มรพ.-สสส.จับมือเฉพาะกิจเธียเตอร์ เครือข่ายละครลดปัจจัยเสี่ยง ตระเวนเล่า “นิทานสร้างภูมิรู้ สู้พนัน”ให้เด็กเล็กทั่วกทม.และปริมณฑล
“อย่า ! อย่า ! อย่า ! ไม่เอา ไม่นะ อย่าเล่นนะ”
เสียงตะโกนของเหล่าบรรดาหนูน้อย เด็กๆ ชั้นอนุบาลกว่า 80 คน ของโรงเรียนนรรัตน์รังสฤษดิ์ เขตสะพานสูงกรุงเทพมหานคร ที่แข่งกันส่งเสียงดัง เพื่อห้ามพี่กระรอกดิน ตัวละครสำคัญในนิทานเรื่อง กระรอกดิน กระรอกโพรง ไม่ให้เล่นเกมส์เสี่ยงทาย ด้วยน้องๆ ต่างเห็นพร้องว่า พี่กระรอกดินกำลังจะถูกโกงจากกระรอกโพรงตัวละครอีกตัวก่อนที่ท้ายสุดแล้วพี่กระรอกดินก็เชื่อน้องๆ ไม่เล่นเสี่ยงทายอีกครั้ง จึงไม่เกิดการสูญเสียอาหารทั้งหมดให้กับกระรอกโพรงซ้ำรอยเดิม และการ “เล่านิทาน” ผ่านการแสดงละครของทีมเฉพาะกิจเธียเตอร์ ณ โรงเรียนนรรัตน์รังสฤษฏ์ เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ ก็จบลงอย่างชื่นมื่นท่ามกลางเสียงหัวเราะอย่างสนุกสนานพร้อมรอยยิ้มอย่างมีความสุขของหนูน้อย
- “นิทานสร้างภูมิรู้ สู้พนันแก่เด็กปฐมวัย
นายสุกฤต อ่องชาติ (พี่กฤต) ผู้ก่อตั้งทีมเฉพาะกิจเธียเตอร์ เครือข่ายกลุ่มละครลดปัจจัยเสี่ยง สนับสนุนโดยมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน (มรพ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าถึงกิจกรรม “นิทานสร้างภูมิรู้ สู้พนัน” ในครั้งนี้ ว่า เดิมทีมมีความสนใจในการเล่านิทานผ่านการแสดงละครอยู่แล้วโดยเน้นการรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงเป็นหลัก ทั้งการพนัน เหล้า บุหรี่ แอลกอฮอล์ ความรุนแรงทางเพศ สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ประกอบกับ มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน
จัดทำชุด “หนังสือนิทาน” สำหรับเด็กเพื่อสื่อสารและสร้างภูมิคุ้มกันจากการพนันให้กับเด็กปฐมวัย ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 7 เล่ม อาทิ มังกรน้อยมีไฟ โอ๊ะโอ เพื่อนรัก กระรอกน้อยคอยได้ หางแสนรัก ฯลฯ ทางเราจึงนำนิทานเหล่านี้มาขยายผลต่อตามโรงเรียนต่างๆ ทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑลกว่า 10 แห่ง เหตุที่เลือกนิทานเรื่อง กระรอกดินกระรอกโพรง เพราะมีตัวละครแค่ 2-3 ตัวเด่นๆ “เด็กปฐมวัย” จะจดจำตัวละครได้ง่ายและใช้กลยุทธ์สื่อสารส่งผ่านข้อคิดและแนวคิดในการสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” เรื่องการพนันผ่านตัวละครโดยสร้างประสบการณ์การมีส่วนร่วมของน้องๆ ค่อยๆกระตุ้นให้เด็กๆจินตนาการตามตัวละคร
- “เล่านิทาน”สอนเรื่องการพนัน รู้จักการโกง
พี่กฤต เล่าด้วยว่า เด็กวัยนี้มีจินตนาการ น้องๆไม่รู้หรอกว่าการพนัน คือ อะไร แต่นิทานเรื่องนี้มีเรื่องของการพนันซ่อนอยู่ในบทของนิทาน โดยเนื้อเรื่องมีอยู่ว่า กระรอกดินและกระรอกโพรง เตรียมสะสมอาหารสำหรับฤดูหนาว แต่ปีนี้อาหารมีน้อย กระรอกโพรงชวนกระรอกดินเล่นเสี่ยงทาย หากทายถูก กระรอกดินจะได้อาหารจากกระรอกโพรงกระรอกดินต้องการอาหารเพิ่มจึงตัดสินใจเล่น โดยไม่รู้ตัวว่ากำลังเดินเข้าสู่กับดัก ครั้งแรกกระรอกโพรงยอมให้กระรอกดินชนะ และชวนเล่นครั้งที่ 2 กระรอกดินตัดสินใจเล่น เพราะคิดว่าเล่นเสี่ยงทายเป็นเรื่องง่ายกว่าการออกไปหาอาหารและคิดว่าตนเองจะโชคดีอีกครั้ง
แต่ครั้งนี้กลับโดนกระรอกโพรงโกงจนสูญเสียอาหารที่เก็บสะสมไว้ไปทั้งหมด พอเข้าสู่ช่วงของการที่ต้องเก็บหาอาหารเพื่อไว้กินในฤดูหนาวอีกครั้ง กระรอกโพรงได้ชวนกระรอกดินเล่นเสี่ยงทายอีกเช่นเคย แต่จากที่น้องๆที่นั่งดูละครนิทานอยู่ก็จะรับรู้ได้แล้วว่ากระรอกโพรงจะโกงอีกครั้ง จึงต่างช่วยกันห้ามไม่ให้กระรอกดินเล่นเสี่ยงทาย การมีส่วนร่วมตรงนี้น้องๆไม่รู้หรอกว่าการเสี่ยงทายเป็นการพนัน แต่เขาจะรู้ว่า การโกง คือ อะไร และละครยังสอดแทรกทักษะการยับยั้งชั่งใจให้กับเด็กๆ โดยสังเกตจากที่เขาห้ามไม่ให้พี่กระรอกดินเล่นเสี่ยงทาย ซึ่งหากไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจก็จะไม่สามารถหยุดการกระทำหรือหยุดความต้องการของตนเองได้
พี่เนส–นายอรรถกฤษณ์ พฤกษ์เลิศตระกูล ผู้สวมบทเป็น กระรอกดิน และ พี่ตามใจ–นายสุรัตน์ แก้วสีคร้าม สวมบทเป็น กระรอกโพรง สองตัวละครเอกของเรื่องได้ร่วมพูดคุย ว่า นิทานเรื่องนี้ผู้แต่งต้องการชี้ให้เห็นภัยของการพนัน คือการสูญเสียทรัพย์สิน เป็นการสื่อสารถึงหายนะของการพนันโดยใช้วิธีตรงไปตรงมา สิ่งที่ชี้ชัดว่าเด็กๆรับรู้เรื่องภัยของการพนัน คือ เขาจะรู้ว่าครั้งแรกที่เล่นส่งผลกระทบอย่างไรกับละครอีกตัวหนึ่ง น้องรับรู้ว่ามีความเสี่ยง คือ อาจจะไม่ได้เสมอไป น้องจึงห้ามไม่ให้กระรอกดินเล่น เขาจะซึมซับและรับรู้แล้วว่าสิ่งที่เราสื่อออกไปยังเขาคืออะไร เพียงแต่เขาไม่รู้จักคำว่า พนัน เท่านั้นเอง นิทานเรื่องนี้ยังสอดแทรกเรื่องการออมการเก็บหอมรอมริบ ความขยันหมั่นเพียร ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานที่ควรปลูกฝังตั้งแต่วัยเยาว์ อยากฝากข้อคิดไปยังผู้ปกครอง ว่า สามารถช่วยกันได้อีกทางหนึ่งในการปลูกฝังให้เด็กรับรู้ว่า ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ทุกอย่างต้องใช้แรง ใช้ความพยายาม ใช้ความคิด ความรู้ ความสามารถจึงจะได้มา
- ผู้ปกครองต้องช่วยสร้าง “ภูมิคุ้มกัน”เรื่องการพนัน
“จริงๆแล้วโรงเรียนอย่างเดียวไม่พอ ชุมชนและผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วมด้วย ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญมากในการช่วยดูแลเด็กๆให้เติบโตขึ้นมาเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศ การปลูกฝังค่านิยมทัศนคติที่ดีต่างๆให้กับลูกหลานตั้งแต่ยังเล็กต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง เรียกว่า บ้าน–วัด–โรงเรียน โดยในทุกวันศุกร์โรงเรียนจะมีกิจกรรมการเล่านิทานธรรมะ เพื่อปลูกฝัง หรือเรื่องคุณธรรมศีลธรรมอันดีงามให้กับเด็กๆ นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม เข้าร่วมกิจกรรมด้วย
ในส่วนของผู้ปกครองทางโรงเรียนอยากให้เข้ามามีส่วนร่วมรับรู้ รับฟังว่าทางโรงเรียนได้มีการดำเนินกิจกรรมในเรื่องใดบ้าง เช่น เรื่องของสมาธิสั้น ทางโรงเรียนจะให้ความรู้และวิธีสังเกตอาการของสมาธิสั้น หากผู้ปกครองเข้าร่วมกิจกรรมกับทางโรงเรียนก็จะได้รับทราบวิธีสังเกตอาการของบุตรหลานได้ หรือแม้แต่ทางโรงเรียนสังเกตพบความผิดปกติของเด็กๆ เช่น บางคนไม่อยากมาโรงเรียนเพราะอะไร ก็จะได้มาร่วมกันช่วยป้องกันหรือแก้ไข
นางบุหงา อ่อนท้วม ผอ. รร. นรรัตน์รังสฤษฏ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” เรื่องการพนันให้กับเด็กๆ ตั้งแต่ปฐมวัย ผ่านนิทานโดยการนำมาแสดงเป็นละคร พร้อมกับการชักชวนให้เด็กๆ มีส่วนร่วมแบบนี้เขาจะซึมซับรับรู้ได้ง่ายกว่าการมาบอกว่า การพนัน คือ อะไร ขณะเดียวกันเด็กในวัยนี้เขาสามารถรับรู้ได้ว่า อะไรคือ ดี และ ไม่ดี ที่สำคัญวัยนี้เมื่อห้ามก็เหมือนกับการไปยั่วยุให้เขาทำสิ่งนั้น เราจึงไม่ควรห้ามแต่สอดแทรกสิ่งที่ต้องการปลูกฝังให้เขารับรู้ผ่านการคิดจินตนาการไปตามวัยของเขา
โดยผ่านจากสิ่งที่เด็กจะซึมซับได้ง่าย เช่น นิทาน หรือ ละคร จะทำให้เขาจดจำได้ง่ายกว่าไปบอกด้วยคำพูด และการปลูกฝังตั้งแต่เด็กแบบนี้ เขาก็จะเริ่มเรียนรู้ว่าอะไรคือการพนัน เมื่อโตขึ้น หากเขาไปเห็น เช่น การพนันออนไลน์เด็กก็จะเรียนรู้ได้ว่านี่เป็นการพนันนะ เพราะเรื่องราวลักษณะนี้ ได้ซึมซับไปในตัวเขาจากการดูละครเมื่อวัยเยาว์
“โรงเรียนก็หวังว่า สิ่งที่เด็กๆได้ซึมซับกลับไป จะเป็นอีกเสียงหนึ่งที่คอยกระตุ้นเตือนพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวการพนัน เพราะเมื่อตกเป็นทาสการพนันไปแล้ว ก็จะไม่เหลืออะไรเลยแม้กระทั่งครอบครัว” ผอ.บุหงา กล่าว