เขียนวันที่
วันศุกร์ ที่ 24 มิถุนายน 2565 เวลา 00:52 น.
สมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงจุดยืนค้าน 3 ร่างกฎหมายสำคัญ ทั้ง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า และ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ยึดคำวินิจฉัยจุฬาราชมนตรี ชี้ชัดเป็นสิ่งต้องห้ามและขัดหลักอิสลาม ด้านนักวิชาการมุสลิม เผยทางการแพทย์ไม่มีโรคไหนที่กัญชารักษาได้ ขณะที่โรงเรียนชายแดนใต้คุมเข้มตรวจกระเป๋านักเรียนเฝ้าระวัง “พลังกัญ”
วันพฤหัสบดีที่ 23 มิ.ย.65 ที่ห้องประชุมหะยีสุหลง ชั้น 3 อาคารสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานสมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERMAI) พร้อมด้วย นายสะมะแอ ฮารี ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา, นายชาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส, นายศักดิ์กรียา บิลแสละ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา และ นายอรุณ อุมาจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล พร้อมกรรมการสมาพันธ์ฯ ร่วมประชุมหาทางออกและแสดงจุดยืน รวมทั้งออกคำ “ฟัตวา” หรือ “คำวินิจฉัย” ต่อเรื่อง กัญชง กัญชา เรื่องพืชกระท่อม และการสมรสเท่าเทียม
การประชุมร่วมกันใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง ที่ประชุมจึงมีมติออกคำแถลงการณ์ โดยประธานคณะกรรมการอิสลามฯ ทั้ง 5 จังหวัดได้ออกมาร่วมแถลงดังนี้
สืบเนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับ 1.พระราชบัญญัติกัญชง กัญชา 2.พระราชบัญญัติสุราก้าวหน้า และ 3.พระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม – คู่ชีวิต สมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERMAI) จึงขอชี้แจงและทำความเข้าใจว่า…
สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามแล้ว ไม่อาจปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ เนื่องจากขัดต่อหลักการของศาสนาอิสลามและเป็นข้อห้ามสำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลามโดยเด็ดขาด ในการนี้สมาพันธ์ฯ ขอยึดแนวปฏิบัติตามคำวินิจฉัย (ฟัตวา) จุฬาราชมนตรีที่ 1/2563 และประกาศฝ่ายกิจการฮาลาล กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 8/2564 ลงวันที่ 15 มิ.ย.2564
นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานสมาพันธ์ฯ กล่าวว่า เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่ที่ประชาชนพูดถึงกัน เป็นข้อถกเถียงจำนวนมาก ทั้งในทางโซเชียลมีเดียและสร้างความสับสนต่อสังคมทั่วไป สมาพันธ์ฯหวั่นเกรงว่าจะเกิดผลกระทบในวงกว้าง หลายฝ่ายจึงต้องทำความเข้าใจให้เร็วที่สุด เนื่องจากถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะในบริบทของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีมุสลิมจำนวนมาก
“องค์กรเราเป็นหลักที่พึ่งของพี่น้องประชาชน ต้องแสดงจุดยืนให้สังคมทราบว่า เรานำคำฟัตวาของจุฬาราชมนตรีมาประกอบให้เป็นที่ชัดเจนว่า เราไม่สนับสนุนร่างกฎหมายทั้งหมดนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ฮารอม (ต้องห้าม) ในอิสลาม”
@@ วงการแพทย์ ชี้ไม่มีโรคไหนที่กัญชารักษาได้
นายแพทย์อนันตชัย ไทยประทาน ในนามนักวิชาการแพทย์มุสลิม ซึ่งร่วมประชุมด้วย ให้ความเห็นว่า กัญชายังถูกปล่อยให้ใช้ทางการแพทย์เท่านั้น ไม่มีโรคไหนที่ต้องรักษาด้วยกัญชาก่อน
“ในทางการแพทย์ไม่มีโรคไหนที่กัญชารักษาได้ ขณะที่ไทยจัดให้กัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 5 และทั่วโลกกัญชายังไม่ปลดล็อก สหประชาชาติจัดกัญชาให้เป็นยาเสพติดประเภท 1 เขามองว่าเป็นยาเสพติดที่ก่อให้เกิดการเสพติดสูงและอันตราย ห้ามปลูก ห้ามผลิต ห้ามค้าขาย ห้ามครอบครอง ยกเว้นการแพทย์และศึกษาวิจัย อเมริกาอนุญาตแค่ 2 รัฐที่ใช่ในการบันเทิง อีก 30 กว่ารัฐไม่อนุญาต” นายแพทย์อนันตชัย ระบุ
และว่า กัญชาถูกใช้ใน 6 โรคเท่านั้น คือ
1.คนที่ได้รับคีโม จะเป็นยาต้านการอาเจียนหลังการใช้คีโมรักษาโรคมะเร็ง
2.เป็นการใช้เพื่อกระตุ้นการรับรส
3.มีสารเพื่อกดประสาทหรือเป็นยาแก้ปวด
4.ใช้ในโรคปลอกประสาทเสื่อม
5.แก้อาการโรคลมชัก
และ 6.ใช้ในการช่วยเหลือบรรเทาอาการปวดลงได้
นอกจากนั้น กัญชายังทำให้เกิดโทษ เช่น การทำให้หัวใจเต้นเร็ว หัวใจตีบ และหัวใจวาย ทำให้เส้นเลือดตีบ 4-8 เท่า หากมีการใช้ระยะยาวอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดประสาทหลอน เกิดภาพหลอน ไอคิวจะลดลง หากสูบเป็นประจำก็มีผลต่อปอด ตอนนี้แพทย์จากมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งเริ่มออกมาคัดค้านแล้ว เพราะฉะนั้นในทัศนะของแพทย์ ไม่เห็นด้วย ตนจึงเห็นว่า เรื่องกัญชง กัญชา เราไม่เห็นด้วยทุกประการ ซึ่งขณะนี้มีแต่มุสลิมที่ออกมาค้าน พ.ร.บ.ไชฏอน ที่ออกมาทำลายเยาวชน
@@ เศร้าใจปล่อยฟรีสไตล์ทั้ง “กระท่อม-กัญชา”
ขณะที่ เภสัชกรวิบูลย์ คลายนา ที่ปรึกษาสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์ บอกถึงฤทธิ์ของกัญชาที่ร้ายแรงที่สังคมคาดไม่ถึง
“การเสพกัญชาครึ่งชั่วโมงจะออกฤทธิ์หลังเสพ 3 ชั่วโมง โดยจะกดประสาท แล้วหลอนประสาทเมื่อใช้ไปนานๆ จนทำลายประสาท ความคิด กล้ามเนื้อ จนเสียคน มีการใช้กับทหารที่ผ่านสงครามเพื่อลบความทรงจำระยะสั้น สมองประมวลไม่ได้ เมื่อนำไปผสมในอาหารที่มีความมันจะออกฤทธิ์เยอะ อันตราย เราจึงจะนิ่งเฉยไม่ได้ ต้องบอกถึงอันตราย มีกระท่อมแล้วจะมาเพิ่มกัญชาอีก เศร้าใจกับสังคมเรา”
ด้านผู้เข้าร่วมประชุมออกความเห็นคล้ายๆ กัน อาทิ ต้องการให้รัฐบาลรับรู้ ร้านอาหารมุสลิมควรประกาศว่าไม่มีกระท่อมและกัญชาในอาหารของร้านโดยชัดเจน ให้เอกสารการแถลงการณ์และคำฟัตวานี้ไปถึงทุกโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ในการคุตบะฮ์วันศุกร์ ควรเพิ่มเรื่องโทษของกัญชา ด้วยเป้าหมายเดียวกันคือการต่อสู้ในแนวทางของมุสลิม ยกระดับการแสดงจุดยืนไปยังส่วนกลางและผู้นำประเทศ เป็นต้น
@@โรงเรียนชายแดนใต้ตรวจกระเป๋านักเรียนเฝ้าระวังกัญชา
