Advertisement
ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เข้าร่วมการประชุมและตรวจเยี่ยมการเปิดโรงเรียนในสังกัดสำนักงานส่งเสริมคณะกรรมการศึกษาเอกชน (สช.) ณ โรงเรียนบางกอกพัฒนา เขตบางนา โดยมี นายประยูร หรั่งทรัพย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (รองเลขาธิการ กช.) นายแพทย์เกษม เวชสุทธานนท์
ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรมอนามัย นายวาสุเทพ บุญชู รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารโรงเรียนบางกอกพัฒนา เข้าร่วมการประชุมด้วย
ดร.กนกวรรณ เข้ารับฟังการประชุมการเปิดโรงเรียนหรือสถานศึกษาประเภทไปกลับ ในหัวข้อโครงการเปิดเรียนมั่นใจปลอดภัยไร้โควิด – 19 (Sandbox Safety Zone in School) ของโรงเรียนบางกอกพัฒนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) โดยมี นางสาวพัชรินทร์ จริงเข้าใจ ผู้จัดการโรงเรียนบางกอกพัฒนา กล่าวชี้แจงแผนการดำเนินงานและมาตรการของโรงเรียนที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ของ สช. ว่า โรงเรียนบางกอกพัฒนาเป็นโรงเรียนนานาชาติที่มีขนาดใหญ่ มีการเปิดการเรียนการสอน 3 เทอมต่อปีการศึกษา จึงมีความพร้อมเป็นอย่างมากที่ทำการเปิดเรียนและจะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ สช. อย่างเคร่งครัด ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ทางโรงเรียนได้มีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (CSL) ดังนั้นโรงเรียนได้มีการจัดทำแผนการเปิดโรงเรียนดังนี้ 1. การเปิดการเรียนการสอนแบบผสม (Hybrid) ในรูปแบบ On site และ Online ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อให้นักเรียนได้เตรียมความพร้อมในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ ดร.กนกวรรณ ได้ชื่นชมแนวคิดการเปิดเรียนการสอนแบบผสมของทางโรงเรียนว่า เป็นแนวคิดที่ดี ที่โรงเรียนจะได้เติมเต็มความรู้ให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก่อนที่นักเรียนจะได้สอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยนักเรียนจะได้มีการเรียนรู้อย่างเต็มที่ อาทิ วิชาวิทยาศาสตร์ที่จำเป็นจะต้องมีการทดลอง วิชากีฬาและสันทนาการเพื่อให้เกิดการคลายเครียด รวมถึงการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในโรงเรียนได้อย่างเต็มที่เพื่อให้นำไปประกอบการเสริมสร้างทักษะชีวิตและความรู้ของตนในอนาคตได้ 2. การจัดแนวปฏิบัติสำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา ในส่วนของการเรียน On site ทางโรงเรียนจะทำการประเมินความเสี่ยงอยู่เสมอผ่านระบบ Thai Save Thai (TST) รวมทั้งนักเรียน ครู และบุคลากรทุกคนจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม มีการตรวจ Antigen test kit (ATK) ก่อนเข้าสถานศึกษาทุกครั้ง มีการจัดการเรียนและกิจกรรมแบบ Small Bubble ปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย DMHT-RC และ SSET-CQ อย่างเข้มงวด มีการทำความสะอาดโรงเรียนประจำทุกวัน จัดระบบระบายอากาศให้มีการถ่ายเทที่ดี