ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21,838 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 20,911 คน มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 17,160 คน จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 3,751 คน จากเรือนจำและที่ต้องขัง 923 คน และมาจากต่างประเทศ 4 คน มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 736,522 คน ผู้หายป่วยเพิ่ม 21,108 คนอยู่ระหว่างรักษา 213,444 คน อาการหนัก 5,159คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,060 คน ผู้ป่วยเสียชีวิต212 ศพ แบ่งเป็นชาย 116 ศพ หญิง 96 ศพ ผู้เสียชีวิตที่บ้าน 4 ศพ คือที่ จ.สมุทรปราการ 3 ศพ และสงขลา 1 ศพ นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้เสียชีวิตมีหญิงตั้งครรภ์ 2 ศพ ทำให้ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตสะสม 6,066 ศพ การฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 6 ส.ค. จำนวน 647,571 โดสมียอดฉีดสะสม 20,280,108 โดส
ส่วนการคาดการณ์กรณีเสียชีวิตจากโมเดลที่นำเสนอนั้น นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ยังคงต้องเพิ่มประสิทธิภาพการล็อกดาวน์ให้ได้ผลร้อยละ 25 เช่นกัน และเร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่ม 608 โดยตั้งเป้าการฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ให้ได้ร้อยละ 70 ส่วนพื้นที่อื่นๆ ให้ได้ร้อยละ 50 ภายในเดือน ส.ค.นี้ ดังนั้น หากทุกฝ่ายช่วยกัน จะทำให้ตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ว่า ผู้ป่วยต่างจังหวัดจะถึงจุดสูงสุดหรือจุดพีกในอีก 2 สัปดาห์ จากการที่มีผู้ติดเชื้อจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลกลับภูมิลำเนาจะลดลง โดยขอให้ผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่ระบาดป้องกันตนเอง ไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น ทั้งประสานโรงพยาบาลต้นทางก่อนเดินทางกลับเพื่อควบคุมโรคจะช่วยได้มาก
ฉีดไฟเซอร์แล้ว 4.6 หมื่นคน
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสถานการณ์วัคซีนโควิด-19 ว่า ขณะนี้วัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 ก.ค.จำนวน 1.5 ล้านโดส เป็นวัคซีนใหม่ที่ผลิตเดือน มิ.ย.64 หมดอายุเดือน พ.ย.64 เก็บในภาวะแช่แข็งมีอายุนาน 6 เดือน การขนส่งไปยังจังหวัดต่างๆต้องควบคุมอุณหภูมิให้วัคซีนอยู่ในสภาพอุณหภูมิติดลบ เริ่มกระจายวัคซีนไปแล้วรอบแรก เพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า เมื่อวันที่ 4-6 ส.ค. จำนวน 446,160 โดส ขณะนี้ส่งไปแล้ว 77 จังหวัด ใน 170 โรงพยาบาล เน้นส่งไปที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ก่อน เพราะมีตู้เย็นเก็บรักษาอุณหภูมิ เพื่อรักษาคุณภาพของวัคซีน สำหรับจำนวนการส่งวัคซีนนั้น กระทรวงใช้ข้อมูลที่สำรวจโดยโรงพยาบาลต้นสังกัด และฐานข้อมูลระบบทะเบียนการบันทึกการฉีดวัคซีนของบุคลากรของ สธ. ส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มแล้วตั้งเดือน มี.ค.-เม.ย. เมื่อนำข้อมูลทั้ง 2 ส่วนมาจับคู่กันพบว่า บุคลากรด่านหน้าร้อยละ 80 ต้องการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ บางแห่งก็ไม่ถึงเพราะบางส่วนฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มกระตุ้นไปแล้ว ดังนั้น ในรอบแรกที่จัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ จะจัดส่งไปร้อยละ 50-75 ของจำนวนบุคลากรด่านหน้าที่ มีประวัติการฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม ทำให้สามารถจัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ได้ทุกจังหวัด ขณะนี้มีการฉีดไปแล้ว 4.6 หมื่นคน ส่วนใหญ่ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง มีแค่ปวด บวมบริเวณที่ฉีดและหายได้เอง
แจงข่าวปลอม-คลาดเคลื่อน
รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวด้วยว่า ส่วนที่มีข่าวเมื่อวันที่ 6 ส.ค. ว่าวัคซีนไฟเซอร์ส่งถึงโรงพยาบาลแม่สอดแล้ว 4,320 โดส ฉีดได้จริง 4,022 โดส หายไป 298 โดสนั้น ตรวจสอบแล้วเป็นข่าวปลอม ความจริงคือวัคซีนจำนวนดังกล่าวจัดส่งถึง รพ.สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จ.ตาก เมื่อวันที่ 6 ส.ค. เวลา 15.00 น. อยู่ในสภาพครบถ้วน พร้อมฉีดให้บุคลากรวันที่ 7 ส.ค. ส่วนการจัดวัคซีนให้เจ้าหน้าที่ในศูนย์เชี่ยวชาญไวรัสวิทยา ที่มี ศ.ดร.ยง ภู่วรวรรณ เป็นหัวหน้าศูนย์ฯนั้น เป็นข่าวที่คลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริงคือเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการถือเป็นกลุ่มบุคลากรด่านหน้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนบูสเตอร์โดส และฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เราจึงจัดส่งวัคซีนไปให้ แต่เนื่องจากมีเพียง 20 คน จึงส่งไปที่สำนักอนามัย กทม.ก่อน เพื่อรอการจัดสรรต่อ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯทั้ง 20 คน แจ้งว่าฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มที่ 3 ไปเรียบร้อยแล้ว วัคซีนไฟเซอร์ทั้ง 20 โดส จึงยังอยู่ที่สำนักอนามัย กทม.เป็นโควตากลางที่จะจัดส่งต่อให้กับบุคลากรด่านหน้าอื่นที่ไม่ได้สังกัดโรงพยาบาล เช่น แพทย์ และทันตแพทย์ในคลินิกที่ไม่ได้สังกัดโรงพยาบาล ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับแพทยสภาและทันตแพทยสภา
ผู้สูงวัย กทม.ฉีดแล้วกว่า 9 แสนคน
นพ.โสภณกล่าวด้วยว่า ขณะนี้การฉีดวัคซีนทำได้ตามแผน ข้อมูลถึงวันที่ 6 ส.ค.ไทยฉีดวัคซีนไปแล้ว 20.2 ล้านโดส ถือว่าอัตราการฉีดเร็วขึ้นมาก โดยเข็มที่ 1 ฉีดไปแล้วมากกว่า 15.7 ล้านโดส เข็มที่ 2 จำนวน 4.4 ล้านโดส และเข็ม 3 ทั้ง วัคซีนแอสตราฯและไฟเซอร์ ประมาณ 1.8 แสนโดส สำหรับเดือน ส.ค. ไทยจะมีวัคซีนโควิดทุกชนิดรวมกันมากกว่า 10 ล้านโดส โดยวัคซีนแอสตราเซเนกา บริษัทแอสตราฯได้แจ้งว่า ส.ค.นี้ จะจัดส่งให้ 5.4 ล้านโดส จะจัดสรรลงพื้นที่ต่างๆ โดยสูตรหลักการฉีดขณะนี้คือ เริ่มฉีดวัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มที่ 1 จากนั้น 3 สัปดาห์ จะตามด้วยวัคซีนแอสตราเซเนกา ภูมิจะขึ้นได้เร็วและมีระดับสูง สามารถต่อสู้กับสายพันธุ์เดลตาได้ดี ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ได้รับบริจาคจากอังกฤษ 4 แสนโดส จะเริ่มกระจายในวันที่ 9 ส.ค.นี้ ในพื้นที่ระบาดจังหวัดปริมณฑล คาดว่าวัคซีนลอตบริจาคนี้จะฉีดได้หมดภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนใน กทม. ขณะนี้มีข้อมูลว่าฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุที่มีทะเบียนบ้านใน กทม.แล้วกว่า 9 แสนคนหรือร้อยละ 87 แต่ยังมีผู้สูงอายุที่ไม่มีทะเบียนบ้านใน กทม.อีก 1 แสนคน ต้องขอความร่วมมือทุกคน ช่วยนำผู้สูงอายุมาฉีดวัคซีน หรือแจ้งให้หน่วยปฏิบัติการเชิงรุกในชุมชน หรือทีม CCR Team เข้าไปฉีดวัคซีน โดยกระทรวงมีเป้าหมายที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้ครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตในปัจจุบัน
หาฟาวิฯ 100 ล้านเม็ดต่อเดือน
ส่วนการใช้ยาต้านไวรัส “ฟาวิพิราเวียร์” นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่เพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนการใช้ยารักษาโควิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจนถึงวันที่ 4 ส.ค. มีความต้องการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ วันละ 8.5 แสนเม็ดต่อวัน การจัดสรรยาไปทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค.-4 ส.ค. 20.5 ล้านเม็ด ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมอบให้องค์การเภสัชกรรมจัดหายาเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความมั่นใจ และช่วยชีวิตคนป่วยได้ทันท่วงทีโดยใน 3 เดือนนี้ ตั้งแต่ ต.ค.ถึง ธ.ค. ให้จัดหาเพิ่มขึ้นอีก 300 ล้านเม็ด เฉลี่ยเดือนละ 100 ล้านเม็ด โดยเฉพาะเดือน ส.ค.และ ก.ย. ให้จัดหา 120 ล้านเม็ด สำหรับยาเรมเดซิเวียร์ ให้จัดหาเพิ่มอีก 1 แสนขวด รวมเป็น 2 แสนขวด ภายในเดือน ส.ค.นี้ ให้เพียงพอตามเกณฑ์การรักษาใหม่เพื่อกระจายให้ทุกจังหวัด ส่วนเวชภัณฑ์ที่ใช้ประจำ อาทิ หน้ากาก N95 หน้ากากอนามัย ชุดกาวน์ ถุงมือ ถุงเท้า รองเท้า หมวกคลุมผม กว่า 11 รายการ จากข้อมูลมีการใช้เวชภัณฑ์ในแต่ละเดือนจากทั่วประเทศ เช่น ถุงมือยาง มีการใช้ 19 ล้านกว่าคู่ หน้ากากอนามัย กว่า 16 ล้านชิ้น หมวกคลุมผม 3 ล้านชิ้น ชุดกาวน์ 1.6 ล้านชุด เป็นต้น มีการคาดการณ์การใช้งานเพื่อสำรองให้เพียงพอในการใช้แต่ละเดือน โดยจัดซื้อด้วยงบกลางและงบเงินกู้ มีการจัดสรรไปยังภูมิภาคทุกสัปดาห์ หากพื้นที่ใดไม่เพียงพอ สามารถประสานขอสนับสนุนเวชภัณฑ์เร่งด่วน ได้ที่กองบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
เด็กเล็กติดเชื้อร้อยละ 3.3
ขณะที่ นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มเด็กปฐม วัยที่มีอายุต่ำกว่า 6 ขวบ มีการระบาดเป็นวงกว้าง ข้อมูลวันที่ 5 ส.ค. พบเด็กต่ำกว่า 6 ขวบ ติดเชื้อสะสม 18,775 คน คิดเป็นร้อยละ 3.3 และเสียชีวิต 2 คน เป็นเด็กวัย 1 เดือน และ 2 เดือน และข้อมูลจากกรมควบคุมโรค พบอัตราการเสียชีวิตในเด็ก 0-15 ปี ร้อยละ 0.02 โดย มากกว่าร้อยละ 70 ไม่มีอาการ และกลุ่มเด็กที่เสียชีวิตมักมีโรคประจำตัวร้ายแรงมากกว่าเด็กในกลุ่มเดียวกัน
ผุดแซนด์บ็อกซ์โรงเรียน
นพ.สราวุฒิกล่าวด้วยว่า ขณะนี้กรมอนามัยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เตรียมจัดทำแนวปฏิบัติ Sandbox safety in school ด้วยการจำกัดบุคคลเข้าออกโรงเรียนอย่างชัดเจน จะมีการคัดกรองโดยใช้วิธีแรพิด แอนติเจน เทสต์ เน้นการทำกิจกรรมในรูปแบบบับเบิล แอนด์ ซีล ต้องปฏิบัติตามมาตรการของ Thai Stop COVID Plus มีระบบติดตามเข้มงวดของครูและบุคลากรพร้อมเฝ้าระวังสุ่มตรวจทุก 14 วัน หรือ 1 เดือนต่อภาคการศึกษา ด้านครู บุคลากรทางการศึกษามีการประเมินความเสี่ยงผ่าน Thai save Thai สม่ำเสมอ เข้าถึงการฉีดวัคซีนครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 85 ส่วนนักเรียนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะพิจารณาฉีดวัคซีนให้ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป โดยมีโรงเรียนเข้าร่วมนำร่องจำนวน 100 โรงเรียนในเดือน ส.ค.นี้
ให้ พมจ.เร่งช่วยเด็กกำพร้า
ขณะเดียวกัน นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยถึงแนวโน้มพบเด็กกำพร้าเนื่องจากพ่อแม่เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นว่า กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ได้เร่งช่วยเหลือดูแลเด็กดังกล่าว โดยประสานความร่วมมือเครือข่ายจัดบริการช่วยเหลือเด็กและครอบครัวอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกันได้สั่งการให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) สำรวจและให้ความช่วยเหลือเด็กกำพร้าทั่วประเทศทั้งในเบื้องต้นและระยะยาว ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์รับเด็กที่ผู้ปกครองชีวิตจากโรคโควิด-19 เป็นเด็กนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์ จะได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เรียนได้สูงที่สุดตามความสามารถของเด็ก โดย พม.จะประสานขอทุนการศึกษาให้กับเด็กกำพร้าทั้งหมด และพิจารณาว่าแต่ละครอบครัวที่เด็กอยู่ด้วยมีญาติหรือไม่ ถ้ามีญาติดูแลจะเข้าสู่กองทุนคุ้มครองเด็กที่สามารถดูแลครอบครัวอุปถัมภ์ได้ โดยจะมอบเงินดูแลจนกว่าเด็กจะจบการศึกษา หากพบเห็นเด็กกำพร้าหรือกลุ่มเปราะบางประสบปัญหาทางสังคมและเดือดร้อนจากผลกระทบของโควิด-19 ติดต่อศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร.1300 สายด่วนคนพิการ โทร.1479 พมจ.ทั่วประเทศ และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่
ดึงร้านขายยาแจกชุดตรวจ-ยา
ต่อมา นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติให้ สปสช.จัดหาชุดตรวจโควิดแอนติเจน เทสต์คิต (Antigen Test Kit-ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด แจกให้กลุ่มเสี่ยงตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ด้วยเอง ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ และเพื่อกระจายถึงมือประชาชนได้รวดเร็วและกว้างขวางที่สุด ลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการ สปสช.จะขอความร่วมมือชักชวนร้านขายยาเป็นหน่วยกระจายชุดตรวจโควิด ATK กรณีตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อก็จะขอความร่วมมือให้ร้านขายยาให้คำแนะนำในการดูแล หรือส่งต่อเข้าสู่กระบวนการรักษาแบบ Home Isolation (HI) และหลังเดือน ก.ย. จะประเมินอีกครั้ง หากมีความจำเป็นจะต้องซื้อเพิ่ม สปสช.ก็จะดำเนินการ รวมถึงถ้าการกระจาย ATK ผ่านร้านขายยาประสบความสำเร็จ อาจจะขยายไปสู่การเป็นจุดกระจายยาที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยโควิด หรืออาจจะขอให้ร้านขายยามาช่วยทำ Home Isolation
เตือนมีเซ็กซ์คนแปลกเสี่ยงโควิด
