ใคร่ครวญกันจริงๆ จังๆ เครื่องแบบและทรงผมเกี่ยวข้องอย่างไรกับการสร้างวินัยในเด็ก ทำไมผู้ใหญ่ที่โตจากรั้วโรงเรียนจึงไม่มีวินัยดังที่โรงเรียนพร่ำสอน หรือเราเพราะการศึกษาไทยไร้ปัญญาในการสร้างวินัย มุ่งใช้อำนาจกดบังคับควบคุมเพียงเพื่อสร้างพลเมืองที่สยบยอมต่ออุดมการณ์รัฐ?
- การสร้างระเบียบวินัยเพื่อใช้ควบคุมเด็กนักเรียนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการเมืองไทยในแต่ละยุคสมัย
- เครื่องและทรงผลเป็นระเบียบวินัยชนิดที่จับต้องได้ มองเห็นได้ จึงสามารถควบคุมได้ดีที่สุด โดยมีพื้นที่หน้าเสาธงเป็นพื้นที่การจับจ้อง จับผิดที่สำคัญ ซ้ำยังใช้เป็นพื้นที่ในการทำโทษและประจานเด็ก
- ระเบียบวินัยถูกสร้างจากความหวาดกลัวของผู้ใหญ่ เช่น กลัวเด็กจะหลงวัฒนธรรมตะวันตก กลัวเด็กจะเป็นคอมมิวนิสต์ ห้ามเล่นสนุ๊กเกอร์เพราะกลัวจะเป็นพื้นที่ซ่องสุม ความกลัวเหล่านี้มอบความชอบธรรให้แก่ผู้ใหญ่ในการใช้ความรุนแรงต่อเด็กโดยอ้างว่าเพื่อให้เด็กเป็นคนดี
- ระเบียบวินัยที่ควรจะเป็นไม่ได้เกิดจากการบังคับควบคุมและสร้างให้ปัจเจกเป็นคนดีแล้วสังคมจะดีตาม แต่คือการสร้างวินัยในการอยู่ร่วมกันในสังคม
โรงเรียนควรเป็นที่นักเรียนได้ปลดปล่อยจินตนาการ มีอิสระเสรีในการแสวงหาและเรียนรู้อย่างมีความสุข มันอาจไม่สวยหรูแบบนั้น ปัจจุบัน เราพบนักเรียนออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปรับเปลี่ยนกติกาที่ปิดกั้นเสรีภาพตั้งแต่ระดับโรงเรียนถึงระดับประเทศ
ประวัติศาสตร์เดินทางมาถึงจุดที่แรงกดกำลังเผชิญแรงต้านหลังจากต้องสยบยอมมานาน แน่นอนว่าอำนาจไม่ยอมอยู่เฉย เจอแรงต้านก็ยิ่งเพิ่มแรงกด นำไปสู่การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลง
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ (แฟ้มภาพ)
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ผู้เขียน ‘เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว : ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทย’ ชวนทำความเข้าใจกฎกติกาแปลกประหลาด คลุมเครือ และไม่สามารถให้เหตุผลที่ยอมรับได้ที่มาในนามของความหวังดีว่าเป็นการฝึกระเบียบวินัยให้แก่เด็ก หรือความจริงเป็นแค่เครื่องมือแห่งอำนาจเพื่อหล่อหลอมกล่อมเกลาเด็กขึ้นเป็นพลเมืองที่เชื่องเชื่อต่อเรื่องเล่าของรัฐ
การเมืองกับระเบียบวินัยในโรงเรียน
ภิญญพันธุ์กล่าวว่าความพยายามของรัฐเพื่อสร้างพลเมืองอันพึงประสงค์มีมาตลอดตั้งแต่ก่อน 2475 แต่มันเริ่มชัดหลังการปฏิวัติสยาม การศึกษามีความเป็นระบบและขยายตัวมากขึ้น ในช่วงคณะราษฎรยังไม่เน้นการควบคุมวินัยมากจึงยังไม่เป็นประเด็น