เป็นต้น และ 3. แนวทางการจัดการและบริหาร โดยผู้บริหารโรงเรียนจะมีการจัดทำแผนป้องกันและติดตามการดำเนินการตลอดเวลา รวมถึงแผนการซักซ้อมความเข้าใจในกรณีที่โรงเรียนมีผู้ติดไวรัสโควิด – 19 เกินร้อยละ 10 ในโรงเรียนอีกด้วย มีมาตรการความปลอดภัยในการจัดการเรียนการสอนทั้งในห้องเรียน ห้องสมุด พื้นที่สนามเด็กเล่นและสันทนาการ กิจกรรมกีฬา การบริการรถรับส่งนักเรียน และในส่วนพื้นที่โรงอาหารจะมีการแจกข้าวกล่องแทน เพื่อลดการสัมผัสและเว้นระยะห่างได้มากขึ้น
ระหว่างการประชุม ดร.กนกวรรณ ได้ปรึกษาและขอความคิดเห็นจากนายแพทย์เกษม เวชสุทธานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรมอนามัย เกี่ยวกับการดำเนินการเปิดโรงเรียนตามแผนดังกล่าว นายแพทย์เกษม ได้ชี้แจงว่าทางกรมอนามัยเห็นถึงความพร้อมและความตั้งใจที่โรงเรียนต้องการเปิดเรียนเป็นอย่างมาก แต่ทว่าจากสถิติของกรมอนามัยพบว่า ในการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ส่วนมากพบได้ในผู้ใหญ่ ซึ่งสำหรับโรงเรียนหรือสถานศึกษาแล้วนั้น คณะครูและบุคลกรทางการศึกษา ก็อาจจะกลายเป็นสาเหตุหลักในการแพร่ระบาดไปสู่นักเรียนที่เป็นเด็กได้มากกว่า จึงฝากกำชับให้ทางกระทรวงศึกษา สช. และโรงเรียนที่ต้องการเปิดเรียนแบบไปกลับ ช่วยเฝ้าระวัง สังเกตการณ์ และสร้างมาตรการป้องในสถานการณ์เช่นนี้ให้เป็นอย่างดีด้วย
นอกจากนี้ ดร. กนกวรรณ ได้หารือกับนายวาสุเทพ บุญชู รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ในเรื่องของการเปิดโรงเรียนหรือสถานศึกษาเพื่อจัดทำการสอบ SAT (Scholastic Aptitude Test) ซึ่งเป็นการสอบเพื่อสมัครเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่จะมีการจัดสอบพร้อมกันทั่วโลกในวันที่ 25 กันยายน ที่จะถึงนี้ด้วย ขณะที่ นายประยูร หรั่งทรัพย์ รองเลขาธิการ กช. ได้ชี้แจงว่า ตนกำลังเร่งดำเนินการกับกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการเปิดโรงเรียนเพื่อใช้เป็นสถานที่สอบดังกล่าว และพร้อมกันนี้ได้ประสานงานกับคณะกรรมการโรคติดต่อ กรุงเทพมหานคร เพื่อขอทำการเปิดสอบไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นทาง สช. จึงขอความร่วมมือจากนายวาสุเทพ เพื่อช่วยดำเนินการประสานงานกับคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. โดยเร็วเพื่อทำการพิจารณาและอนุมัติให้มีการจัดสอบ SAT ในพื้นที่ กทม. ได้
ภายหลังเสร็จสิ้นจากการประชุมแล้ว ดร.กนกวรรณ ได้ทำการตรวจเยี่ยมโรงเรียนเกี่ยวกับการจัดสถานที่สำหรับการจัดทำการเรียนการสอนแบบผสม (Hybrid) ในรูปแบบ On site และ Online ที่ทางโรงเรียนได้ดำเนินการขึ้น ได้แก่ การจัดพื้นที่รับส่งนักเรียน สถานที่ที่ใช้ในการตรวจ Antigen test kit (ATK) ห้องเรียนทั้งในระดับชั้นอนุบาลและชั้นมัธยม สถานที่ที่มีการใช้ในส่วนรวมเช่น โรงอาหาร ลานสันทนาการ สนามฟุตบอล รวมถึงสถานที่พักตัวในกรณีที่มีนักเรียน ครู และบุคลากรในโรงเรียนตรวจพบเชื้อโควิด – 19 เป็นต้น
ขวัญข้าว แสนบ่อ : ภาพ/ข่าว
กรรณิกา พันธ์คลอง : เรียบเรียง
ประชาสัมพันธ์ สช.