“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” เปิดผลสำรวจ โควิด-19 กระทบสภาพคล่องครัวเรือน ผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่ปรับลดค่าใช้จ่ายเปิดภาคเรียนใหม่ปี 2564 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินว่า เปิดเทอมใหญ่ปี 2564 นี้ เป็นอีกหนึ่งปีที่ผู้ปกครองต้องเผชิญกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องมีการเลื่อนการเปิดภาคเรียนออกไปจากช่วงเวลาปกติกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี โดยในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (กรุงเทพฯและปริมณฑล) เลื่อนการเปิดเรียนเป็นวันที่ 14 มิ.ย. 64 สำหรับในจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) และพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) สถานศึกษาที่มีความพร้อมตามมาตรฐานการป้องกันการระบาดสามารถเปิดทำการสอนแบบ On-site ได้ในวันที่ 1 มิ.ย.ที่จะถึงนี้
นอกจากนี้ การระบาดของโควิด-19 เป็นระยะเวลายาวนาน ยังส่งผลกระทบต่อสถานะเศรษฐกิจภาคครัวเรือน ผู้ปกครองบางรายเผชิญกับรายได้ลดลงและความเสี่ยงจากการไม่มีงานทำ
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้จัดทำการสำรวจมุมมองผลจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีต่อผู้ปกครอง (ที่มีบุตรหลานเรียนในระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) ในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2564 จากกลุ่มตัวอย่าง 600 คน ในเขตกรุงเทพฯ และในพื้นที่จังหวัดปริมณฑล ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้
ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เมื่อบุตรหลานต้องกลับเข้าเรียนในโรงเรียน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเปิดเทอมใหญ่ในปี 2564 นี้ ในหลายพื้นที่ยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยนอกจากการควบคุมการระบาดให้ได้โดยเร็ว การสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยผ่านแนวทางต่างๆ โดยเฉพาะการที่บุคลากรด้านการศึกษาได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุมให้ได้มากที่สุดก่อนเปิดเทอม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ภาครัฐวางแนวทางไว้ จะช่วยบรรเทาความกังวลของผู้ปกครองที่จะส่งบุตรหลานกลับสู่การเปิดเรียนตามปกติ
โดยผลสำรวจสะท้อนว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่กว่า 88.5% ยังมีความกังวลและไม่มีความมั่นใจหากบุตรหลานต้องกลับไปเรียนอีกครั้ง เนื่องจากมองว่าการรระบาดครั้งนี้ค่อนข้างรุนแรงและยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และความเสี่ยงที่อาจจะกลับมาระบาดอีกครั้ง อีกทั้งยังไม่มีวัคซีนโควิดสำหรับเด็กนักเรียน ทั้งนี้ ผู้ปกครองในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดอยากเห็นสถาบันการศึกษามีมาตรการในการป้องกันเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวดก่อนที่จะกลับมาเปิดเรียนอีกครั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างผู้ปกครองที่มีความมั่นใจประมาณ 11.5% มองว่า กว่าที่นักเรียนจะกลับเข้าเรียนสถานการณ์โควิดน่าจะคลี่คลายระดับหนึ่งแล้ว และทางสถานศึกษาคงมีมาตรการที่เข้มงวดในการเฝ้าระวัง
การระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้ กระทบหนักต่อสภาพคล่องในครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง
ในช่วงนี้ของทุกปี ผู้ปกครองที่มีบุตรในวัยเรียนต้องเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับการเปิดเทอมใหม่ เช่น ค่าเทอม (สำหรับผู้ที่ส่งบุตรหลานเรียนโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนนานาชาติ) ค่าบำรุงการศึกษาและกิจกรรมในโรงเรียน ค่าใช้จ่ายหนังสืออุปกรณ์การเรียนและเครื่องแต่งกายนักเรียน