“ในช่วงหนึ่งเราเรียกประเทศเราว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ผมไม่ค่อยเห็นด้วย ถ้าประชาธิปไตยครึ่งใบหมายความว่าระบบการเมืองพื้นฐานเราเป็นประชาธิปไตย มีปัญหาแล้วเราจะกลับไปเป็นประชาธิปไตย แต่ เราคือเผด็จการครึ่งใบ ผมว่าในสามัญสำนึกของคนไทยร่วมสมัยเราไม่รู้สึกว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องแปลกอีกแล้วถ้าจะเกิดขึ้นอีก ซึ่งสังคมประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้วการรัฐประหารเป็นเรื่องคอขาดบาดตายมากทางการเมือง แต่เราอยู่กับรัฐบาลเผด็จการ รัฐบาลรัฐประหารเยอะมาก จนผมคิดว่ามันหล่อหลอมเรื่องอุดมการณ์ทางอำนาจนิยม ทหารนิยม”
เมื่อ ป.พิบูลสงคราม ขึ้นสู่อำนาจและนำลัทธิทหารนิยมหรืออำนาจนิยมมาใช้ พอเหมาะพอดีกับเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ไทยมีความใกล้ชิดกับญี่ปุ่นทำให้ได้รับอิทธิพลด้านระเบียบวินัยเข้ามาแล้วส่งผ่านไปสู่การควบคุมนักเรียนผ่านทรงผล การเข้าแถวหน้าเสาธง ซึ่งก็มาจากโรงเรียนในญี่ปุ่น
สภาพการเมืองอีกช่วงหนึ่งที่ส่งอิทธิพลต่อแนวคิดการควบคุมร่างกายนักเรียนคือช่วงสฤษดิ์ ธนะรัชต์จนถึงกลางทศวรรษ 2520 และช่วงที่ 3 คือตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมาซึ่งภิญญพันธุ์เรียกว่าเป็นสงครามเย็นจำแลงเพราะยังคงใช้ข้ออ้างแบบสงครามเย็น เขาตั้งข้อสังเกตว่า
“ผมคิดว่าวินัยที่เคร่งมากขึ้นมันสัมพันธ์กับอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดขึ้นด้วย ตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นจุดต่างชัดเจนได้ดีที่สุดคือทศวรรษ 40 ตอนที่รัฐธรรมนูญฉบับประชนเกิดขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยสูงมากในช่วงนั้น วิธีการมองเรื่องเด็กก็เปลี่ยนไป มีการชูประเด็นเรื่องห้ามตีนักเรียนด้วย การคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็ก ฉะนั้นวินัยมันสัมพันธ์กับระบบการเมือง”
ความ “ไร้ปัญญาในการสร้างวินัย”
ระเบียบวินัยสัมพันธ์กับการสร้างพลเมืองที่รัฐต้องการ โดยเฉพาะระเบียบวินัยชนิดที่จับต้องมองเห็นได้อย่างทรงผมหรือเครื่องแบบที่เคร่งครัดเอาเป็นเอาตาย ภิญญพันธุ์เรียกว่าเป็นความ “ไร้ปัญญาในการสร้างวินัย” เพราะทั้งทรงผมและเครื่องแบบสามารถถูกจับจ้องโดยครูได้ง่ายที่สุด
พื้นที่สำหรับการจับจ้องที่สำคัญที่สุดก็คือหน้าเสาธง อันมีลักษณะไม่ต่างกับการรวมพลของทหารก่อนออกรอบ มีครูหรือผู้อำนวยการโรงเรียนคอยให้โอวาท นักเรียนเป็นผู้รับคำสั่ง รับอำนาจจากข้างบนลงมาไม่ว่าจะต้องตากแดด ตากฝน ตากลมแค่ไหน