วันเดียวกัน นพ.พีระยุทธ สานุกูล ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กล่าวถึงกรณีพบวัยรุ่นหญิงที่ขายบริการทางเพศในพื้นที่จังหวัด กาญจนบุรี ติดเชื้อโควิด-19 จนต้องเตือนให้ผู้ซื้อบริการดังกล่าวมาตรวจหาเชื้อเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า การมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะ กับคนแปลกหน้า หรือการจัดกลุ่มสังสรรค์ปาร์ตี้ในช่วง ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 อาจจะเป็นการกระทำ ความผิดหรือฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 30) เป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ จนนำไปสู่การติดเชื้อ ในครอบครัวและชุมชน ดังนั้น ก่อนตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์ ควรคำนึงถึงความปลอดภัย และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งต่อตนเอง และผู้อื่นในสังคมเป็นสำคัญ เพราะ หากประเมินตนเองแล้วพบว่ามีความเสี่ยงสูง มีผลตรวจยืนยันพบเชื้อโควิด-19 หรืออยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยัน แนะนำให้งดการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดการ แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นและให้หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ช่วยลดความเสี่ยงในการรับเชื้อจากคนที่ไม่รู้จักด้วยเช่นกัน
แนะงดจูบปากขณะมีเซ็กซ์
นพ.พีระยุทธยังแนะนำอีกว่า สำหรับกลุ่มที่มี ความเสี่ยง ควรงดมีเพศสัมพันธ์ แต่สำหรับคู่รัก หรือ สามีภรรยา หากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้ 1.ล้างมือ อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่ทั้งก่อนและหลังการมีเพศสัมพันธ์ 2.งดการจูบปากหรือแลกน้ำลาย เนื่องจากมีการพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ปนเปื้อนในน้ำลาย 3.งดการทำออรัลเซ็กซ์ หรือมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เนื่องจากมีการพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ปนเปื้อนในอุจจาระ 4. ใช้ถุงยางอนามัย แผ่นยางอนามัย (Dental Dams) ถุงมือยาง ช่วยลดการสัมผัสกับน้ำลาย หรือสารคัดหลั่ง อื่นๆ 5.สวมหน้ากากผ้าทับหน้ากากอนามัย ปิดจมูกและปากระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อผ่านการหายใจหอบหนัก ข้อปฏิบัติถัดมา คือ 6.หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในท่าทางที่หันหน้า เข้าหากัน ป้องกันการสัมผัสแบบใกล้ชิดบริเวณใบหน้า ช่วยลดการสัมผัสกับน้ำลายหรือสารคัดหลั่งอื่นๆ ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ และใช้เวลาอยู่ร่วมกันให้น้อย ที่สุด 7.งดการมีเพศสัมพันธ์แบบกลุ่ม หรือการสลับคู่นอน 8.ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ ผงซักฟอก น้ำยาซักผ้าขาว เช็ดหรือทำความสะอาดบริเวณที่นอนหรือพื้นที่ที่มีกิจกรรมทางเพศ และ 9.ทิ้งถุงยางอนามัย แผ่นยางอนามัย ถุงมือยางที่ปนเปื้อน สารคัดหลั่งลงในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด
ส่งชุดตรวจจากไทยรัฐถึง รพ.ต่างๆ
ความคืบหน้าโครงการปฏิบัติการไทยรัฐ ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ตรวจหาเชื้อ ด้วยการระดมทุนสนับสนุนจากพันธมิตรภาคเอกชนต่างๆ และประชาชนที่มีกำลังทรัพย์ ร่วมกันฝ่าวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ไปด้วยกันนั้น ล่าสุดชุดตรวจ ANTIGEN TEST KIT (ATK) จำนวน 5 ลัง รวม 3,000 ชุด ส่งถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆแล้ว โดยนพ.วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุข จ.