สำนักข่าวท้องถิ่น Khonumthung เปิดเผยเมื่อวานนี้ (18 มกราคม 2566) ว่า สำนักงานด้านการศึกษาในเมืองตั้นลาง รัฐชิน ประเทศพม่า สั่งปิดโรงเรียนอย่างไม่มีกำหนดในเมืองตั้นลางทั้งหมด นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา เนื่องจากหวั่นสถานการณ์ไม่ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ เพราะขณะนี้สถานศึกษาในพื้นที่กำลังตกเป็นเป้าหมายโจมตีของกองทัพอากาศพม่า
ซาไล ครอส ทัง ฝ่ายด้านการศึกษาในพื้นที่เปิดเผยว่า เครื่องบินรบของกองทัพพม่าบินวนรอบๆโรงเรียนในพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง เกรงว่าทางโรงเรียนจะเป็นเป้าหมายถูกโจมตีซึ่งไม่ปลอดภัยสำหรับเด็กๆจึงสั่งให้ปิดโรงเรียนไว้ก่อน นอกจากนี้กองทัพพม่าได้ทำตัวเหมือนกลุ่มก่อการร้ายที่มักโจมตีสถานที่ที่เป็นของสาธารณะ เหมือนเช่นโรงเรียนที่กำลังถูกเป็นเป้าโจมตีจากกองทัพพม่า
ในจดหมายของสำนักงานด้านการศึกษาในพื้นที่ยังเตือนไม่ให้ประชาชนเข้ารวมตัวในบริเวณโรงเรียนต่างๆในพื้นที่ในช่วงที่โรงเรียนปิด โดยมีรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 – 11 มกราคมที่ผ่านมา กองทัพพม่าได้โจมตีบริเวณค่าย “วิคตอเรีย” ซึ่งเป็นฐานบัญชาการใหญ่ของกองทัพแนวร่วมแห่งชาติชิน Chin National Front (CNF) หลังจากที่โจมตีฐานที่มั่นของ CNF แล้ว เครื่องบินรบของกองทัพพม่ามักบินวนรอบๆโรงเรียนในพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง จนมีการตัดสินใจสั่งปิดโรงเรียน
มีรายงานว่า มีโรงเรียนทั้งหมด 95 แห่งในพื้นที่ และมีนักเรียนกว่า 15,000 คนโดยมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์นั้นถึงวัยเข้าเรียน
ขณะที่สำนักข่าว Myanmar Now รายงานว่า กองทัพพม่าได้เผาทำลายโบสถ์คาทอลิกเก่าแก่อายุ 129 ปี ในหมู่บ้านฉั่นต่า เขตสะกาย เสียหายหนัก พร้อมเข้ามาเผาทำลายบ้านเรือนที่เหลือรอดจากการถูกโจมตีครั้งก่อนๆ อีก 120 หลังคาเรือน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา
“ไม่มีอะไรเหลืออยู่ในโบสถ์ พวกเขาเผาอาคารสำคัญทุกหลัง ทำลายหอสวดมนต์และอาคารสำหรับแม่ชีและนักบวช” นายเจมส์ สมาชิกของกลุ่มต่อต้านกองทัพพม่าในพื้นที่กล่าว ซึ่งการโจมตีครั้งนี้กองทัพพม่าใช้กำลังพลราว 80 นาย เข้าโจมตีโดยเป็นครั้งที่ 4 ที่หมู่บ้านถูกโจมตีจากกองทัพพม่านับตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว
หมู่บ้านแห่งนี้มีบ้านเรือนราว 500 หลังคาเรือน และเป็นหนึ่งในหลายหมู่บ้านในในเขตสะกายที่ตั้งถิ่นฐานโดยพ่อค้าและนักผจญภัยชาวโปรตุเกสในศตวรรษที่ 17 ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวโปรตุเกสได้แต่งงานกับชาวบ้านท้องถิ่น ก่อตั้งครอบครัว และสืบทอดมรดกทางศาสนาของพวกเขาไปยังลูกหลานที่ยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่
ด้านสำนักข่าว Irrawaddy รายงานว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่นั่นนับถือศาสนาคริสต์ “เรารู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง ที่นี่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวคริสต์ และเป็นสถานที่จัดงานเฉลิมฉลองของชาวคริสต์เป็นประจำทุกปี” ชาวบ้านรายหนึ่งกล่าว