ตั้งเป้าเป็นโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ชั้นนำทันสมัยที่สุดของภาคใต้ตอนบน ปีหน้าเริ่มรับผู้ป่วยใน 120 เตียง ปีต่อไปเพิ่มเป็น 419 เตียง และขยายเป็น 750 เตียง
ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยความคืบหน้าโครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ พร้อมระบบสาธารณูปการ มูลค่า 2,128 ล้านบาท ซึ่งบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) กำลังก่อสร้างบนพื้นที่ 405 ไร่ ขณะนี้การก่อสร้างโดยภาพรวมคืบหน้าร้อยละ 90 ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนงานสถาปัตยกรรมและงานระบบต่างๆ คาดว่าจะแล้วเสร็จทันภายในปีนี้
ทั้งนี้ หลังก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 62 จากนั้นในปี 63 จะเริ่มรับผู้ป่วยใน 120 เตียง และปี 64 ขยายเพิ่ม 419 เตียง ส่วนระยะต่อไปจะขยายให้ครบ 750 เตียง โดยจะกลายเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ของภาคใต้ตอนบนมีบุคลากรทางการแพทย์ไม่น้อยกว่า 3,000 คน ให้บริการทางการแพทย์ใน 14 สาขาความเชี่ยวชาญ รองรับการให้บริการเฉลี่ยปีละ 5 แสนคน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เปิดโรงพยาบาลนำร่องมาแล้วตั้งแต่พ.ย.60 มีการเปิดให้บริการคลินิกตา เวชศาสตร์ฟื้นฟู เวชศาสตร์ครอบครัว คลินิกอายุรกรรม คลินิกเด็ก คลินิกโรคภูมิแพ้และหอบหืด คลินิกเรื้อรัง คลินิก หู คอ จมูก คลินิกทั่วไป คลินิกศัลกรรมกระดูกและข้อ คลินิกถันยเมตต์ คลินิกศัลยกรรม คลินิกสูตินารีเวช คลินิกจิตเวช คลินิกตรวจสุขภาพ รวมถึงแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โดยบริการผู้ป่วยนอก 300 คนต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรและนักศึกษารวมกว่า 9,000 คน
“เราตั้งเป้าเป็นโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ชั้นนำที่ทันสมัยที่สุดของภาคใต้ตอนบน เป้าหมายการก่อตั้งโรงพยาบาลศูนย์ฯ จึงไม่ใช่เพียงการบริการเท่านั้น แต่ส่งเสริมให้แพทย์มีการค้นคว้าวิจัยและบูรณาการกับการผลิตแพทย์ ดังนั้น การสร้างโรงพยาบาลศูนย์ภาคใต้ตอนบนจึงไม่ใช่เพียงแบ่งเบาภาระการให้บริการของโรงพยาบาลรัฐแต่เป็นการเพิ่มทางเลือกการรักษาโรคซับซ้อนและบูรณาการผลิตผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรการแพทย์เพื่อประชาชนในภาคใต้ตอนบนอีกด้วย” อธิการบดีม.วลัยลักษณ์กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