นราธิวาส เปิดเผยว่า ได้ส่งมอบชุด ATK ให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบโรงพยาบาลสนามทั้ง 5 แห่ง ในพื้นที่ 5 อำเภอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย รพ.สุไหงโก-ลก อ.สุไหงโก-ลก จำนวน 400 ชุด รพ.กัลยานิวัฒนาการุณย์ อ.เมืองนราธิวาส 600 ชุด รพ.ศรีสาคร อ.ศรีสาคร 200 ชุด รพ.บาเจาะ อ.บาเจาะ 83 ชุด และ รพ.สุคิริน อ.สุคิริน 400 ชุด เพื่อเร่งตรวจในขั้นต้น และคัดกรองแยกกลุ่มที่ติดเชื้อกับไม่ติดเชื้อให้ได้เร็วที่สุด เช่นเดียวกับ จ.นครปฐม นายวีระศักดิ์ เหล่าตระกูล เภสัชชำนาญการ สนง.สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม เผยว่า ขณะนี้สาธารณสุขจังหวัดได้รับแรพิดเทสต์แบบ ATK ที่ไทยรัฐกรุ๊ปจับมือกับพันธมิตรบริจาคให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 5,000 ชุด และแจกไปให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โรงพยาบาลทุกอำเภอ โรงพยาบาลชุมชน และจุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่ต่างๆ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการตรวจ โดยแจกให้ทุกวันจนกว่าจะหมด
จะนะเจอคลัสเตอร์ปาร์ตี้วันเกิด
ส่วนความคืบหน้าผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของผู้ร่วมวงปาร์ตี้ทั้ง 61 คน เป็นชาย 43 คนหญิง 18 คน ที่ฝ่ายปกครอง อ.จะนะ จ.สงขลา ร่วมกับตำรวจ สภ.ควนมีด บุกทลายปาร์ตี้วันเกิดบริเวณริมทะเลวังหนาวบีช หมู่ 7 ต.นาทับ อ.จะนะ เมื่อดึกวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยผลตรวจชุดแรก พบผู้ติดเชื้อ 5 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 2 คน มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่หมู่ 3 ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ 1 คน, หมู่ 3 ต.นาทับ อ.จะนะ 1 คน, หมู่ 4 ต.นาทับ อ.จะนะ 1 คน, หมู่ 13 ต.นาทับ อ.จะนะ 1 คน และหมู่ 1 ต.สทิงหม้อ อ.สิงหนคร 1 คน ส่วนที่เหลืออีก 56 คน จะตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซ้ำอีกครั้งรอบสอง ขณะที่เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม ขณะนี้ได้กักตัวปลัดอำเภอและ อส.อำเภอจะนะ ประมาณ 20 คนและเตรียมตรวจหาเชื้อในวันที่ 9 ส.ค.นี้
ปิดเพิ่ม 3 ชุมชนเกาะหลีเป๊ะ
ขณะที่เกาะหลีเป๊ะ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ จ.สตูล พบผู้ป่วยโควิด-19 ในกลุ่มชาวเลอุรักลาโว้ยถึง 40 คนและทั้งหมดได้รับการดูแลรักษา ให้ยาและเฝ้าสังเกตอาการ ทั้งใน HI/CI ที่โรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ พร้อมกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 99 คน ล่าสุด จ.สตูล ประกาศปิดพื้นที่ในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดในเครือญาติพี่น้องในชุมชน 3 แห่งคือ ชุมชนอุเส็น ชุมชนตูโป๊ะและชุมชนดาหยา พร้อมประกาศงดท่องเที่ยวและหยุดการเดินเรือโดยสาร 28 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค.-5 ก.ย. 64 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไม่ให้ขยายวงกว้าง
ผ่าคลอด 2 ราย รอด 1 ตาย 1