จากผลสำรวจสะท้อนว่า ผู้ปกครอง 89.8% มีความกังวลต่อสภาพคล่องทางการเงินในการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลานในการเปิดเทอมปี 2564 (ซึ่งมากกว่าผลสำรวจการใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมปี 2563) โดยกลุ่มผู้ปกครองที่มีความกังวลส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง (รายได้ต่อครัวเรือนต่ำกว่า 60,000 บาท เป็นกลุ่มพนักงานงานเอกชนและประกอบอาชีพอิสระ) ซึ่งภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและการระบาดของโควิดที่ยาวนานกลุ่มตัวอย่างนี้ได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย อาทิ ตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวตกงาน ถูกปรับลดชั่วโมงทำงาน ไม่สามารถออกไปขายสินค้าได้ ยอดขายของธุรกิจลดลง ซึ่งทำให้รายได้ในครัวเรือนลดลงแต่รายจ่ายยังคงเดิม โดยกลุ่มตัวอย่างผู้ปกครองที่มีความกังวลต่อสภาพคล่องทางการเงินมีแนวทางในการปรับตัว ดังนี้
– การรับมือทางการเงินเพื่อนำมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษา ผลสำรวจสะท้อนว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เลือกใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอย่างประหยัด และมองหาแหล่งเงินจากหลายๆ ที่ นอกจากการใช้เงินออม อาทิ ยืมญาติ / เพื่อน ใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงินอย่างบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ผู้ปกครองบางรายพี่งโรงรับจำนำ และผู้ปกครองบางรายเลือกที่จะขอผ่อนชำระหรือผ่อนผันกับทางโรงเรียน
– การรับมือในการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน ผลสำรวจสะท้อนว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะเลือกซื้อสินค้าถูกลงและยังไม่ซื้อใช้ของที่มีอยู่ นอกจากนี้จะเลือกการปรับลดค่าใช้จ่ายในการเรียนกวดวิชาและเสริมทักษะ
– ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อ ทำให้การใช้จ่ายในด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2564 นี้ หดตัวเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าการใช้จ่ายในด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2564 นี้ อาจหดตัวลงประมาณ 6.6% เมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีมูลค่าประมาณ 26,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับลดลงเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ส่วนหนึ่งเพราะนโยบายลดภาระค่าเล่าเรียน เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง รวมถึงจำนวนนักเรียนที่เข้าสู่ระบบลดลง
แต่ที่สำคัญเป็นผลจากความระวังและการประหยัดของผู้ปกครองท่ามกลางผลกระทบจากโควิดต่อสภาพคล่อง รายได้และการมีงานทำ สอดคล้องกับผลสำรวจที่ผู้ปกครองกลุ่มตัวอย่างยังมีการปรับลดค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าเพื่อบุตรหลานอย่าง ชุดนักเรียน รองเท้า กระเป๋า อุปกรณ์เครื่องเขียน และอื่นๆ ค่อนข้างมาก โดยผู้ปกครองมองว่าจะซื้อเท่าที่จำเป็น ประกอบกับราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังคงที่ อีกทั้งผู้ประกอบการมีการจัดโปรโมชั่นสินค้าราคาพิเศษเช่นกัน และในส่วนของค่าใช้จ่ายอื่นๆ ผู้ปกครองปรับลดในส่วนของเงินสำหรับให้บุตรหลานเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างวัน
โดยสรุป ภายใต้การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าที่จะยุติลงในระยะเวลาอันใกล้ และการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนยังคงต้องใช้เวลา สถานการณ์ดังกล่าวยังคงสร้างความกังวลให้กับผู้ปกครองเมื่อบุตรหลานต้องกลับไปเรียนอีกครั้ง ทำให้สถาบันการศึกษายังคงต้องมีมาตรการในการป้องกันเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวดต่อเนื่อง เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อในหมู่นักเรียน ประกอบกับอาจจะมีการปรับหลักสูตรการเรียนแบบผสมผสานทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อลดความแออัดในสถานที่เรียน ขณะที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญกับกำลังซื้อที่จำกัดของผู้ปกครอง ผู้ปกครองบางกลุ่มอาจจะซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาในจำนวนลดลงหรือซื้อเฉพาะที่จำเป็น ผู้ประกอบการร้านค้าอาจจะใช้กลยุทธ์ด้านราคา การจัดสินค้าเป็นแพคเกจในราคาพิเศษ ขณะเดียวกันคาดว่ารูปแบบการเรียนออนไลน์น่าจะยังมีความจำเป็น กลุ่มผู้ประกอบการผู้บริการโทรคมนาคมจัดโปรโมชั่นแพคเกจอินเทอร์เน็ตราคาพิเศษเพื่อสนับสนุนการเรียนออนไลน์ เป็นต้น