ผศ.วรประภา นาควัชระ ผู้ช่วยอธิการบดี และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐกศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานเสวนา “รู้ทันการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี”ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดขึ้นว่า การปรับขึ้นของราคาบิทคอยน์ที่พุ่งขึ้นมาอย่างร้อนแรงส่งผลให้นักลงุทนให้ความสนใจเข้ามาลงทุนมาก ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ในช่วงปลายปี ค.ศ.2017 ที่มูลค่าบิทคอยท์ปรับเพิ่มสูงขึ้นถึง 20 เท่ากลายเป็นที่น่าสนใจ
ทั้งนี้ จากการศึกษาการปรับตัวเพิ่มขึ้นของคริปโทเคอร์เรนซี่อื่นๆ รวมไปถึงบิทคอยน์ ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับดัชนีตลาดหุ้น ค่าเงิน ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆเข้ามาวิเคราะห์ แต่พบว่าการปรับตัวขึ้นของราคาเกิดจาก Sentiment ของตลาดเป็นหลัก ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลให้เพียงพอก่อนที่จะเข้าลงทุน รวมถึงประเมินความสามารถในการนำเงินมาลงทุนที่จะต้องเป็นเงินที่สามารถรับผลขาดทุนได้ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่เงินดังกล่าวจะหายไปทั้งหมด
“เราอยากที่จะแนะนำผู้ที่สนใจให้กระโดดเข้ามาศึกษาก่อน ไม่ใช่กระโดดเข้าไปลงทุนเลย เพราะอาจจะมีกลุ่มนักศึกษาที่อยากลงทุน ก็ต้องคำนึงถึงเงินที่อาจจะเสียไป เพราะไม่ได้ลำบากแค่ตัวเอง อาจจะลำบากไปถึงพ่อแม่ ส่วนคนที่หารายได้เองแล้วก็ต้องเป็นเงินที่เย็นยังไม่จำเป็นต้องใช้เอามาลงทุนเพราะอาจจะเสียเงินต้นทั้งหมดได้ ซึ่งปัจจุบันนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายก็พยายามหาปัจจัยที่จะมีผลทำให้ Cryptocurrency ปรับตัวขึ้นหรือลง แม้ว่าปัจจุบันผลที่ออกมายังคงมาจาก Sentiment เป็นหลัก แต่เชื่อว่าหลังจากจบรอบการขึ้นรอบนี้จะเห็นอะไรชัดเจนมากขึ้น”ผศ.วรประภา กล่าว
ด้านนายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวว่า ในหลักคิดราคาบิทคอยท์จะมีความคาดหวังของนักลงทุน โดยจากการสำรวจนักลงทุนสหรัฐในเดือนต.ค.63 พบมีคนสนใจ 36% แต่ขณะนี้ปรับขึ้นมาเป็น 55% มีคนอยากศึกษาและเข้าลงทุนมากขึ้น โดยปัจจุบันมีปริมาณคนใช้ Acitve Address สูงขึ้นมากกว่าปี 2017 ที่บิทคอยท์บูม และเห็นว่าปริมาณ Acitve Address ยังไปไม่สุด โดยในช่วงปี 2017 มี New Address มากพอๆกับ Active Address และพบว่ายังมีคนเก่าที่ยังคงอยู่ในตลาดมีมากกว่า New Address แต่รอบนี้จำนวน New Address ไม่ได้มากเท่ากับปี 2017 โดยในเอเชียมีผู้เล่นหน้าใหม่จาก ธ.ค.มาถึง ม.ค.เพิ่มขึ้น 3 เท่า
ผลสำรวจระบุว่าในช่วง 1 ปี แสดงให้เห็นว่ามีผู้ลงทุนสัดส่วน 38% เป็นนักลงทุนในช่วง 4 เดือน 26% ลงทุนมา 5-6 เดือน 19% ลงทุน 7-12 เดือน และ 17% เป็นผู้ลงทุนมากกว่า 1 ปี ขณะที่สัดส่วน 83% เพิ่งเข้ามาลงทุนไม่ถึง 1 ปี และในจำนวน 63% ที่รับผลกระทบโควิด-19 เข้ามาเป็นนักลงทุนหน้าใหม่
ทั้งนี้ มองว่าโอกาสการลงทุนที่ปัจจุบันความมั่งคั่ง (Wealth) อยู่ในกลุ่ม Baby boomer จะย้ายฝั่งไปกลุ่ม Gen X กับกลุ่มมิเลนเนียมในอนาคต ซึ่งการลงทุนเป็นโอกาสก็ควรหาความรู้ศึกษาอย่างเข้าใจถ่องแท้ เพราะความเสี่ยงไม่ได้อยู่ที่สินทรัพย์ แต่ความเสี่ยงมาจากวิธีคิดหรือ mindset เป็นจุดเริ่มต้นต้องพิจารณาเป็นอันดับแรก
“Mindset สำคัญมากกับการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล เทคนิคคือการออม Mindset จะต่างกัน เวลาที่เรามองเป็นการพนันจะเอากระดานเทรดเป็นสมรภูมิไปห่ำหั่นกัน จะมี information บางอย่างที่กล้าจะทำอย่างบ้าบิ่น สุดท้ายเกราะป้องกันที่ดีที่สุดก็คือความรู้ จะเป็นสิ่งเดียวที่เป็นเกราะป้องกันได้ทุกรูปแบบ”นายศุภกฤษณ์ กล่าว
นอกจากความรู้แล้วต้องรู้ถึงความเสี่ยงด้วยซึ่งไม่ได้อยู่เพียงสินทรัพย์ รวมถึง mindset ของผู้ลงทุนด้วย
ส่วนนายอัครเดช เดี่ยวพานิช ผู้ก่อตั้งเพจ Coinman และประธานกรรมการบริหาร บริษัท คริปโตมายด์ จำกัด กล่าวว่า ดิจิทัลแอสเสท หรือคริปโทเคอเรนซี กล่าวเตือนการลงทุนคริปโทเคอเรนซี ที่น่าเป็นห่วงที่เข้ามาลงทุนในลักษณะการเล่นพนันโดยไม่ศึกษาก่อนซึ่งเป็นลักษณะการลงทุนของกลุ่มคนส่วนใหญ่ ฉะนั้นแนะนำให้เล่นผ่านบริษัทหรือหลักทรัพย์ไหนที่ก.ล.ต.รองรับถูกกฎหมาย หากเป็นการฝากลงทุนก็ไม่ควร หรือมีการชักชวนลักษณะแชร์ลูกโซ่ที่โฆษณาให้ผลตอบแทนที่สูงเกินจริง ทั้งนี้ย้ำว่าควรไปศึกษาที่มาของเงินดิจิทัล และสินค้าดิจิทัลอื่นๆ อาทิ บิทคอยท์ โดยการลงทุนมีทั้งการลงทุนระยะยาว นักเทรด และผู้ที่หาผลตอบแทนสร้างเป็นรายได้