“เราจะเห็นว่าการตัดผมสั้น การดูเครื่องแบบ ดูเล็บก็ใช้พื้นที่หน้าเสาธงด้วย พื้นที่หน้าเสาธงจึงเป็นการรวมกันของกองทัพ ถ้าเรามองโรงเรียนเป็นเรือนจำ มันคือการเอานักโทษมายืนเรียงกันเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อย และเลวร้ายกว่านั้นหน้าเสาธงมันคือวิธีการประจานนักโทษ ถูกเชิญขึ้นไป ถูกตีหน้าเสาธง มันละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย
“ผมคิดว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในการควบคุมนักเรียนผ่านเครื่องแบบ ทรงผม ผ่านพื้นที่ตรงนี้มันเป็นเรื่องใหญ่มากๆ และการลงทัณฑ์ด้วยการเฆี่ยนตี แม้จะมีระเบียบห้ามแล้ว เราก็พบว่ายังคงถูกใช้อยู่เสมอๆ มันสะท้อนถึงความรุนแรงในระบบการศึกษา การไร้ปัญญาในการพัฒนาศักยภาพ”
ลักษณะดังกล่าวเป็นแนวคิดเรื่องวินัยและการลงทัณฑ์ทางสังคมศาสตร์แบบฟูโกต์ ที่การลงทัณฑ์สมัยใหม่จะใช้อำนาจแต่ไม่ใช้ความรุนแรง โดยให้นักโทษในห้องขังถูกจับจ้องพฤติกรรมจากหอตรงกลางตลอดเวลา แต่โรงเรียนจับจ้องด้วย ลงโทษด้วยการใช้ความรุนแรง และประจานด้วย ซึ่งเป็นการสั่งสมความรุนแรงทั้งกับตัวครูที่ใช้อำนาจกระทำความรุนแรงกับนักเรียน และกับนักเรียนที่ใช้อำนาจกับนักเรียนคนอื่นต่ออีกทอด
“ส่วนที่มองไม่เห็นก็เป็นเรื่องการสั่งสมอุดมการณ์เกี่ยวกับชาตินิยม เวลาเราอยู่หน้าเสาธง เรารู้ว่าเราจะต้องทำอะไร ต้องเคารพธงชาติ ต้องสวดมนต์ มันจึงเป็นพื้นที่ของการสร้างอุดมการณ์ที่เราสยบยอมและจงรักภักดีกับทั้งสามสถาบัน นี่คือการสร้างความเป็นพลเมืองที่สยบยอม”
คสช. และค่านิยม 12 ประการ
เมื่อถึงยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระเบียบวินัยถูกขับเน้นเข้มงวดอีกครั้งผ่าน ‘ค่านิยม 12 ประการ’ ที่ถูกประชาสัมพันธ์อย่างแพร่หลายในช่วงหนึ่ง
‘ค่านิยม 12 ประการ’ ยุค คสช.
ภิญญพันธุ์อธิบายว่าก่อนการรัฐประหารของ คสช. เรายังพบการต่อสู้ถกเถียงเรื่องทรงผมและเครื่องแต่งกายของนักเรียนจำนวนหนึ่ง ครั้นเกิดรัฐประหารขึ้นสิ่งเหล่านี้ก็เงียบลง แล้วปรากฏอีกครั้งเป็นการคัดค้านการล้างสมองด้วยค่านิยม 12 ประการในภายหลัง
“ตัวค่านิยม 12 ประการมันสะท้อนอุดมการณ์การสร้างพลเมืองที่ คสช. ต้องการ แต่ คสช. ไม่สามารถใช้อำนาจเบ็ดเสร็จได้โต้งๆ ขนาดนั้น คสช. เองเลยพยายามใช้โมเดลสงครามเย็น แต่ใช้ได้ไม่เต็มที่ อีกอันที่ คสช. พยายามเข้ามาในเชิงกลไกโครงสร้างคือการสร้างศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการอำเภอ ซึ่งเคยเกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็น เป็นข้าราชการจากส่วนกลางที่เข้ามาควบคุมโดยขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัด แต่เดิมหน่วยงานการศึกษาที่ดูแลระดับจังหวัดเรียกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แบ่งเป็นระดับประถมกับมัธยม ซึ่งเกิดขึ้นจากการกระจายอำนาจ แต่การเกิดขึ้นของศึกษาธิการจังหวัด มันเข้ามาซ้อนอำนาจของเขตพื้นที่การศึกษาอีกที นั่นแปลว่าเขตพื้นที่การศึกษาก็ถูกคุมจากส่วนกลางผ่านศึกษาธิการจังหวัด”
วินัยที่ถูกสร้างจากความกลัวของผู้ใหญ่
จุดที่ชวนสังเกตอีกประการหนึ่งคือครูในระบบและผู้คนในสังคมก็ดูจะเห็นดีเห็นงามและยอมรับต่อระเบียบวินัยของรัฐโดยไม่ตั้งคำถาม ซ้ำยังเป็นกลไกทรงประสิทธิภาพในการควบคุมนักเรียนให้เป็นไปตามที่รัฐต้องการ ภิญญพันธุ์กล่าวว่ามันมีอารมณ์และเหตุผลของรัฐและสังคมที่คอยสนับสนุน เขายกตัวอย่างสมัย ป.พิบูลสงคราม ที่มีการตัดตัวสะกดและพยัญชนะจำนวนมากออกไปให้เหลือน้อยลงเพราะเชื่อว่าจะทำให้คนเข้าถึงการศึกษาได้ง่ายขึ้น แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเรียกว่าเป็นการทำให้ภาษาไทยมันวิบัติ ปรากฏว่าการใช้อำนาจในลักษณะข้างต้นล้มเหลว สุดท้ายก็กลับไปเหมือนเดิมเพราะสังคมไม่ได้ยอมรับ อารมณ์ร่วมของสังคมไม่มี
“ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนเพราะมันมีอารมณ์ร่วมของสังคมด้วยหรือเปล่า เช่น เรื่องเคารพธงชาติ 8 โมง 6 โมง มาจากช่วงจอมพล ป. แต่ถามว่ามันทำไมมีอยู่ อารมณ์ของสังคมมันยอมรับแล้วมันจะอยู่ได้ ทั้งที่โลกนี้ผมคิดว่าแทบจะไม่มีประเทศที่ยืนเคารพธงชาติตอน 8 โมงกับ ตอน 6 โมงเย็นแล้ว
“อีกด้านหนึ่ง ในสังคมไทยสมัยใหม่มองอยู่แล้วว่าพลเมืองที่พึงประสงค์จากเด็กและเยาวชนเป็นแบบนี้ ฉะนั้น เด็กและเยาวชนจะมาพร้อมความคาดหวังของรัฐในแต่ละยุคสมัย เมื่อกี้ผมพูดถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เราเกิดรัฐประหารบ่อยมาก มันก็จะมีไอเดียว่าการใช้อำนาจนิยมสร้างเด็กที่ดีไม่ใช่เรื่องผิด เราหวังดี เราจะสร้างเด็กให้ดี รักวัวผูกให้ผูก รักลูกให้ตี คุณใช้ความรุนแรงกับเด็กได้ เพราะเด็กจะกลายเป็นคนดี ความรู้สึกแบบนี้อยู่ทั้งโรงเรียนและในตัวผู้ปกครองด้วยเพราะผู้ปกครองเห็นว่าโรงเรียนเป็นโรงงานที่ส่งเข้าไปแล้วเด็กจะดีอัตโนมัติ”
นอกจากนี้ยังมีภาพจำเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนช่วงทศวรรษ 2490-2500 แบบที่ภาพยนตร์เรียกว่า อันธพาลครองเมือง เป็นห้วงเวลาที่เด็กและเยาวชนในเขตเมืองก่อเรื่องทะเลาะวิวาทหรือก่ออาชญากรรม เกิดความรู้สึกว่าต้องใช้ไม้แข็งจึงจัดการได้ หรือในยุคต่อมาก็กลัวว่าวัยรุ่นจะหลงใหลวัฒนธรรมต่างชาติ การเต้นแบบนักร้องร็อคแอนด์โรลชื่อดังในสมัยนั้นอย่างเอลวิส เพรสลี่ ถูกมองว่าเป็นการยั่วยุทางเพศ
