ศธ.จับมือซีมีโอสะเต็มเอ็ด และ 11 ประเทศในเอเชีย ปฏิรูปการพัฒนาครูทั้งระบบ เร่งสร้างโมเดลคลุมหลักสูตรพัฒนาครู – ปรับวิทยฐานะ – สนับสนุนวิชาการ
วันที่ 28-29 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการประเทศสมาชิกซีมีโอ รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการไทย (ศธ.) เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุม SEAMEO Congress 2021 บทแพลทฟอร์มออนไลน์ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแสวงหาแนวทางปฏิบัติที่ดีด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมในยุคดิจิทัล
โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 9,500 คน จาก 11 ประเทศสมาชิกซีมีโอ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และติมอร์ เลสเต หนึ่งในประเด็นสำคัญคือการ “ปฏิรูปการพัฒนาครู” เพื่อยกระดับการศึกษาอาเซียน นำสู่การเสวนาต่อเนื่องในเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ Chevron – SEAMEO Policy Advocacy for Strengthening Regional STEM Education Project เพื่อสังเคราะห์แนวทางขับเคลื่อนนโยบายสะเต็มศึกษา สร้างโมเดล Teacher Development ที่ขับเคลื่อนทิศทางเดียวกันทั้งระบบ คือ หลักสูตรพัฒนาทักษะวิชาชีพครู แนวทางการปรับวิทยฐานะ และการสนับสนุนด้านวิชาการ
“ดร.สุภัทร จำปาทอง” ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เพื่อก้าวข้ามวิกฤตด้านการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทั้งด้านองค์ความรู้และกำลังคน โดยพัฒนาการศึกษาที่มุ่งเน้นพัฒนาครู และสนับสนุนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องแก่ครูและผู้นำโรงเรียนอย่างเหมาะสม
“เราต้องมีข้อมูลสนับสนุนอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะหลักฐานงานวิจัยเพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายได้ใช้ประโยชน์ผลักดันในเชิงนโยบาย อีกทั้งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสะเต็มศึกษาในโรงเรียน”
“รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์” ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า แนวทางปฏิบัติสำคัญที่ส่งต่อเข้าไปหารือกับผู้กำหนดนโยบาย 11 ประเทศในที่ประชุม SEAMEO Congress 2021 ประกอบด้วย 5 ข้อคือ 1.การพัฒนาอย่างยั่งยืน 2.การส่งเสริมพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสำหรับ Gen ALPHA 3.การจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ และความเสมอภาคทางการศึกษา 4.การเตรียมแรงงานในอนาคตที่มีทักษะสูงและเป็นผู้เรียนรู้อยู่เสมอ 5.การเตรียมครูและผู้เรียนสำหรับอนาคตยุคดิจิตัล และปัญญาประดิษฐ์
“ปัจจุบันปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนาครูในประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่งบประมาณ แต่อยู่ที่วิธีการคิดและกรอบกระบวนการของการพัฒนา หรือหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลไม่ได้ตั้งต้นที่ความต้องการของครูผู้สอน โดยเชื่อว่าครูในปัจจุบันทุกคนอยากพัฒนาทักษะด้านสื่อดิจิทัล ถ้ามีการกำหนดกรอบการเรียนรู้ ให้เวลาและสร้างสื่อที่ครูสามารถเข้าถึง คาดว่าครูส่วนหนึ่งจะพัฒนาในเรื่องนี้ได้และใช้ดิจิตอลแพลทฟอร์มต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
ด้าน “ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร” ผู้อำนวยการศูนย์ซีมีโอสะเต็มเอ็ด กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยและอาเซียน โดยเฉพาะ ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา เผชิญปัญหาด้านการศึกษาที่คล้ายกันคือ เด็กนักเรียนมีปัญหาด้านทักษะการอ่านและวิชาคณิตศาสตร์ ส่งผลให้เป็นอุปสรรคสำคัญในการเรียนชั้นสูงขึ้นไป
ประกอบกับการมีหลักสูตรวิชาที่หนาแน่นมากกว่าประเทศอื่น ๆ ผสมกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ดังนั้นปัญหาจึงอยู่ที่ทำอย่างไรที่ครูผู้สอนจะสามารถปรับกระบวนการเรียนการสอนให้มีความน่าสนใจ ซึ่งเราไม่สามารถที่จะนำมาตรฐานทางยุโรปมาปรับใช้ เพราะปัจจัยสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน
กระบวนการที่ศูนย์ซีมีโอสะเต็มเอ็ดเร่งนำเสนอคือโมเดล Teacher Development ที่มีความสำเร็จจากโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ซึ่งครอบคลุม 2 ด้านคือ 1. ร่วมมือกับสถาบันผลิตครูและเครือข่ายครู เตรียมความพร้อมบุคลากรที่จะเข้าสู่วิชาชีพครู และพัฒนาครูประจำการในลักษณะหลักสูตรประกาศนียบัตรแบบ non-degree 2. สนับสนุนให้ครูร่วมกันปรับวิธีจัดการเรียนการสอน ด้วยกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ที่สอดคล้องแนวทางประเมินวิทยฐานะ
“อาทิตย์ กริชพิพรรธ” ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะผู้สนับสนุนเวทีปฏิบัติการนี้ และเป็นภาคเอกชนที่ริเริ่มโครงการด้านการพัฒนาสะเต็มศึกษามากว่า 6 ปี กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เข้าสู่ระยะที่ 2 และประสบความสำเร็จในการทำโมเดลเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนการสอนด้านสะเต็มศึกษา ที่ครอบคลุมต้นน้ำถึงปลายน้ำ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาให้กับกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาส และโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล
“ล่าสุดได้ขยายความร่วมมือกับ 5 มหาวิทยาลัยในแต่ละภูมิภาค จัดอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตร 1 ปีให้แก่ครูประจำการ หลักสูตรการอบรมนี้เป็นความร่วมมือระหว่างภาควิชาการ รัฐ และเครือข่าย Master Teacher โดยเชฟรอนฯ ให้การสนับสนุนทุนจำนวนร้อยละ 70 ให้แก่ครูที่เข้าอบรมในหลักสูตรดังกล่าว ตลอดจนเตรียมนำ Best Practice ในโครงการฯ ไปถ่ายทอดยังประเทศต่างๆ ในอาเซียนที่เชฟรอนฯ ดำเนินงาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจริงจัง”