By Natt W.
|
21 เม.ย. 2565 เวลา 14:14 น.
เปิดประวัติ สกลธี ภัททิยกุล จากรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สู่วันนี้ที่อยากเป็นพ่อเมือง ตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
สกลธี ภัททิยกุล หรือ “เดอะ จั้ม” หรือ “รองจั้ม” ลูกชายคนโตจากทั้งหมด 3 คน ของ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และ อดีตเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และ ศศิณี ภัททิยกุล เกิดเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2520 ปัจจุบันอายุ 44 ปี (ปีนี้ครบ 45 ปี)
สกลธี จบระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล และไปต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก่อนที่จะเอนทรานซ์ติดเข้า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และไปต่อระดับมหาบัณฑิตถึง 2 ใบด้วยกันจาก มหาวิทยาลัยอินเดียน่า และมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ในด้านกฎหมาย
หลังจากกลับมาไทย สกลธี เข้ารับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และถูกดึงตัวให้ไปเป็นเลขานุการส่วนตัว ของ จรัญ ภักดีธนากุล อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม
และจากนั้น สกลธีได้ลาออกจากราชการเพื่อไปลงเลือกตั้ง ส.ส. ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ในกรุงเทพฯ เขต 4 ได้ จตุจักร , บางซื่อ และ หลักสี่ คู่กับ บุญยอด สุขถิ่นไทย และ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ซึ่งได้รับเลือกตั้งทั้ง 3 คน ระหว่างนั้นสกลธีได้เป็นผู้จัดการทีมมวยสากลสมัครเล่น ทีมชาติไทย ชุดซีเกมส์ปี 2552 ที่ไปแข่ง ณ กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว รวมถึงการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ปี 2553 ที่กว่างโจว ประเทศจีน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :
- ประวัติ “ชัชชาติ” รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี
- เปิดประวัติ สุชัชวีร์ (ดร.เอ้) “The Disruptor เมืองไทย”
- เจาะลึกวิธีคิดสกลธี ภัททิยกุล จะทำให้กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ ได้อย่างไร ?
และในปี 2554 สกลธีลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. กรุงเทพฯ เขต 11 (หลักสี่) มีคู่แข่งเป็นลูกชายของ เสนาะ เทียนทอง อย่าง สุรชาติ เทียนทอง ซึ่งในครั้งนั้น สกลธีพลาดตำแหน่งไป
ข้ามมา 10 เม.ย. 2561 สกลธีได้นั่งเก้าอี้รองผู้ว่าฯ กทม. ตามคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 1215/2561 ลงนามโดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่เข้ามารับตำแหน่งต่อจาก พล.ต.อ.ชินทัต มีศุข ที่ย้ายไปเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. แทน
สกลธี ภัททิยกุล อยากกระโดดมาเป็นพ่อเมืองเอง เพราะ สมัยที่เคยเป็น ส.ส. ช่วยประสานงานให้ประชาชนในพื้นที่ บางกรณีแม้หมดสมัยไปแล้วเรื่องก็ยังไม่เสร็จ แต่ตอนเป็นรองผู้ว่าฯ เรื่องเดียวกัน สั่งการเพียง 2 สัปดาห์จบเลย แต่ในบางประเด็นก็ไม่สามารถทำได้เต็มที่เพราะอำนาจในมือถือไม่เต็ม ยอมรับตรง ๆ ว่า การเป็นรองผู้ว่าฯ กับ ผู้ว่าฯ ไม่เหมือนกัน
มาในวันนี้ที่มีโอกาสเป็นผู้ว่าฯ กทม. สกลธีมาพร้อมกับความตั้งใจที่อยากจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา ตนเองเกิดและเติมโตมาในเมืองนี้ เรียน ก็เรียนที่นี่ ทำงาน ก็ทำงานที่นี่ ประสบการณ์ต่าง ๆ ก็มาจากเมืองนี้ จึงเปิดแคมเปญ “กทม.More ทำกรุงเทพให้ดีกว่านี้ได้” ชู 6 นโยบายเพื่อชีวิตคนกรุงเทพที่ดีกว่า
1. การจราจร ดีกว่านี้ได้ เชื่อมต่อ “ล้อ ราง เรือ”
จะลดการใช้รถยนต์ภายในกรุงเทพ ด้วยการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าให้แล้วเสร็จ พร้อมใช้ระบบ Feeder ที่จุดการเชื่อมต่อทั้ง รถสาธารณะ รถไฟฟ้า และเรือ ฟรี นอกจากนี้จะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ด้วยระบบ ATC ให้การปล่อยรถทุกแยกสัมพันธ์กัน
2. สาธารณสุข ดีกว่านี้ได้
ปรับศูนย์สาธารณสุขทั่วกรุงทั้ง 69 แห่ง ให้เป็น Smart Clinic นำเทคโนโลยี Telemedicine หรือแพทย์ทางไกลเข้ามาใช้ พร้อมเพิ่มปริมาณศูนย์ Smart Clinic ให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงยกระดับโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพฯ ทั้ง 11 แห่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง
3. การศึกษา ดีกว่านี้ได้
ปรับการศึกษาให้เป็นระบบ Bilingual (สองภาษา) ที่ได้มาตรฐานเดียวกันทุกโรงเรียน เพื่อให้เด็กไม่ต้องเดินทางข้ามเขต ตามแนวคิดของฟินแลนด์ที่ขึ้นชื่อเรื่องการศึกษา
4. สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และผังเมือง ดีกว่านี้ได้
สิ่งสำคัญคือความปลอดภัยของคนกรุงเทพฯ จะเพิ่มปริมาณกล้องวงจรปิดกว่า 62,000 กล้องที่เชื่อมต่อกับศูนย์กลาง ซึ่งเป็น Smart Pole เหมือนที่เกาหลีใต้ เพราะเป็นทั้ง เสาไฟฟ้าให้แสงสว่างที่สามารถให้บริการอินเทอร์เน็ต (Wi-Fi) ที่มีกล้องซีซีทีวี กับเครื่องตรวจจับฝุ่น PM 2.5 ด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าคนกรุงเทพฯ จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
5. บริหารจัดการด้วยเทคโนโลยี ดีกว่านี้ได้
ทำให้ทุกการยื่นขออนุมัติจากทาง กทม. ง่าย ครบ จบในที่เดียว ด้วย BKK One Stop Services ที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชั่น BKK App เพื่อให้ทุกอย่างสามารถดำเนินได้ก่อนโดยไม่ต้องมาถึงที่ศูนย์บริการ
6. เศรษฐกิจ สังคม ท่องเที่ยว ดีกว่านี้ได้
จัดระเบียบ Street Food หนึ่งใน Soft Power ขึ้นชื่อของประเทศไทย ทำอย่างไรให้ไม่ไปกระทบคนเดินเท้า จัดถนนคนเดินและงานอีเวนท์สำคัญ ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ บริหารโรงเรียนฝึกหัดอาชีพให้ทันสมัย เพื่อให้คนสามารถสร้างงานสร้างอาชีพได้จริง ที่สำคัญค่าการศึกษาต้องไม่สูงแต่ได้มาตรฐาน และทำการสนับสนุนอาชีพให้ผู้พิการสามารถมีรายได้