“ดังนั้น เครื่องมือก็มีอย่างเดียวคือการควบคุมด้วยวินัย สมัยสฤษดิ์ห้ามเด็กไปเต้นรำด้วยซ้ำ เข้าใจว่า สมัยก่อนในต่างประเทศ โรงสนุกเกอร์ บิลเลียดเป็นพื้นที่สันทนการ แต่บ้านเราเป็นพื้นที่อบายมุขเพราะกฎหมายห้าม เด็กคนไหนไปโรงสนุ๊กไปโต๊ะบิลเลียด เกเรแน่นอน เพราะว่าภาพมันถูกสร้างมา กลัวว่าเด็กจะซ่องสุม มีพื้นที่ จึงห้ามเด็กมั่วสุมกัน มันเลยยิ่งบีบควบคุมให้เด็กอยู่ในกรอบ ช่วงทศวรรษ 2510 ก็กลัวว่าเด็กจะเป็นคอมมิวนิสต์ เราอยู่ภายใต้อารมณ์ของการปั่นหัวว่าเด็กจะกลายเป็นสิ่งเลวร้ายที่เราไม่ต้องการ ดังนั้นการจะรั้งเด็กคือระเบียบวินัย แต่ปัญหาของโรงเรียนไทยคือระเบียบวินัยมันกระจอกเกินไป ควบคุมสิ่งที่อยู่ภายนอกกับอุดมการณ์ที่นามธรรมมากๆ
“ผมจะบอกว่ามันมีทั้งอารมณ์และเหตุผลที่สนับสนุนกันอยู่ ไม่ใช่ว่าครูถูกล้างสมองแล้วก็ทำ แต่เป็นไอเดียที่ฝังมา เรามีจินตนาการในการสร้างเด็กน้อยเกินไป เรากลัวมากเกินไปว่าเด็กจะเลวร้าย เลยขังเด็กด้วยกฎ ขังด้วยพื้นที่ ขังด้วยการลงทัณฑ์แบบละเมิดสิทธิมนุษยชน”
วินัยที่ควรจะเป็น
ภิญญพันธุ์กล่าวถึงระเบียบวินัยฉบับวัฒนธรรมว่า แม้กระทรวงศึกษาธิการจะอนุญาตให้ทรงผมยาวได้ระดับหนึ่ง แต่โรงเรียนจำนวนมากไม่ทำตามนั้น ซึ่งในระบบราชการต้องถือว่าขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา แต่ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีสิ่งที่เรียกว่า ระเบียบวินัยฉบับวัฒนธรรม ซึ่งค่อยๆ สร้างสมขึ้นและถึงจุดสูงสุดในปี 2515 สมัยถนอม กิตติขจรที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฝังเข้าไปในสามัญสำนึกจนไม่สามารถลบเลือนได้ง่ายดาย
ระเบียบวินัยแบบบังคับควบคุมไม่ใช่คำตอบ ภิญญพันธุ์เสนอว่าสิ่งที่ควรสร้างคือระเบียบวินัยระดับสังคมหรือวินัยในการอยู่ร่วมกัน
นักเรียนโรงเรียนนารีรัตน์ จังหวัดแพร่ ดินรณรงค์ (แฟ้มภาพ)
“เราอยู่กับกฎระเบียบแบบศรีธนญชัย เราอยู่กับกฎเพื่อไม่ให้ตำรวจจับปรับ ไม่รู้กรุงเทพเป็นไหม แต่ต่างจังหวัดเราใส่หมวกกันน็อค คาดเข็มขัดนิรภัยเพราะกลัวถูกจับปรับ 500 บาท แต่เราไม่ได้มองว่าวินัยจราจรมีเพื่อเซฟตัวเราเองและคนอื่น เราไม่ได้ถูกสร้างวินัยเพื่อไปอยู่ร่วมกับคนในชุมชนหรือสังคม วินัยเราอยู่กับตัวเอง เราดี สังคมดีเอง”
ณ ห้วงยามปัจจุบัน เด็กรุ่นใหม่ขับเคลื่อน ตั้งคำถามกับสิ่งเก่า สำหรับภิญญพันธุ์ มันเป็นความหวัง พื้นที่โซเชียลมีเดียช่วยเพิ่มพลังให้แก่พวกเขาในการตั้งคำถามตั้งแต่ในรั้วโรงเรียนถึงระดับประเทศ
“คนรุ่นเรารู้ปัญหา แต่มักจบด้วยคำถามว่าแล้วยังไงต่อ แต่ผมคิดว่าเด็กและเยาวชนเหล่านี้ เขาสด เขามีความหวัง เขาพร้อมจะสู้ มันเป็นโอกาสสำคัญของสังคมไทย มันมีความผิดพลาดในฐานะเด็ก ผมคิดว่าก็ช่วยกันเรียนรู้ ไม่ใช่สปอยส์อย่างเดียว มันก็ต้องช่วยกันยกระดับขึ้นไปเรื่อยๆ คุณภาพของสังคมจะมากันแบบนี้ ไม่ใช่มาจากการเขียนกฎหมาย มันต้องช่วยกันยกระดับทั้งอารมณ์และเหตุผลของสังคม อารมณ์ของสังคมคนจะไม่ยอมอีกแล้วที่เกิดรัฐประหารอีกครั้ง คนไม่ยอมการละเมิดสิทธิเด็กในโรงเรียน ในสถานศึกษา”