‘นักวิชาการ’ จี้ ‘ตรีนุช’ กำชับหน่วยงานอย่าออกนโยบายย้อนแย้ง ซัดทุกวันนี้มื้อกลางวันเด็กแทบจะไม่มีเนื้อสัตว์ ยังให้กินมังสวิรัต แนะอย่าดีแต่ห้าม น.ร.นำกัญชง-กัญชา เข้า ร.ร. ควรให้ความรู้สร้างภูมิคุ้มกัน
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยกรณีเพจ นักเรียนเลว ได้รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงโรงเรียนในสังกัด ให้ทำอาหารมังสวิรัตเป็นมื้อกลางวัน เพื่อลดการเบียดเบียนสัตว์ช่วงเข้าพรรษา ว่า ตนได้อ่านเอกสารฉบับดังกล่าวแล้ว พบว่ามีวัตถุประสงค์และหลักการที่ดูดี แต่สอบตก และไม่น่าสนับสนุน ซึ่งตนประเด็นที่ให้ตั้งคำถาม คือ ทำไมมีภาคเอกชน เข้ามาร่วมกำหนดนโยบายของรัฐ ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าภาคเอกชนที่เข้ามาทำงานร่วมกับรัฐมีวัตถุประสงค์อะไร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าต่อไปภาคเอกชนที่เข้าถึงส่วนกลางได้ เวลามีกิจกรรมอะไรร่วมกัน ส่วนกลางก็จะมีนโยบายให้ผู้ปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระให้ครู และโรงเรียนมากขึ้น ดังนั้นส่วนกลางจะต้องคิดให้ดีเวลาจะออกนโยบายให้โรงเรียน เพราะอาจจะเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้บริหารและครูตามมา
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมเอกสาร เพราะจะเห็นว่าแค่เรื่องมังสวิรัต ที่ถือเป็นเรื่องเล็กๆ ส่วนกลางยังต้องทำหนังสือแจ้งไปยังพื้นที่ และหากมีการปฏิบัติพื้นที่ต้องจัดทำรายงานส่งให้ส่วนกลาง เพื่อบอกว่าได้ทำและปฏิบัติแล้ว สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายลดภาระงานครู ที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกมาเน้นย้ำตลอดไม่ได้รับการปฏิบัติจริง และภาระงานของครูไม่ได้ลดลงเลย สิ่งเหล่านี้คือการแยกครูออกจากห้องเรียน การที่สพฐ. นำศาสนาพุทธมาอ้างให้โรงเรียนทำอาหารมังสวิรัตให้เด็กนั้น ขอให้ สพฐ.ดูรายละเอียดและศึกษาอย่างรอบด้านว่าการกินมังสวิรัต เป็นเรื่องของศาสนาพุทธจริงหรือไม่ ทั้งนี้อย่าลืมว่าปัจจุบันอาหารกลางวันของนักเรียนนั้น แทบจะไม่มีเนื้อสัตว์อยู่แล้ว อย่าซ้ำเติมเด็กไม่ให้เด็กกินเนื้อสัตว์อีกเลย
“อยากให้ น.ส.ตรีนุช ดูแลหน่วยงานในสังกัด ศธ.ให้ดีว่าแต่ละหน่วยงานออกนโยบายมาได้ย้อนแย้งกับนโยบายที่ น.ส.ตรีนุช กำหนดไว้หรือไม่ นโยบายที่รณรงค์ให้เด็กกินมังสวิรัต เรื่องแปลก แม้จะบอกว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ เชิญชวน แต่อะไรที่ออกมาจากส่วนกลางโรงเรียนต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว มองว่า น.ส.ตรีนุช ควรจะกำชับทุกหน่วยงานให้ลดคำสั่งกับนโยบายที่ไม่จำเป็น หากเป็นไปได้ควรลด 50-70% และเร่งติดตามนโยบายที่สำคัญๆ เช่น เน้นคุณภาพการศึกษา เน้นการปฏิรูป และฟื้นฟูการศึกษาดีกว่า” นายสมพงษ์ กล่าว
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนได้ประชุมกับคณะกรรมการยาสูบแห่งชาติ พบว่า มีนักสูบหน้าใหม่ ตั้งแต่อายุ 14-25 ปี และกลุ่มผู้หญิงเข้ามาสูบเพิ่มมากขึ้น สะท้อนว่าประตูเข้าสู่สารเสพติดแห่งปนะเทศไทยมีเพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากจะมีบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ยังมีกัญชา กัญชงเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้คาดว่าจะมีกลุ่มเด็กประมาณ 10 ล้านคน ที่อาจจะเข้าสู่วังวนของการใช้สารเสพติดอย่างใดอย่างหนึ่ง ตนกังวลว่าภาพอนาคตของประเทศไทยจะมีผู้ติดยา มีคดีอาชญากรรม และปัญหาครอบครัวเพิ่มมากขึ้นประมาณ 3 เท่า ปัจจุบันทั้งบุหรี่ และกัญชาหาซื้อได้ง่าย ประกอบกับนโยบายกัญชาเสรี ทำให้เกิดไฟลามทุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วมากขึ้น เพราะเด็กสามารถเข้าถึงและซื้อกัญชาได้ง่าย
“มีหลายโรงเรียนที่นักเรียนลักลอบนำกัญชาไปสูบ จนเกิดวัฒนธรรมปุ๊นขึ้นมาในสถานศึกษา ซึ่งจะมีผลต่อสมอง ความจำของเด็ก และทำให้เด็กขาดสติ ส่งผลต่อพัฒนาการเรียน ทำให้เด็กเรียนไม่รู้เรื่อง ร้ายแรงที่สุดคือเด็กอาจจะเมายาและทำร้ายร่างกายกัน คาดว่าอีก 6 เดือน กัญชาจะขยายเข้าสู่กลุ่มอายุ 14-24 ปี เพิ่มมากขึ้น อยากให้รัฐบาลเร่งปัญหาเหล่านี้ ผมมองว่าการห้ามนำกัญชง กัญชาและสารเสพติดมาใช้ในโรงเรียน ยังไงก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะการห้ามเท่ากับเป็นการยุให้เด็กทำ แต่ควรจะให้ความรู้ ให้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เด็กถึงจะมีภูมิคุ้มกันรับรู้ถึงข้อดีข้อเสียของกัญชง กัญชา” นายสมพงษ์ กล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- นักเรียนเลว ปูด สพฐ.ส่งหนังสือถึงร.ร. ให้ทำอาหารมังสวิรัติ ลดเบียดเบียนสัตว์เข้าพรรษา
- สพฐ.แจง ส่งหนังสือถึง ร.ร.ทำอาหารมังสวิรัติ แค่เชิญชวน ไม่ได้บังคับ ไม่ทำก็ได้
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่