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 6 ส.ค.มีหญิงตั้งครรภ์ติดโควิด ทำให้แพทย์ต้องตัดสินใจผ่าคลอดก่อนกำหนดสองราย โดยรายแรกที่ จ.ร้อยเอ็ด แพทย์ รพ.ร้อยเอ็ด ต้องตัดสินใจผ่าคลอดสาวอายุ 30 ปีเศษ ที่ติดโควิด แต่อาการทรุดขณะตั้งครรภ์ลูกคนแรกได้แค่ 6 เดือน โดยทีมแพทย์ผ่าตัดนำทารกออกมาได้ แต่น่าเศร้าที่แม่เสียชีวิตในเวลาต่อมา และเนื่องจากเด็กมีน้ำหนักน้อยมากต้องนำเข้าตู้อบ ขณะที่ภาพรวมโควิดของจังหวัด ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มถึง 301 คน เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ศพ เป็นผู้สูงวัยและมีโรคประจำตัว ส่วนที่ จ.กาญจนบุรี ทีมแพทย์ รพ.ทองผาภูมิ ตัดสินใจผ่าคลอดผู้ป่วยหญิงรายแรกของ รพ.หลังพบผู้ป่วยเริ่มมีอาการท้องแข็ง ผลผ่าตัดได้ทารกเพศชายน้ำหนักแรกเกิด 3,295 กรัม สุขภาพแข็งแรงดีทั้งแม่และลูก ซึ่งสร้างความสุขและภูมิใจให้กับทีมแพทย์ทุกคนที่ช่วยชีวิตแม่ลูกได้สำเร็จ
โคราชเร่งคุมคลัสเตอร์ 2 รง.ไก่
ขณะที่ จ.นครราชสีมา ยังมีผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งทุบสถิติอีกคือ 645 คน เสียชีวิตรวดเดียว 5 ศพ โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดยังเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานแปรรูปไก่ 2 บริษัทขนาดใหญ่ ใน ต.ท่าเยี่ยม และ ต.กระโทก อ.โชคชัย หลังพนักงานใน 2 โรงงานติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนและแพร่เชื้อสู่คนในครอบครัว กลายเป็น คลัสเตอร์ใหญ่ที่ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อรวมกว่า 160 คน กระจายใน 6 อำเภอ ทั้ง อ.โชคชัย หนองบุญมาก ปักธงชัย ครบุรี วังน้ำเขียว และสูงเนิน รวมทั้งมีผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงต้องกักตัวอีกกว่า 300 คน โดยเฉพาะที่ อ.โชคชัย พบไทม์ไลน์ของพนักงานที่ติดเชื้อโควิดหลายคน จับจ่ายซื้อสินค้าในตลาดชุมชน หมู่บ้าน รวมถึงใช้บริการฝ่ายทะเบียน ที่ว่าการอำเภอโชคชัย ทำให้นายสมชาย อำพันกาญจน์ นอภ.โชคชัย ประกาศปิดบริการฝ่ายทะเบียนและบัตรประชาชน เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 9-22 ส.ค.64
จว.สีแดงเข้มติด-ตายไม่แผ่ว
ส่วนจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มยังพบผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนมากต่อเนื่อง โดย จ.สมุทรสาคร ยอดพุ่งเกินพันคนต่อเนื่องที่ 1,372 คน และเสียชีวิตรายวันถึง 10 ศพ ส่วน จ.ชลบุรี ก็ไม่แผ่ว เจอติดเชื้อทำนิวไฮที่ 1,417 คน จากหลายคลัสเตอร์ และมีผู้เสียชีวิตทุบสถิติเช่นกันที่ 9 ศพ ด้าน จ.นครปฐม พบติดเชื้อเพิ่ม 578 คน ในจำนวนนี้เป็นการติดเชื้อในเรือนจำ 240 คน เสียชีวิตเพิ่มถึง 10 ศพ ส่วนจ.นนทบุรี เจออีก 555 คน ส่วนใหญ่ยังเป็นการติดเชื้อในครอบครัวและที่ทำงาน ขณะที่ จ.สุพรรณบุรี เพิ่ม 210 คน เป็นการติดเชื้อในพื้นที่ 134 คน ผู้ป่วยจากต่างจังหวัด 76 คน ผู้ป่วยกลับมารักษาตัวตามภูมิลำเนา 6 คน และเสียชีวิต 1 ศพ ด้าน จ.ระยอง ติดเชื้อเพิ่ม 251 คน ใน 8 อำเภอ และเสียชีวิตอีก 1 ศพ
ปราจีนฯ ผวาขยะพิษล้น
สำหรับ จ.ปราจีนบุรี ติดเชื้อเพิ่มมาอีก 142 คน ขณะเดียวกัน รพ.สนามบางแห่งเริ่มเจอปัญหาขยะติดเชื้อล้น โดยที่บริเวณหน้า รพ.สนาม วัดศรีโพธิมาลัย อ.ศรีมหาโพธิ พบขยะพิษบรรจุใสถุงสีส้มวางอยู่เป็นจำนวนมาก ยังไม่มีการจัดเก็บทำให้เจ้าหน้าที่เริ่มกังวล เนื่องจากมีสุนัขเข้ามาคุ้ยหาอาหารในกองขยะพิษแล้ว ขณะที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานีนำโด่งที่ 298 คน ตามด้วย สงขลา 251 คน นราธิวาส 185 คน และยะลา 80 คน เสียชีวิตอีก 3 ศพ นอกจากนี้ โควิดยังลามใน อ.แม่สอด จ.ตาก ไม่หยุด เมื่อการตรวจเชิงรุกพบพระเณรในวัดดอนแก้ว เขตเทศบาลนครแม่สอด ติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 7 รูป
ญี่ปุ่นติดเชื้อสะสมครบ 1 ล้านคน
สำหรับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ยอดติดเชื้อสะสมเป็น 202,463,782 คน เสียชีวิตรวม 4,290,957 คน เป็นการติดเชื้อในรอบ 24 ชม. 697,012 คน และเสียชีวิต 10,224 ศพ ส่วนที่สหรัฐอเมริกา บริษัท แอมะซอน ดอทคอม อิงก์ บริษัทอีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยีชั้นนำของโลกประกาศเมื่อ 6 ส.ค.ให้พนักงานทุกคนในสหรัฐฯ สวมหน้ากากอนามัยในที่ทำงาน เนื่องจากการแพร่ระบาดอย่างหนักของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในประเทศ หลังจากที่สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นไล่ออกพนักงาน 3 คน ด้วยเหตุผลมาทำงานทั้งที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ขณะที่ญี่ปุ่นมีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม 15,645 คน ทำให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อสะสมทั่วประเทศทะลุ 1 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากกรุงโตเกียว ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 4,515 คน ตามมาด้วยจังหวัดคานากาวา ที่อยู่ใกล้เคียง 2,082 คน หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่าในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ ขณะที่การติดเชื้อในนครโอซากา เมืองใหญ่สุดทางตะวันตกของประเทศ ก็เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 1,310 คน ส่งสัญญาณให้เห็นว่าไวรัสกำลังแพร่กระจายนอกกรุงโตเกียวอย่างรวดเร็ว
คปภ.ปลดล็อกเคลม “เจอ-จ่าย-จบ”
วันเดียวกัน นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ มีผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมากส่งผลให้การพบแพทย์เพื่อเข้าถึงการรักษาพยาบาลและการขอใบรับรองแพทย์ในสถานพยาบาลของผู้ป่วยโควิด-19 เป็นไปได้ยาก ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย รวมทั้งลดการแพร่ระบาดของโรค ตลอดจนให้เกิดความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติการให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 แบบเจอ จ่าย จบ ซึ่งมีความล่าช้าในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในหลายๆกรณี ตนในฐานะนายทะเบียนจึงได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 45/2564 และคำสั่งนายทะเบียนที่ 46/2564 เรื่อง การใช้เอกสารประกอบการจ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 สำหรับบริษัทประกันชีวิต และสำหรับบริษัทประกันวินาศภัย กำหนดให้บริษัทประกันภัยใช้เอกสารการตรวจพบเชื้อโควิด-19 ซึ่งสามารถยืนยันตัวตนของผู้ที่ได้รับการตรวจหาเชื้อได้ จากห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยวิธี RT-PCR แทนใบรายงานหรือรับรองจากแพทย์ สำหรับการจ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยฯ กรณีผู้เอาประกันภัยเจ็บป่วยหรือตรวจพบเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 เป็นจำนวนเงินที่กำหนดไว้ (แบบเจอ-จ่าย-จบ)