เผยแพร่:
ปรับปรุง:
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
ได้เล่าถึงคณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่เป็นศิษย์เก่าวชิราวุธ (ศิษย์เก่าวชิราวุธเขาเรียกกันว่า โอ.วี. เผื่อคนที่ยังไม่ทราบ) ไปแล้ว และรวมถึงลูกศิษย์บางคนที่เป็น โอ.วี. ที่จริงยังมีลูกศิษย์รัฐศาสตร์จากวชิราวุธอีกหลายคน ที่ผมยังติดตามข่าวพวกเขาได้จากทางโซเชียล มีเดีย เช่น นายปรต สมรรคจันทร (อ่านว่า ปะ-ระ-ตะ สะ-หมัก-จัน หรือ นายตวง) คนนี้เล่นรักบี้ให้คณะและมหาวิทยาลัย เข้ารัฐศาสตร์แต่ไปจบนิติฯ จุฬาฯ
ต่อมาคือ นายแชม์ป มาตรา ที่ตอนปีสองไว้หนวดเครา ประกอบกับที่มีร่างกายอันล่ำหนา ทำให้ท่าทางดูดิบเถื่อน ผมเลยบอกเขาไปว่า สภาพของเขาเข้าข่าย lumbersexual ! ที่มีผู้ให้ความหมายว่า “หนุ่มชาวกรุงที่มีสไตล์และนิยมแต่งตัวคล้ายคนตัดไม้ของฝรั่ง หนุ่มๆ ประเภทนี้มักไว้เคราหนาๆ และใส่เสื้อลายตาราง จริงๆ แล้วคำว่า lumbersexual เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2008 โดยนำคำว่า lumberman (คนตัดไม้) มารวมกับ metrosexual (หนุ่มที่ดูแลตัวเองดี) โดยสื่อถึงชายหนุ่มที่รู้จักดูแลตัวเองดี เจ้าสำอาง แต่มักไว้หนวดเคราหนาๆ และใส่เสื้อลายตารางคล้ายสไตล์คนตัดไม้ของฝรั่ง” (https://www.dek-d.com/studyabroad/39214/) ตอนนี้ได้กลายเป็นตำรวจไปแล้ว
และในเฟซบุ๊กของเขา ยังปรากฏวาทะวรรคทองของ รุสโซ (Rousseau) นักทฤษฎีการเมืองก้องโลกชาวฝรั่งเศสที่ว่า “Man is born free, and everywhere he is in chains.” (มนุษย์เกิดมาเสรี แต่ทุกหนทุกแห่งอยู่ในพันธนาการ/แปลโดยคุณจินดา จินตนเสรี) ไม่รู้เหมือนกันว่า อะไรทำให้เขาประทับใจข้อความดังกล่าวของรุสโซ และไม่รู้เหมือนกันว่า เขาประทับใจรุสโซมาก่อนที่จะมาเรียนปรัชญาการเมืองกับผม หรือมาประทับใจตอนที่มาเรียนกับผม ?
ที่จำได้ดีก็มีอีกคนหนึ่งชื่อ กิ้น (พีรพัฒน์ มีแสง) ภาควิชาการปกครอง มาจากเกาะสมุย ไม่รู้ว่าเล่นรักบี้ให้คณะหรือเปล่า เขาจบปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ซึ่งพอผมทราบก็แปลกใจมาก เพราะท่าทางไม่ให้
ที่ผ่านมา อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯที่เป็น โอ.วี. มีประเพณีพานิสิตรัฐศาสตร์ที่เป็น โอ.วี. ไปเลี้ยงอาหาร เข้าใจว่าประเพณีดังกล่าวนี้น่าจะเริ่มโดย รศ. ดร. ศุภมิตร ปิติพัฒน์ อาจารย์ศุภมิตรจะนัดนิสิต โอ.วี. ทุกภาควิชาไปรับประทานอาหารกลางวัน และจะมีอาจารย์ โอ.วี. อีกท่านหนึ่งไปรับประทานด้วย นั่นคือ รศ. พิพัฒน์ ไทยอารี แต่ที่แปลกประหลาดก็คือ มีอาจารย์ที่ไม่ใช่ โอ.วี. ติดตามไปด้วย แม้จะไม่ทุกครั้ง แต่ก็น่าจะมากกว่าหนึ่งครั้ง อาจารย์คนนั้นก็คือ ผมเอง ซึ่งอาจารย์พิพัฒน์และอาจารย์ศุภมิตรก็ยินดี (ผมเดาอาเอง !) ให้ผมไปร่วมวงศาฯด้วย
ส่วนผมเองก็นัดเลี้ยงนิสิตที่จบมาจากโรงเรียนผมเหมือนกัน แต่แนวผม ต้องกินข้าวเย็นเท่านั้น เพราะออกแนวสายแข็ง ! และไม่ได้เลี้ยงเฉพาะที่เข้ารัฐศาสตร์ จุฬาฯ เพราะดูมันจะน้อยไป ไม่สนุก แต่ให้นิสิตรัฐศาสตร์ที่มาจากโรงเรียนผมไปชวนนิสิตคณะอื่นๆ มาร่วมวงศาฯ ด้วย โดยเฉพาะคณะทางสังคมศาสตร์ (รวมบัญชีฯ) และมนุษยศาสตร์ แน่นอนถ้ารวมทุกชั้นปีจากหลายคณะ มันก็งานช้าง และผมคนเดียวก็คงไม่มีปัญญาจะแบกรับภารกิจความเป็นศิษย์เก่ารุ่นพี่ได้คนเดียว ดังนั้น บรรดาคณาจารย์ในคณะต่างๆ เหล่านั้นที่มาจากโรงเรียนเดียวกัน ต่างก็มาร่วมวง (เลี้ยงน้องๆ) ด้วยความปิติยินดีที่จะได้รู้จักและต้อนรับบรรดานิสิตสายสังคม-มนุษยศาสตร์ ได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวสมัยเรียนประถม-มัธยมของแต่ละรุ่น เป็นที่ครื้นเครงกันมาก และหากหลายรุ่นนั้นมีประเด็นร่วมกันก็จะสนุกสนานเมามันเป็นที่สุด เช่น เป็นลูกศิษย์ร่วมมาสเตอร์หรือมีส (ที่โรงเรียนผมจะเรียกคุณครูผู้ชายว่า มาสเตอร์ และคุณครูผู้หญิงว่า มีส) หรือบราเดอร์คนเดียวกัน (ภราดา นักบวชที่ไม่ได้เป็นบาทหลวง แต่อุทิศตนเพื่อศาสนาและการศึกษาของเยาวชน) การสนทนาก็จะออกรสชาติมากขึ้น
ต่อมา การเลี้ยงศิษย์เก่าโรงเรียนผม มิได้จำกัดแต่เฉพาะที่จุฬาฯ แต่ยังขยายไปเชิญฝั่งธรรมศาสตร์มาด้วย เพราะที่รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ก็มีศิษย์เก่าเป็นอาจารย์อยู่ไม่น้อย แต่ภายหลัง นิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯที่มาจากโรงเรียนผมเริ่มร่อยหรอลงไป จนบางปี ไม่มีเลย และต่อเนื่องติดกันหลายปี ประเพณีสังสรรค์นี้ก็ยุติไปโดยปริยาย ในขณะที่ โอ.วี. ยังมีเข้ารัฐศาสตร์ จุฬาฯ อย่างต่อเนื่อง
.นอกจากอาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯที่เป็นศิษย์เก่า โอ.วี. หรืออาจารย์ที่เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนผมจะมีประเพณีเลี้ยงน้องโรงเรียนเก่าที่เข้ามาเป็นนิสิตรัฐศาสตร์แล้ว เท่าที่ทราบ อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่เป็น “เด็กสวน” (คำเรียกศิษย์เก่าสวนกุหลาบ หรือ โอ.เอส.เค) ก็มีประเพณีดังกล่าวนี้ และเท่าที่จำได้ สวนกุหลาบน่าจะมีประเพณีนี้มาก่อน และต่อมาผมจึงเลียนแบบ จำได้ว่า ท่านอาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯที่เป็นศิษย์เก่าสวนกุหลาบที่เป็นตัวหลักสำคัญที่พานิสิตไปรับประทานอาหาร คือ ท่านศาสตราจารย์ จรูญ สุภาพ แต่การรับประทานอาหารของพวกสวนกุหลาบจะต่างเวลาจากพวก โอ.วี. และโรงเรียนผม ในขณะที่ โอ.วี. ทานกลางวัน ของผมทานกลางคืน แต่พวกสวนฯ เขาทานอาหารเช้ากันครับ มาแปลกดี !
