10 ม.ค. 2566 | 15:53:25
“ในโลกที่เปลี่ยนไปแบบนี้ เรามีการรับรู้ข่าวสารผ่านสื่อต่าง ๆ มากมาย บางทีการเรียนการสอนเราไม่ต้องมาเรียนจากครูอย่างเดียวแล้ว ซึ่งกรุงเทพมหานครเรามีเอกชน มีผู้ใจบุญ มีผู้รู้หลายฝ่ายที่อยากให้ความร่วมไม้ร่วมมือเยอะ โดยหนึ่งในนโยบายสำคัญคือการจับมือกับทุกภาคส่วนเปิดโรงเรียนวันเสาร์-อาทิตย์ เปิดห้องเรียนวิชานอกห้องเรียนหลังเลิกเรียน หรือจัดการเรียนรู้นอกห้องเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ทั้งด้านวิชาการและด้านทักษะชีวิตตามความสนใจของตนเอง”
“สำหรับกิจกรรมการอบรมนักเรียนการใช้อินเทอร์เน็ตปลอดภัยในครั้งนี้ เชื่อว่าน้อง ๆ คงจะได้รับประโยชน์มากมาย อยากให้พวกเรานำเรื่องนี้ไปขยายต่อ สรุปเนื้อหาวันนี้ผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อให้ทุกคน ได้แก่ เพื่อนผองที่ไม่ได้มาเรียน และผู้ปกครอง ได้รู้ว่ามีสาระสำคัญอะไรบ้าง เพราะความรู้ในเรื่องความปลอดภัยทางดิจิทัลเป็นเรื่องที่ยังใหม่ มีความสำคัญต่อทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในการเรียนรู้และร่วมไม้ร่วมมือกันป้องกันภัยทางออนไลน์ที่อาจเกิดขึ้นต่อไป”
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวกับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ของโรงเรียนคลองทวีวัฒนา จำนวนกว่า 90 คน ที่เข้ารับการอบรมการใช้อินเทอร์เน็ตปลอดภัย ภายใต้โครงการ dtac Safe Internet ณ โรงเรียนคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา วันนี้ (9 ม.ค. 66)
สำหรับโครงการ dtac Safe Internet เป็นโครงการที่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ผนึกกำลังร่วมกับ กรุงเทพมหานคร และชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต หรือ TICAC เพื่อจัดอบรมให้ความรู้นักเรียนในสังกัด กทม. หลังข้อมูลชี้เด็กไทยเสี่ยงตกเป็นเหยื่อจากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศในโลกออนไลน์ (Online Child Sexual Exploitation) สูงถึง 20% สัดส่วนผู้กระทำผิดสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งความรุนแรงของภัยการแสวงหาประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์เป็นภัยคุกคามที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) มีวาระให้บรรจุอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ภายในปี 2573 ดังข้อต่อไปนี้ ข้อ 5.2 ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่รโหฐาน รวมถึงการค้ามนุษย์ การกระทำทางเพศ และการแสวงประโยชน์ในรูปแบบอื่น และข้อ 16.2 ยุติการข่มแหง การใช้หาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
โดยการอบรมในวันนี้ เป็นการสร้างความตระหนักรู้ เน้นการป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ ตกเป็นเหยื่อ สาระสำคัญในการอบรมประกอบด้วย การยึดหลัก 3ไม่ คือ ไม่โชว์ ไม่แชะ ไม่แชร์ ซึ่งรูปแบบการเข้าหาของคนร้ายแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ หลอกจะให้เงิน ชวนเป็นดารา ชวนให้แก้ผ้า และท้าให้เปิดกล้อง เมื่อคนร้ายได้ภาพไปแล้วก็จะนำภาพมาแบล็กเมล (blackmail) เพื่อแสวงหาประโยชน์จากเด็กในภายหลัง
ทั้งนี้ หากเด็ก ๆ เกิดพลาดหรือตกเป็นเหยื่อไปแล้ว ให้ดำเนินการดังนี้ 1. อย่าลบประวัติการพูดคุย พร้อมเก็บหลักฐานเพื่อส่งให้ตำรวจติดตามจับกุม 2. อย่าปิดโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ตำรวจสามารถหาตัวคนร้ายได้ 3. อย่าไปอวดว่าไปแจ้งตำรวจแล้ว เพราะคนร้ายจะไหวตัว และ 4. อย่าปิดบังผู้ปกครอง พร้อมแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ดำเนินการต่อไป โดยสามารถแจ้งทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ “คลิปหลุดทำไง” หรือคลิก https://xn--42cg2bms3db1cydo1c9ite.com/
Share this: