะ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอีกหลายหน่วยงานร่วมกันลงนามเพื่อแก้ไขปัญหาแต่จนถึงวันนี้การแก้ไขปัญหาก็ยังไม่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาชาวเลพยายามผลักดันให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชาวเลระดับรัฐบาล เราได้ให้ข้อมูลเพื่อให้รัฐบาลมอบให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่แก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรม และคณะกรรมการก็มีมติว่าจะลงพื้นที่แต่ไม่ได้บอกว่าจะลงเมื่อไร แต่ตอนนี้เราอยากให้ลงพื้นที่ด่วนเพราะสถานการณ์วิกฤตแล้ว
“ปี 2497 ชาวเลบุกเบิกเกาะหลีเป๊ะ เราอยู่ที่นั่น แต่ละตระกูลทำสวน ปลูกมะพร้าว แบ่งกันอยู่เป็นชุมชน มีชื่อชุมชนเป็นประวัติศาสตร์ แต่ภายหลังเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นคนที่อื่นมาสำรวจให้ออก สค.1 กลายเป็นวิบากกรรมชาวเลหลีเป๊ะ เพราะไม่รู้ภาษาไทย ที่ดินบางแปลงจากสค.1 จำนวน 50 ไร่กลายเป็น นส.3 เพิ่มเป็น 81 ไร่ เมื่อเป็นที่ดินครอบครองของเขาเพิ่มเป็น 150 ไร่ มีการโกงที่ดินชาวเลจากคนที่รู้กฏหมายและเจ้าหน้าที่รัฐและขายให้เอกชนโดยที่ชาวเลไม่รู้เรื่องเลย การออกเอกสารตรงนั้นกลายเป็นตราบาปจนถึงทุกวันนี้”ครูแสงโสม กล่าว
ขณะที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสตูล(พมจ.) กล่าวว่า จะนำเรื่องที่หลีเป๊ะแจ้งไปยังผู้ว่าฯสตูลเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไขและหาทางออกร่วมกันเชื่อว่าหากผู้ว่าฯรับรู้สภาพปัญหาจะไม่นิ่งนอนใจแน่นอน
นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ กล่าวว่า ถ้าชาวบ้านเลือกได้เขาก็ต้องการชีวิตที่สงบสุขตามแบบของชาวบ้าน แต่นั่นเป็นความฝัน ความจริงคือชีวิตของเขาแขวนอยู่บนเส้นด้าย กลุ่มชาติพันธุ์มีอำนาจต่อรองน้อยมาก แม้แต่เรื่องภาษายังเป็นอุปสรรค เพราะมีข้ออ้างมากมาย ทั้งเรื่องกฎหมายตลอดจนเศรษฐกิจพอเพียง ที่วกกลับมาทำร้ายชาวบ้านแต่ไม่เคยเรียกร้องเอากับคนรวยให้รู้จักความพอเพียง ดังนั้นจึงต้องมาร่วมกันผลักดันเพื่อให้มีความหวัง
“การปิดทางไปโรงเรียนที่หลีเป๊ะ ทั้งที่เป็นเส้นทางดั้งเดิมของชาวบ้าน เดี๋ยวนี้หลีเป๊ะแทบไม่เหลือที่จอดเรือชายฝั่ง เหลือแค่บริเวณหน้าโรงเรียนเท่านั้น เป็นความจริงที่ดำรงอยู่และเห็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องผลักดัน พรบ.คุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาติพันธุ์ ทุกวันนี้ชาวบ้านชาติพันธุ์ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรณีของชาวบ้านบางกลอย สถานการณ์แบบนี้ต้องการการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ดี ไม่เช่นนั้นจะรุนแรงขึ้น”นพ.โกมาตร กล่าว
นายกิตติ อินทรกุล รองอธิบดีฯกล่าวว่าภารกิจ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) มีหน้าที่ทำอย่างไรให้ชาวเลได้กินอิ่มและนอนอุ่น เราไม่อยากให้เขาเป็นยิปซีอีกต่อไปจึงต้องเปิดพื้นที่ให้พูดคุยกัน อยากได้ทุกภาคีมาเป็นหุ้นส่วน แต่ละส่วนมีบทบาทหน้าที่ต่างกันโดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง จึงต้องฟังความต้องการของประชาชนแล้วสนับสนุน ชุมชนจึงต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าต้องการให้ชุมชนของตัวเองเป็นอย่างไร