สถานที่ประจำก็คือ ห้องอาหารของสโมสรอาจารย์ที่อยู่บนชั้นสองตึกจุลฯ สมัยผมเป็นอาจารย์ใหม่ๆ ผมก็นิยมไปทานอาหารเช้าที่นี่ด้วย เพราะจะมีรายการอาหารเช้าแบบฝรั่งคือ ขนมปัง ไข่ดาว ไส้กรอก หมูแฮมหรือข้าวต้ม นอกเหนือไปจากอาหารตามสั่งปกติทั่วไป คุณภาพ รสชาติและราคาใช้ได้เลยครับ และตอนกลางวันก็จะมีกับข้าวหลากหลายให้เลือกสั่ง ซึ่งอร่อยมีคุณภาพและราคาย่อมเยา ตกเย็นก็มีอาหารตามสั่ง แต่หลังๆ ผมไม่ได้ไปมานานแล้ว ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร ? (โอ.วี. อาจจะนึกถึงครัว โอ.วี. !)
เท่าที่ทราบ อาจารย์ผู้ใหญ่ที่เป็น โอ เอส เค มีสองท่านคือ ศาสตราจารย์ ดร. กระมล ทองธรรมชาติ และ ศาสตราจารย์ จรูญ สุภาพ ที่สำคัญคือ นอกจากท่านทั้งสองจะเป็นปรมาจารย์ทางรัฐศาสตร์ และเป็นศาสตราจารย์ ทั้งสองท่านยังเป็นคณบดีด้วย โดยท่านศาสตราจารย์ จรูญเป็นต่อจากท่านศาสตราจารย์กระมล หลังจากที่ท่านทั้งสองเกษียณอายุราชการและจากไปแล้ว ล่าสุด ทราบว่า มีอาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯที่เป็นศิษย์เก่าสวนกุหลาบ นั่นคือ อ.ดร.ชฎิล โรจนานนท์ เป็น โอ.เอส.เค รุ่นเท่าไรไม่ทราบ ทราบแต่ว่าเป็นสิงห์ดำรุ่น 40 หลังผมสิบปี อาจารย์ชฎิลจากกระทรวงการคลังมาเป็นอาจารย์ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ และถ้าจะถามว่ามาสอนอะไรในรัฐประศาสนศาสตร์ ก็แน่นอนว่าจะต้องสอนเรื่องการคลังสาธารณะ (Public Finance)
ซึ่งสาขาการคลังสาธารณะนี้ อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯคนแรกๆ ที่จบมาโดยตรงและมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษคือ ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช สมัยผมเป็นนิสิต ผมไม่ทราบว่าอาจารย์ชัยอนันต์ทำวิทยานิพนธ์ในสาขานี้ ยังคิดไปว่าท่านน่าจะจบทางการเมืองการปกครองหรือทางทฤษฎีการเมืองด้วยซ้ำ แต่เมื่อพอทราบว่าท่านทำวิทยานิพนธ์ด้านการคลังสาธารณะ ก็ให้นึกทึ่งเข้าไปอีก เพราะท่านมีผลงานทางรัฐศาสตร์ที่หลากหลายครอบคลุมหลายสาขาย่อยของรัฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองการปกครองไทยทั้งปัจจุบันและอดีต ทฤษฎีการเมือง และการสร้างทฤษฎีไตรลักษณะรัฐของท่านขึ้นมา แปลว่าท่านมีความสนใจและเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาของรัฐศาสตร์มาก และที่สำคัญคือ การคลังสาธารณะ ซึ่งในความเข้าใจของผม มันเป็นอะไรที่ยากเย็นแสนเข็ญมาก ต้องอาศัยความรู้ทั้งทางเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง นโยบายสาธารณะ ฯลฯ ถือเป็นสาขาที่ยาก คนเรียนน้อย และหาอาจารย์รัฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญในสาขานี้ยากมาก รุ่นหลังจากท่านอาจารย์ชัยอนันต์หลายรุ่น ก็มี ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร. จรัส สุวรรณมาลา ซึ่งท่านก็เกษียณราชการไปแล้ว ต่อมาก็มี รองศาสตราจารย์ ดร. วีระศักดิ์ เครือเทพ ที่ถือว่าเป็นระดับขั้นเทพในขณะนี้ และยังได้รางวัลผลงานวิจัยติดต่อกันมากมาย
จากที่ผมชอบเขียนเรื่องวชิราวุธ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็น โอ.วี. จึงมีคนถามว่า หนึ่ง ทำไม่ถึงชอบ ? สองถ้าชอบมากขนาดนั้น ทำไมถึงไม่ส่งลูกชายไปเรียนวชิราวุธเสียให้รู้แล้วรู้รอด มานั่งพันลำอยู่ได้ ?
ตอบคำถามข้อที่หนึ่ง ผมรู้จักวชิราวุธมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะมีลูกพี่ลูกน้องที่สนิทสนมเรียนอยู่ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้รู้จักอะไรมากนัก แต่มาเริ่มสนอกสนใจก็เพราะอาจารย์ชัยอนันต์นี่แหละครับ ตอนผมเป็นนิสิตและมีความชื่นชมประทับใจในความรู้ของท่านอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง ก็สนใจใคร่รู้ว่าโรงเรียนอะไรหล่อหลอมท่านมา และมาพบคำตอบก็ตอนไปนั่งเรียนในห้องทำงานท่าน (อย่างที่เคยเล่าไปในตอนก่อนแล้ว) และได้เห็นรูปถ่ายของท่านคู่กับอาจารย์โกศัลย์ คูสำราญในเครื่องแบบนักเรียนที่เห็นปั๊บก็รู้ทันทีว่าคือ วชิราวุธ เพราะน้องชายลูกน้าสาวผมก็ใส่เครื่องแบบนี้ให้ผมเห็นตั้งแต่เด็กๆ เมื่อประทับใจในตัวอาจารย์ชัยอนันต์ ก็เลยประทับใจใคร่รู้เกี่ยวกับโรงเรียนของท่าน และความอยากรู้เกี่ยวกับวชิราวุธก็ติดอยู่ในใจผมมาตลอดเมื่อมีโอกาส ก็จะคอยถามไถ่หรืออ่านเรื่องราวเกี่ยวกับโรงเรียนและชาว โอ.วี. และจะคอยสังเกตนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯแต่ละรุ่นที่มาจากวชิราวุธว่ามีบุคลิกภาพนิสัยใจคออย่างไร และมีความสนใจทางวิชาการและกีฬาอย่างไร ก็เก็บข้อมูลมาเรื่อยๆในแบบงานอดิเรก
ส่วนคำถามที่สองที่ถามว่า ทำไมผมไม่ส่งลูกไปเรียนวชิราวุธ ? นอกจากคำถามนี้ ผมยังถูกถามว่า ทำไมไม่ส่งลูกเข้าโรงเรียนเก่าที่ผมจบมาด้วย ?
ขอตอบคำถามที่สองก่อน คือ ผมเป็นอาจารย์จุฬาฯ มีสิทธิ์ส่งลูกเข้าเรียนสาธิต จุฬาฯ อยู่แล้ว ซึ่งสะดวกมากในการรับส่ง แต่ถ้าส่งไปเข้าโรงเรียนเก่า ผมจะมีปัญหาต้องขับรถไปส่งลูกเรียนระดับประถมที่ซอยเซนต์หลุยส์ และเมื่อถึงชั้นมัธยม ผมก็ต้องเปลี่ยนเส้นทางไปส่งเขาที่แถวเจริญกรุง บางรัก การเดินทางไปรับส่งและไปทำงานที่จุฬาฯคงบั่นทอนสุขภาพจิตและร่างกายของผมมาก แต่ถ้าเข้าวชิราวุธ จะไม่มีปัญหานี้เลย เพราะเป็นโรงเรียนประจำ
ตอนลูกผมจบชั้นประถมสอง ผมถามว่า อยากเข้าวชิราวุธไหม ? และบอกเขาด้วยว่าเป็นโรงเรียนที่อาจารย์ชัยอนันต์จบมานะ ! ลูกชายผมรู้จักอาจารย์ชัยอนันต์ดีโดยไม่ได้เจอท่าน เพราะผมจะเล่าเรื่องราวต่างๆ ของอาจารย์ชัยอนันต์ให้เขาฟังตั้งแต่เล็กจนโต อีกทั้งผมได้บรรยายสรรพคุณอื่นๆ ของวชิราวุธให้เข้าฟังด้วย เช่น การเล่นรักบี้ ปี่สก๊อต การอยู่ประจำ (ที่มีทั้งความสนุกและความโหด !) เขาก็บอกว่าสนใจอยู่
.
