ตรัง – นำนักเรียนมาเรียนรู้หลักสูตรท้องถิ่น “ตามหาข้าวเหนียวปิ้งกับประวัติศาสตร์ชุมชนคลองมวน” เมนูขึ้นชื่อที่อยู่คู่กับ อ.รัษฎา มากว่า 60 ปี สร้างรอยยิ้ม และความสนุกสนานให้ทั้งปราชญ์ชุมชนและเด็กๆ
ที่บ้านเรียงข้าว หมู่ 1 ต.คลองมวน อ.รัษฎา จ.ตรัง นายปรีชา นรัษฏา ประธานกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนบ้านคลองมวน พร้อมด้วย น.ส.ผกาวัลย์ ชูแก้ว ครูโรงเรียนบ้านคลองมวน ได้นำเรียนชั้น ป.6 ประมาณ 30 คน ลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้หลักสูตรท้องถิ่น “ตามหาข้าวเหนียวปิ้งกับประวัติศาสตร์ชุมชนคลองมวน” โดยการเชิญปราชญ์ชุมชนมาสอนเรื่องการทำเหนียวปิ้งโบราณ เมนูขึ้นชื่อของ ต.คลองมวน ที่อยู่คู่กับ อ.รัษฎา มาอย่างยาวนานแล้ว เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ขั้นตอนการทำอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่การหุงข้าวเหนียว การห่อ การปิ้ง สร้างรอยยิ้ม และความสนุกสนานให้ทั้งปราชญ์ชุมชน และเด็กๆ
นายปรีชา นรัษฏา ประธานสถานศึกษาโรงเรียนบ้านคลองมวน กล่าวว่า “เหนียวปิ้ง” ถือเป็นเมนูพื้นบ้านที่อยู่คู่กับบ้านคลองมวนมาอย่างยาวนานแล้วไม่น้อยกว่า 60 ปี ดังนั้น ทางโรงเรียนจึงได้จัดทำหลักสูตรท้องถิ่นที่มีชื่อว่า “ตามหาข้าวเหนียวปิ้งกับประวัติศาสตร์ชุมชนคลองมวน” เพื่อนำเด็กๆ คนรุ่นใหม่ในชุมชนมาเรียนรู้เหนียวปิ้งโบราณ โดยปราชญ์ของชุมชนที่มีความเชี่ยวชาญ เนื่องจากบ้านคลองมวน มีสถานีรถไฟสายตรัง-กรุงเทพฯ วิ่งผ่าน ทำให้ต้องมีรถไฟมาจอดวันละ 4 เที่ยว จึงมีผู้คนจำนวนมากผ่านไปมายังชุมชนแห่งนี้ เหนียวปิ้งโบราณจึงกลายเป็นของฝากที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าจะนำไปวิ่งขายบนรางรถไฟในแต่ละเที่ยว ประกอบกับชุมชนแห่งนี้ในอดีตยังเป็นจุดที่ทำเหมืองแร่ จึงมีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่กันอย่างหลากหลาย
ดังนั้น ทุกๆ เช้าจึงนิยมกินกาแฟกับเหนียวปิ้งโบราณ แทนที่จะกินกับปาท่องโก๋ หรือขนมอย่างอื่น จนกลายเป็นวัฒนธรรมด้านอาหารการกินอันเป็นเอกลักษณ์ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ปัจจุบันเหนียวปิ้งโบราณ ไม่ได้ถูกนำไปวางขายในท้องตลาดเหมือนเช่นเมื่อก่อนอีกแล้ว ยังคงเหลือทำกันเฉพาะในงานมงคลของชุมชนเท่านั้น แต่กลับมีเหนียวปิ้งยุคใหม่เข้ามาแทนที่ ซึ่งมีความแตกต่างไปจากเหนียวปิ้งโบราณในหลายอย่าง เช่น เหนียวปิ้งยุคใหม่ จะห่อด้วยใบตอง แต่เหนียวปิ้งโบราณจะห่อด้วยใบพ้อ หรือเหนียวปิ้งยุคใหม่จะใช้แม็กในการเย็บกรวย แต่เหนียวปิ้งโบราณจะใช้ก้านมะพร้าวในการเย็บกรวย นอกจากนั้น เหนียวปิ้งโบราณยังมีความพิถีพิถันในการห่อกรวยให้เรียวดูสวยงาม และมีการย่างด้วยกะลามะพร้าว ทำให้ข้าวเหนียวสุกทั่วถึงกันหมด จึงหอม เหนียว นุ่ม และน่ารับประทานมาก
ส่วน น.ส.ผกาวัลย์ ชูแก้ว ครูโรงเรียนบ้านคลองมวน กล่าวว่า ส่วนใหญ่หลักสูตรท้องถิ่นที่เรียนในโรงเรียนแห่งนี้ นอกจากจะเป็นน้ำพริก และขนมแล้ว แต่ที่ขาดไม่ได้เลยคือ เหนียวปิ้งโบราณ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่อยู่ในท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน โดยนักเรียนจะได้เรียนรู้ตั้งแต่การเลือกใบไม้มาห่อข้าวเหนียว รวมทั้งการคิดกำไร ขาดทุนการขายเหนียวปิ้ง ซึ่งจะเกี่ยวข้องในรายวิชาวิทยาศาสตร์ หรือการชั่งตวงวัดในรายวิชาคณิตศาสตร์ รวมทั้งการลงไปเรียนรู้กับปราชญ์ในชุมชน ซึ่งจะเกี่ยวข้องในรายวิชาสังคม ที่สำคัญที่สุดคือ นักเรียนจะได้เรียนรู้ตรงๆ จากผู้ที่มีประสบการณ์ในหมู่บ้าน ซึ่งจะทำให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ไม่สูญหายไปไหน ขณะเดียวกันเด็กๆ จะได้นำภูมิปัญญานี้ไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต