รักบี้ฟุตบอล หรือเรียกกันทั่วไปว่า “รักบี้” เป็นกีฬาที่เกิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษในโรงเรียนรักบี้ ซึ่งเป็นโรงเรียนแบบพับลิคสกูลแบบอังกฤษ (เป็นโรงเรียนประจำนักเรียนกินนอน และเรียนตลอดจนทำกิจกรรมต่างๆ ภายในโรงเรียน ความจริงแล้วเป็นโรงเรียนราษฎร์ หรือโรงเรียนเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ซึ่งผู้ปกครองของนักเรียนต้องเป็นผู้มีเงิน มั่งคั่งพอสมควร จึงจะสามารถส่งลูกหลานมาเรียนที่พับลิคสกูลเหล่านี้ได้ ส่วนโรงเรียนของรัฐบาลเรียกว่า สเตรท สกูล นั้นนักเรียนอังกฤษส่วนใหญ่เข้ารับการศึกษาเพราะเรียนฟรี) โดยเริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ.2369 (ตรงกับต้นรัชสมัย ร.3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ขณะนั้นเป็นการแข่งขันฟุตบอลภายในของโรงเรียนรักบี้ ซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองรักบี้ ผู้เล่นคนหนึ่งชื่อ วิลเลียม เวบบ์ เอลลิส ได้ทำผิดกติกาการแข่งขันที่วางไว้ โดยวิ่งอุ้มลูกบอล ซึ่งตัวเขาเองไม่ได้เป็นผู้เล่นในตำแหน่งผู้รักษาประตู และได้วิ่งอุ้มลูกบอลไปเข้าประตูฝ่ายตรงข้าม
จากการเล่นฟุตบอลนอกกติกาของนายวิลเลียม เอลลิส เป็นที่กล่าวขวัญกันในบรรดาโรงเรียนพับลิคสกูลทั่วประเทศอังกฤษ เนื่องจากกีฬาฟุตบอล ซึ่งเป็นกีฬาหลักของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในขณะนั้น มักถูกล้อว่าเป็นกีฬาของคนแขนขาดเล่นแล้วไม่สนุกถึงใจเลย ในที่สุดก็มีนิสิตเคมบริดจ์กลุ่มหนึ่ง ได้นำเอาวิธีการเล่นของ นายเอลลิส ไปจัดการแข่งขัน โดยเรียกชื่อเกมชนิดใหม่นี้ว่า รักบี้เกม ภายหลังจากนั้นก็เป็นที่นิยมเล่นกันมากขึ้นทั้งได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขการเล่นเรื่อยมาในประเทศอังกฤษ และรักบี้ยังเป็นต้นกำเนิดของกีฬา “อเมริกันฟุตบอล” อันเป็นกีฬาโปรดของชาวอเมริกันอีกด้วย
ใน พ.ศ.2473 ในสมัยที่ พระยาปรีชานุสาสน์ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยนั้น หม่อมเจ้าประสบศรีจิรประวัติ และ พระสุทัศน์ พงศ์พิสุทธิ์ ได้เข้ามาแนะนำและฝึกสอนนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยให้รู้จักการเล่นกีฬารักบี้ฟุตบอล จนสามารถจัดการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานประจำปีของโรงเรียน ที่สนามวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2475 ระหว่างชุดนักเรียนเก่า และนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยที่กำลังศึกษาอยู่ในเวลานั้น นับเป็นครั้งแรกที่คนไทยได้แข่งขันรักบี้ฟุตบอลกันเอง โดยไม่มีชาวต่างชาติร่วมทีมเลย ในวันนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสว่า
“วันนี้เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นนักเรียนไทยเล่นฟุตบอลรักบี้ ฟุตบอลอย่างนี้เคยมีคนพูดกันว่า ไทยเราเล่นไม่ได้ เพราะถ้าเล่นเข้าก็ได้ต่อยกันตาย แต่วันนี้ก็เห็นเล่นได้โดยเรียบร้อย ซึ่งแปลว่า โรงเรียนนี้สามารถฝึกหัดให้นักเรียนมีน้ำใจเป็นนักกีฬาแท้ได้จริง นี่เป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกปลาบปลื้มมาก”
รักบี้เป็นกีฬาที่นิยมเล่นกันของพับลิคสกูลทั้ง 24 โรงเรียน และมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ เช่น ออกซฟอร์ด เคมบริดจ์ เนื่องจากเป็นการปลูกฝัง “Fair Play” อันเป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์สำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ได้เรียนจบจากสถาบันเหล่านี้พึงมี เพราะคำแปลหลักของ Fair Play คือ การเล่นอย่างยุติธรรมนั่นเอง เนื่องจากรักบี้เป็นกีฬาที่ใช้คนเล่นมาก คือ แบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายละ 15 คน และรักบี้เป็นกีฬาที่มีการปะทะด้วยกำลัง และความรวดเร็วคล่องแคล่วว่องไว เป็นกีฬาที่หนักในเกมมีการเข้าสกรัม การแท็กเกิ้ล การเข้าแถวเพื่อกระโดดแย่งลูกรักบี้ และรักบี้เป็นกีฬาที่ต้องใช้การวางแผนยุทธศาสตร์ และต้องใช้ยุทธวิธีหลากหลายของทั้งทีม และของเฉพาะตัวผู้เล่นแต่ละบุคคลด้วย รวมทั้งต้องมีการประสานงานให้เหมาะเจาะ จึงจะนำไปสู่ชัยชนะได้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การเล่นรักบี้นั้นเล่นสกปรกได้ง่ายที่สุดเนื่องจากมีนักกีฬาอยู่ในสนามถึง 30 คนและมีการเล่นชุลมุนบ่อยครั้งโดยเฉพาะตอนเข้าสกรัม (การใช้นักรักบี้กองหน้าข้างละ 8 คนดันกันเพื่อแย่งลูกรักบี้กัน) โดยมีกรรมการอยู่คนเดียวกับผู้ช่วยที่กำกับเส้นอีก 2 คนเท่านั้น จึงสามารถเล่นสกปรกได้อย่างสะดวกด้วยการชกหมัดสั้น เตะหน้าแข้ง ใช้นิ้วทิ่มลูกตา หรือกระทืบผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามที่เสียหลักล้มลงไป ฯลฯ ซึ่งกรรมการก็มักจะจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน แต่ผู้เล่นรักบี้ในสนามจะรู้ซึ้งถึงนิสัยของผู้เล่นรักบี้ด้วยกันเลยว่า “ใครเป็นสุภาพบุรุษ ใครเป็นกุ๊ย” จากเกมการเล่นรักบี้ 80 นาทีได้อย่างชัดแจ้ง
คราวนี้ก็เกิดมีข่าวใหญ่เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา คือ ทีมรักบี้อันดับ 1 ของโลก คือ ทีมชาตินิวซีแลนด์ (เป็นทีมที่ใช้ชุดสีดำล้วน รวมทั้งตราสัญลักษณ์เป็นใบเฟิร์นสีเงินลงเล่นรักบี้เป็นนิจจนได้รับฉายาว่า “ออล แบล็คส์” เนื่องจากทีมชาตินิวซีแลนด์สวมชุดดำล้วนโดยที่หนังสือพิมพ์บางฉบับให้เหตุผลง่ายๆ ของการสวมชุดดำล้วนว่า เป็นการไว้ทุกข์ให้กับทีมคู่แข่ง) ที่ตกลงใจที่ขายหุ้น 12.5% ให้กับบริษัทซิลเวอร์ เลค ซึ่งเป็นบรรษัทเงินทุนของสหรัฐอเมริกาในราคา 281.8 เหรียญอเมริกัน โดยให้สิทธิในการจัดการเกี่ยวกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อการค้าของทีมรักบี้ ออล แบล็คส์ แก่ทางบริษัท
สาเหตุสำคัญที่ทีมออล แบล็คส์ต้องตัดสินใจทำเช่นนี้ก็เพราะว่าทางทีมมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทางด้านค่าเดินทางที่แสนไกลรวมทั้งค่าโรงแรมที่พัก ค่าเบี้ยเลี้ยงนักรักบี้ ฯลฯ เพื่อไปแข่งขันแต่ละครั้ง ทำให้ฐานะทางการเงินของทีมออล แบล็คส์ ต้องขาดทุนติดต่อมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะปีที่แล้วปีเดียวก็ขาดทุนไปถึง 13.6 เหรียญอเมริกัน
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงในการขายหุ้นครั้งนี้ยังต้องให้สหภาพผู้เล่นรักบี้แห่งนิวซีแลนด์ให้สัตยาบันรับรองจึงจะเป็นผล และบรรดาผู้เล่นรักบี้ระดับตำนานหลายคนของนิวซีแลนด์ได้ออกมาคัดค้านข้อตกลงนี้อย่าง
แข็งขัน เนื่องจากเห็นว่าเป็นการขายศักดิ์ศรี และค่านิยม การมีน้ำใจนักกีฬา และแฟร์เพลย์ของกีฬารักบี้ให้กับการค้าการโฆษณาไป นอกจากนี้ ทีมออล แบล็คส์ก็จะต้องถูกบังคับให้เล่นรักบี้กับทีมรักบี้สมัครเล่นของอเมริกาบ่อยเกินไป เพื่อการโฆษณาอันจะทำให้มาตรฐานการเล่นรักบี้แบบมืออาชีพต้องตกต่ำไปอย่างแน่นอน
ครับ ! แต่อย่างไรก็ตาม ทีมออล แบล็คส์ ที่ต้องขายหุ้น 12.5% ให้กับบรรษัทซิลเวอร์เลคแน่นอน เพราะคงทนต่อการขาดทุนต่อไปไม่ไหวแล้ว โดยเฉพาะสถานการณ์ที่โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลกในปัจจุบัน
โกวิท วงศ์สุรวัฒน์