MGR Online – พร้อมหน้า “เปาโหย่วเสียง” ควงคู่ผู้บริหาร-ผู้นำกองทัพ “ว้า” เป็นประธานและปฐมนิเทศให้เหล่านายทหารหนุ่มที่เข้ารับการอบรมการเมืองในโรงเรียนผู้นำกองทัพสหรัฐว้า รุ่นที่ 1 ที่เมืองป๋างซาง
เช้าวานนี้ (15 ก.ย.) ที่อำเภอป๋างซาง เมืองเอกของเขตพิเศษหมายเลข 2 สหรัฐว้า ได้มีพิธีเปิดการอบรมชั้นเรียนการเมือง รุ่นที่ 1 ของโรงเรียนผู้นำ กองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army : UWSA) มีผู้บริหารระดับสูงของสหรัฐว้า รวมถึงนายทหารระดับผู้บัญชาการหลายนายไปร่วมงาน และขึ้นกล่าวปฐมนิเทศแก่ผู้นำหน่วยซึ่งเป็นกำลังพลรุ่นใหม่ของกองทัพสหรัฐว้า ที่เข้ารับการอบรมครั้งนี้
ผู้บริหารระดับสูงที่มาร่วมงานนี้ ประกอบด้วย เป่าโหย่วเสียง ประธานสหรัฐว้า เช่าหมิงเหลียน รองประธาน เจ้าก์ก่ออาน รองประธานฝ่ายต่างประเทศ และเจ้าก์โจงตาน ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐว้า
เพจสถานีโทรทัศน์รัฐว้า (Wa State TV : WSTV) ซึ่งเผยแพร่ข่าวนี้เมื่อกลางดึกของวันที่ 15 กันยายน ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมใดๆ เกี่ยวกับการฝึกอบรมของชั้นเรียนนี้ นอกจากเนื้อหาที่ได้เสนอไปข้างต้น การอบรมทางการเมืองของโรงเรียนผู้นำครั้งนี้ถือเป็นความเคลื่อนไหวอีกครั้งหนึ่งของกองทัพสหรัฐว้า ที่ต้องการแสดงศักยภาพกำลังพลของตนต่อสาธารณะ
เมื่อวันที่ 11 กันยายนปีที่แล้ว (2563) กองทัพสหรัฐว้า ได้จัดพิธีเปิดโรงเรียนนายร้อยแห่งแรกขึ้น โรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านหย่องเตง อำเภอป๋างซาง มีเด็กหนุ่มชาวว้าสมัครเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นแรกประมาณ 100 คน
ญีราน โฆษกกองทัพสหรัฐว้า ประจำสำนักงานตัวแทนในเมืองล่าเสี้ยว ภาคเหนือของรัฐชาน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Irrawaddy ถึงวัตถุประสงค์ของการตั้งโรงเรียนนายร้อยแห่งนี้ว่า กองทัพสหรัฐว้ามีเป้าหมายจะสร้างผู้นำทหารรุ่นใหม่ที่จะเติบโตขึ้นพร้อมกับความรู้ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นบนโลก โดยตามหลักสูตรแล้ว โรงเรียนนายร้อยแห่งนี้จะใช้เวลาเรียน 4 ปี
กองทัพสหรัฐว้าเป็นกองกำลังชาติพันธุ์ที่ใหญ่และมีอาวุธที่ทันสมัยมากที่สุดในพม่า ประมาณว่ากำลังพลของกองทัพสหรัฐว้ามีถึง 30,000 นาย
วันที่ 17 เมษายน 2562 กองทัพสหรัฐว้าได้จัดพิธีสวนสนามแสดงแสนยานุภาพทางทหารครั้งใหญ่ ทั้งด้านกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ เช่น เครื่องบินไร้คนขับ จรวดต่อสู้อากาศยาน ในวาระครบรอบ 30 ปี ของการหยุดยิงระหว่างกองทัพสหรัฐว้ากับกองทัพพม่า
มีการเชิญผู้นำกองทัพชาติพันธุ์แทบทุกกลุ่มในพม่า รวมถึงสื่อมวลชนทั้งภายในและต่างประเทศจากหลายสำนักไปร่วมชม และเผยแพร่ภาพข่าวออกไปตามสื่อต่างๆ ทั่วโลก
แสนยานุภาพที่กองทัพสหรัฐว้านำมาโชว์ในการจัดสวนสนามครั้งนั้น ถึงกับทำให้ผู้นำทหารพม่าต้องออกมาปรามว่า กองทัพสหรัฐว้ากำลังทำเหมือนเป็นการท้าทายกองทัพพม่า แต่ผู้นำกองทัพสหรัฐว้าปฏิเสธว่าไม่ได้ต้องการเช่นนั้น
ว้าเป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์เก่าแก่ที่ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย ลาว รัฐชาน ขึ้นไปจนถึงมลฑลยูนนานของจีน มาช้านาน คนไทยรู้จักคนว้าในนาม “ลั๊วะ” หรือ “ละว้า”
ช่วงการเผยแพร่อุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ลงมาในดินแดนตอนใต้ “ว้า” ในนามกองทัพว้าแดง ได้ติดอาวุธและเข้าร่วมปฏิบัติการกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่า จนถึงวันที่ 17 เมษายน 2532 จึงได้แยกตัวออกมาสถาปนากองทัพสหรัฐว้าขึ้น และทำสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า
รัฐบาลพม่าได้ตอบแทนโดยมอบพื้นที่บริเวณชายแดนจีน ตรงข้ามกับเขตปกครองตนเองชนชาติไต ลาหู่ และว้า เมิ่งเหลียน จังหวัดผู้เอ่อร์ มณฑลยูนนาน ให้กองทัพสหรัฐว้าครอบครอง
เขตปกครองตนเองว้า อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเขตปกครองตนเองโกก้าง และตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดเชียงตุงกับเขตพิเศษหมายเลข 4 เมืองลา ครอบคลุมพื้นที่อำเภอป๋างซาง อำเภอโหป่าง อำเภอเมืองใหม่ อำเภอป๋างหวาย อำเภอนาพาน และอำเภอหมากหมาง โดยมีอำเภอป๋างซาง หรืออีกชื่อหนึ่งว่าปางคำเป็นเมืองหลวง
ระหว่างปี 2533-2540 ช่วงที่รัฐบาลทหารพม่าใช้นโยบาย 4 ตัด มาปราบปรามกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศอย่างรุนแรง กองทัพพม่าได้ขอให้กองทัพว้า ช่วยส่งกำลังทหารจากป๋างซางลงมารบกับกองทัพไทใหญ่ ในพื้นที่ภาคตะวันออกของรัฐชาน ตรงข้ามกับชายแดนไทย
กองทัพว้าเคลื่อนย้ายกำลังพลมาตั้งกองบัญชาการอยู่ในจังหวัดเมืองสาต (ตรงข้ามอำเภอเวียงแหง เชียงดาว และฝาง จังหวัดเชียงใหม่) เพื่อรบกับกองทัพไทใหญ่
เมื่อสถานการณ์สู้รบในพื้นที่คลี่คลาย กองทัพพม่าได้ตอบแทนด้วยการยกพื้นที่จังหวัดเมืองสาตให้เป็นเขตปกครองของว้าเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง
รัฐธรรมนูญปี 2551 ของพม่า รับรองดินแดนทั้ง 2 พื้นที่ของว้าให้เป็นเขตพิเศษหมายเลข 2 ที่ปกครองโดยกองทัพสหรัฐว้า
แต่ว้าพยายามเรียกร้องกับรัฐบาลพม่าให้สถาปนาพื้นที่ของตนเองขึ้นเป็นรัฐชาติพันธุ์ลำดับที่ 8 โดยนอกจาก 2 พื้นที่ซึ่งมีอยู่ปัจจุบันแล้ว ยังต้องการให้รวมจังหวัดเชียงตุงเข้าไปด้วย เพราะถือว่าเคยเป็นดินแดนดั้งเดิมของว้ามาตั้งแต่อดีต
กองทัพว้าเป็นกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลพม่า และเป็นแกนนำในการจัดตั้งองค์กรที่ชื่อ Myanmar Peace Commission and Federal Political Negotiation Consultative Committee หรือ FPNCC ที่รวมกองกำลังซึ่งยังไม่ได้เซ็น NCA อีก 6 กลุ่มเข้าด้วยกัน เพื่อให้เป็นตัวกลางในการเจรจากับรัฐบาลพม่า โดยไม่มีการแยกเจรจาเป็นรายกลุ่ม
FPNCC มีรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นตัวกลาง ประสานงานให้มีการเจรจาสันติภาพ
ใน FPNCC นอกจากว้าแล้ว ยังมีกองทัพคะฉิ่น (KIA) กองทัพเมืองลา (NDAA) กองทัพโกก้าง (MNDAA) พรรคก้าวหน้ารัฐชาน (SSPP/SSA) กองทัพตะอั้ง (TNLA) และกองทัพอารกัน (AA)
วันที่ 2 เมษายน 2563 คณะกรรมการเลือกตั้ง (UEC) ชุดเก่าของพม่า ได้ให้การรับรองพรรคชนชาติว้า (Wa National Party : WNP) ขึ้นเป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ ถือเป็นพรรคการเมืองล่าสุดในลำดับที่ 93 ของพม่า
อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งทั่วไปของพม่าทั้งในปี 2558 และ 2563 พื้นที่ 4 อำเภอในเขตว้า ได้แก่ ป๋างซาง นาพาน เมืองใหม่ และป๋างหวาย ไม่มีการเลือกตั้ง โดย UEC อ้างเหตุผลว่าไม่สามารถเข้าไปจัดการเลือกตั้งได้
ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 มีตัวแทนพรรคชนชาติว้าได้รับการเลือก 3 คน ได้แก่ หญี่ปะโล๊ะ Pyithu Hluttaw เขตอำเภอโหป่าง หย่านจ่อ State Hluttaw จากเขตเลือกตั้งที่ 1 อำเภอโหป่าง และ ดร.เอ็มส่อลัต State Hluttaw จากเขตเลือกตั้งที่ 2 อำเภอเมืองโต๋น จังหวัดเมืองสาต.