ว่าแล้ว วันหนึ่ง ผมก็ติดต่อ เพชร สมุทวนิช (ลูกชายอาจารย์ชัยอนันต์) และไหว้วานอาจารย์ศุภมิตรให้ขับรถพาลูกผมไปชมโรงเรียน และจำได้ว่า มีครั้งหนึ่ง ผมได้พาเขาไปพบเพื่อนผมด้วยคือ หน่อง ชัชวาลย์ ธันวารชร (ซึ่งถ้าเขาเข้าวชิราวุธได้ หนึ่งในเพื่อนร่วมรุ่นที่เขาจะได้ก็คือ นายมาตราหรือนายแชมป์)หลังจากได้ไปชมโรงเรียน เขาบอกว่า เขาชอบโรงเรียนวชิราวุธมาก แต่ไม่ขอไปเรียนที่นั่น ?!!! อ้าว ! ทำไมมันย้อนแย้งเสียอย่างนั้น เมื่อผมถามว่าเพราะอะไร ? คำตอบที่เขาให้ผม ทำให้ผมจำนน เพราะเขาตอบว่า เขาไม่อยากจากเพื่อนที่สาธิตไป !
ทำไมผมถึงยอมจำนนต่อคำตอบนี้ของเขา ?
คำตอบอยู่ที่เหตุผลที่อาจารย์ชัยอนันต์ไม่ยอมลาออกจากวชิราวุธเพื่อไปเข้ามัธยมปลายที่เตรียมอุดมตามที่ หรวด พิสิษฐ์ศักดิ์รุ่นพี่ได้แนะนำอาจารย์ เพราะอาจารย์ได้เขียนบันทึกไว้ว่า
“รักโรงเรียนวชิราวุธ อยากเล่นรักบี้กลางสนามยามฝนตก เวลาพุ่งแทคเกิลเพื่อนแล้วพลาด ไถลหน้าถูไปกับน้ำใสและหญ้าชุ่มที่หอมปนเหม็นเขียว ..เป็นความรู้สึกและแรงดึงดูดมากกว่าสิ่งที่หรวดรียกว่าจุดมุ่งหมายที่ควรจะไปถึง ระหว่างการอยู่โรงเรียนประจำได้เล่นรักบี้ ได้สนุกสนานกับเพื่อนกับการออกไปเรียนแข่งกับคนอื่น”
แม้ว่าสาธิต จุฬาฯ จะไม่มีการเล่นรักบี้และบรรยากาศการเป็นโรงเรียนประจำ แต่ถ้าลูกผมเขาเกิดรักเพื่อน รักสาธิต จุฬาฯ เหมือนกับที่อาจารย์ชัยอนันต์รู้สึกกับวชิราวุธ ผมก็คงปฏิเสธไม่ได้
แต่อนิจจา ตอนลูกผมจบมัธยมสาม ผมกลัวว่าเขาจะไม่มีประสบการณ์การสอบเข้า เพราะเข้าสาธิตได้อัตโนมัติ เลยบอกให้เขาไปลองสอบเข้าเตรียมอุดม โดยทั้งเขาและผมมีเงื่อนไขร่วมกันว่า แม้จะได้ แต่พ่อต้องไม่บังคับให้เขาไป แต่ต้องให้เขาเรียนต่อที่สาธิต จุฬาฯ
แต่วันที่เขาไปดูประกาศผลการสอบ เขากลับโทรมาบอกว่า เขาขอเปลี่ยนใจ !
เวรกรรม ! อะไรทำให้เขาเปลี่ยนใจ แล้วไอ้ความไม่อยากจากสาธิต มันหายไปไหน ? (เรื่องนี้มีเงื่อนงำ !!!)