จากกระแสต่อต้านกัญชาเสรีในพื้นที่จังหวัดชายแดภาคใต้ ทำให้โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เฝ้าระวังและออกมาตรการเข้ม ไม่ให้เด็กนักเรียนยุ่งเกี่ยวกับสิ่งที่ขัดต่อหลักศาสนาอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับโรงเรียนศาสนศึกษา ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ที่ออกมาตรการในการตรวจกระเป๋านักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนชาย ห้ามนำสิ่งต้องห้ามเข้ามาในโรงเรียนอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็น บุหรี่ กัญชา ใบกระท่อม นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังไม่อนุญาตให้นำอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาเข้ามาภายในโรงเรียนอีกด้วย
นางสาวอัสมะ หะยีมอหะมะสอและ ผู้อำนวยการโรงเรียนศาสนศึกษา พูดหน้าเสาธงในเรื่องมาตรการของโรงเรียนเกี่ยวกับกัญชาว่า ในเรื่องของกัญชา กระท่อมเสรี สุราก้าวหน้า สมรสเท่าเทียมกัน ซึ่งได้มีการปลดล็อก ทำให้มีกัญชา ใบกระท่อมขายกันอย่างดาษดื่นให้เห็นกันตามท้องถนนทั่วไป อยากให้นักเรียนได้ตระหนักว่า ตามหลักศาสนาอิสลามได้มีการห้ามสิ่งของมึนเมา ไม่ว่าจะเป็นน้ำ เป็นเม็ด หรือจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม ถ้ามันทำให้เรามึนเมา หรือกดประสาทของเรา สิ่งนั้นก็เป็นสิ่งที่ฮารอมสำหรับเรา
ทางโรงเรียนมีมาตรการห้ามนำสิ่งมึนเมาต่าง ๆ ตั้งแต่บุหรี่ ทางโรงเรียนได้ติดป้ายตามที่ต่างๆ ห้ามไม่ให้มีการสูบบุหรี่ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนและบุคลากรของโรงเรียน ห้ามสูบในโรงเรียนอย่างเด็ดขาด ดังนั้นกัญชาซึ่งมีฤทธิ์รุนแรงกว่าบุหรี่ และเป็นสิ่งที่ศาสนาห้าม ก็ขอให้นักเรียนได้ห่างไกลจากสิ่งเหล่านี้ รวมถึงอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา ห้ามนำเข้ามาในโรงเรียนอย่างเด็ดขาด
@@ รมว.ศธ.สั่งเขตพื้นที่การศึกษาฯ ห้ามกัญชาเข้าโรงเรียน
ด้าน นายภิรมย์ จีนธาดา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ปัตตานี เขต 1 กล่าวว่า ในขณะนี้ได้มีคำสั่งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดกัญชา ไม่อนุญาตให้นำเข้ามาในโรงเรียน ซึ่งทางเขตพื้นที่การศึกษาก็ประกาศเป็นมาตราการอยู่แล้ว ไม่ให้นักเรียนยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นกัญชา หรือใบกระท่อมก็ตาม เพราะไม่ได้นำมาใช้ทางการแพทย์ แต่นำมาเสพ
ถึงแม้ว่ากฎหมายจะใช้คำว่า “ปลดล็อก” แต่พฤติกรรมที่เด็กนำมาใช้เพื่อการเสพ ทางโรงเรียนก็มีคำสั่งห้ามอยู่แล้ว ยกเว้นจะใช้ทางการแพทย์จริงๆ ซึ่งทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานีเอง ก็ได้มีการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับโรงเรียนในสังกัด และต่อไปจะมีการส่งทีมจะเข้าไปประเมินโรงเรียนในเรื่องของความปลอดภัย ปลอดยาเสพติดในโรงเรียน เพราะยาเสพติดเป็นเรื่องหนึ่งของความปลอดภัยของโรงเรียน