นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ และคณะผู้บริหารฯ ลุยงานต่อเนื่อง ล่องใต้ 3 จังหวัด ระหว่างวันที่ 5-6 มีนาคม 2564 เริ่มที่จังหวัดพัทลุง ปิดท้ายที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2 จังหวัด ปัตตานี และยะลา
ในวันแรก วันที่ 5 มีนาคม ได้ส่งมอบโครงการก่อสร้างสถานีจ่ายน้ำบาดาลเพื่อประชาชนบ้านต้นไทร จ.พัทลุง สำหรับเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร และเพื่อป้องกันบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชน สามารถผลิตน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ไม่น้อยกว่า 58,400 ลูกบาศก์เมตร/ปี พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ ไม่น้อยกว่า 2,400 ครัวเรือน หลังจากนั้น ในช่วงบ่าย ลงพื้นที่ทะเลน้อย ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) มอบเงินสนับสนุนเครือข่ายแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน มอบถุงยังชีพ และอุปกรณ์สำหรับใช้ในการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในพื้นที่จังหวัดพัทลุง พร้อมร่วมพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ “พัทลุงมุ่งสู่เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน” และมอบหนังสืออนุญาต คทช. หนังสือแสดงป่าชุมชน และเงินอุดหนุนให้เครือข่ายป่าชุมชนฯ
ต่อมา ในวันที่ 6 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการปฏิบัติภารกิจฯ รมว.ทส. พร้อมคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2 จังหวัด ได้แก่ จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา โดยในช่วงเช้า ได้เดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณน้ำตกทรายขาว รวมทั้งให้ขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน มอบต้นไม้โครงปลูกป่าและป้องกันไฟป่า ตลอดจนมอบถุงยังชีพแก่เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนเชิงคุณภาพ
หลังจากนั้น ในช่วงบ่ายได้เดินทางไปยัง โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา ปิดท้ายการปฏิบัติภารกิจฯ ตลอด 2 วัน โดยได้จับมือกับเครือข่ายและผู้นำศาสนาร่วมขับเคลื่อนการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นำร่องมัสยิด 516 แห่ง ทั่วจังหวัดยะลา ภายใต้ “โครงการขับเคลื่อนการจัดการสิ่งแวดล้อมมัสยิด จังหวัดยะลา และโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ” ซึ่งจัดขึ้นโดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ก่อนขยายผลครอบคลุม อีก 2 จังหวัด (ปัตตานีและนราธิวาส) มากกว่า 1,๐๐๐ แห่ง โดยมี นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ร่วมด้วย นายอารีฟีน เจ๊ะแม รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา นายรอซี เบ็ญสุหลง ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ ผู้นำมัสยิด ผู้นำชุมชน คณะครูและนักเรียน ตลอดจนเครือข่าย ทสม. ให้การต้อนรับ
ทั้งนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ได้กล่าวว่า ปัญหาขยะเป็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมระดับประเทศและระดับโลก โดยเฉพาะปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งรัฐบาลได้ตระหนักและเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561 – 2573 ที่จะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกลงได้ 780,000 ล้านตัน/ปี ลดงบประมาณการจัดการขยะมูลฝอย 3,900 ล้านบาท/ปี ประหยัดพื้นที่ฝังกลบและกำจัดขยะมูลฝอยพลาสติก 2,500 ไร่ ตลอดจนลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ 1.2 ล้านตัน โดยมีเป้าหมาย นำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ ร้อยละ 100 ภายในปี 2570 ซึ่งภายในปีหน้าครบกำหนดที่พลาสติกอีก 4 ชนิด ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วน้ำพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) และหลอดพลาสติก (หลอดเครื่องดื่มทั่วไป) จะต้องหมดไป ซึ่งตอนนี้ โลกของเราเหลือเวลาอีกเพียง 6 ปีกว่า ตามเวลาของ Climate Clock ที่หากเราทำให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส เราจะต้องเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างรุนแรง จึงจำเป็นที่ต้องช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจก ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส
รมว.ทส. ได้เน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็งและจริงจัง เชิญชวนให้ร่วมปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนทุกคน ซึ่งศาสนสถานมีส่วนสำคัญในการเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดขยายผล ช่วยผลักดันให้การขับเคลื่อนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมประสบผลสำเร็จได้ เนื่องจากเปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของศาสนิกชนทุกคน และในภาคใต้มีจำนวนมัสยิดมากที่สุด มากกว่า 3,000 แห่ง เกินครึ่งอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนยังสามารถนำหลักศาสนามาประยุกต์ใช้ในการจัดการสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องความสะอาด ความเป็นระเบียบ การจัดการขยะ และการมีส่วนร่วมของชุมชน การจัดการสิ่งแวดล้อมในมัสยิด จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการดูแลสุขภาพอนามัยทั้งกายและใจของผู้นำศาสนาและประชาชนทั่วไป
ในการนี้ รมว.ทส. ได้มอบตราสัญลักษณ์ “การจัดการสิ่งแวดล้อมมัสยิด” ให้กับรองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ตลอดจนเยี่ยมการจัดการสิ่งแวดล้อมมัสยิด รวมทั้ง เยี่ยมชมนิทรรศการธนาคารขยะในโรงเรียน สิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ การลดพลาสติกและโฟม การเลี้ยงไส้เดือนกำจัดขยะ และมอบอุปกรณ์กีฬาให้กับผู้แทนนักเรียนโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ซึ่งเป็นโรงเรียนตัวอย่างความสำเร็จเชิงประจักษ์ จากการนำแนวคิดการลดพลาสติกและโฟมที่ต้นทางมาประยุกต์ใช้จนเกิดความสำเร็จต่อเนื่อง มากกว่า 13 ปี เป็นโรงเรียนปลอดโฟมและปลอดถุงหิ้วพลาสติก ตลอดจนสามารถนำหลักความซื่อสัตย์มาประยุกต์ใช้ในการทำกิจกรรมธนาคารขยะจากการนำขยะมาที่ธนาคารพร้อมลงบัญชีด้วยตนเอง ช่วยลดข้อจำกัดเรื่องชั่วโมงว่าง และหลักศาสนา ห้ามหญิงชายอยู่ใกล้กัน
ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัด บูรณาการการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งนี้ ให้ทุกกรมจัดเตรียมบุคลากร ยานพาหนะ และอุปกรณ์ในการช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค ซึ่งมีการจัดตั้งศูนย์ฯ ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