ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาที่จัดขึ้นโดยศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ว่า จากจำนวนเด็กที่ป่วยในช่วงแรก 997 คน หรือคิดเป็น 6 % ต่อมาได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนถึง 1.4 แสนคนหรือคิดเป็น 14 % ของผู้ติดเชื้อและติดเชื้อจากที่บ้านเพราะโรงเรียนยังไม่ได้เปิด เด็กที่ป่วยแล้วเสียชีวิต จำนวน 20 คน เป็นเด็กที่มีโรคประจำตัวมาก่อนแล้ว โดยกลุ่มเด็กที่ติดเชื้อสูงสุดคือ 12-18 ปี คิดเป็น 38% รองลงมาคือ 6-12 ปี คิดเป็น 32% และอายุต่ำว่า 6 ปี ประมาณ 5% โดย เด็กอายุ 6-12 ปี ยังไม่พบการเสียชีวิต และเด็กเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ใหญ่เพราะมีภูมิคุ้มกันต่อสู้กับเชื้อใหม่ดีกว่า
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
“ตอนนี้มีปัญหาถกเถียงกันว่าจะเปิดโรงเรียนได้ไหม ซึ่งในประเทศญี่ปุ่น ล็อกดาวน์ทั้งหมดยกเว้นโรงเรียน สิงคโปร์ อเมริกา ก็บอกว่าต้องเปิด ที่เด็กไม่ได้ฉีดวัคซีนเพราะไม่มีวัคซีนสำหรับเด็ก วัคซีนที่ขึ้นทะเบียนใช้กับเด็กได้มีตัวเดียวคือไฟเซอร์ อายุ 12 ปี ขึ้นไป เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก ที่จะบอกว่าผู้ใหญ่ฉีดได้เด็กก็ฉีดได้เหมือนกัน เพราะการตอบสนองและภูมิคุ้มกันไม่เหมือนกัน อเมริกา ทดสอบไปสามพันคนไม่มีปัญหา แต่พอฉีดเป็นแสนคนพบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลายคน ทำให้เราต้องรอ”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- “ฉีดวัคซีน” ครบ “สร้างภูมิคุ้มกันหมู่” ไม่ได้ หมอมนูญ ชี้ ปล่อยให้ติด ยุติได้
- เช็กจุดฉีดวัคซีน “ไทยร่วมใจ” ก่อนลงทะเบียน 9 กันยายน นี้
- พร้อมแล้ว “วัคซีนใบยา” ดีเดย์ ทดลองฉีดในคนระยะ 1 สิ้น ก.ย. นี้
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวว่า กรณีที่ไทยสั่งฉีดไฟเซอร์เด็กอายุเกิน 12 ปี อาจให้ฉีดวัคซีนที่มีการรับรอง และฉีดกลุ่มเสี่ยงก่อน เช่น เด็กที่มีอาการทางสมอง หัวใจ เบาหวาน อ้วน หลายประเทศไม่ฉีดเด็กที่ไม่มีความเสี่ยง สำหรับไทยเองก็ต้องเน้นเรื่องความปลอดภัย ควรฉีดผู้ใหญ่ให้ครบทุกคนก่อนเพราะอัตราการเสียชีวิตของผู้ใหญ่สูงกว่าเด็ก 100 เท่า และถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังต้องใส่หน้ากาก
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการที่เด็กไม่ไปโรงเรียนเสียหายมาก ทั้งการเรียนรู้ การออกกำลังกายและการเข้าสังคม และสุดท้ายสร้างปัญหาเด็กลาออกจากโรงเรียน สร้างความเหลื่อมล้ำมาก สิ่งที่ต้องดำเนินการคือการหามาตรการรับมือเปิดเทอมโดยแนวการป้องกันคือ 1) ฉีดวัคซีนให้คนฉีดได้ ผู้ปครอง ครู คนในบ้าน เพราะหากผู้ใหญ่ไม่ติดเชื้อเด็กก็ไม่ติดเชื้อ เพราะการฉีดวัคซีนให้เด็กอาจต้องรอบคอบ ในอนาคตจะมีมีวัคซีนที่ปลอดภัย แต่ตอนนี้ยังเป็นแค่การใช้ฉุกเฉิน ถ้าไม่ฉุกเฉินรออีกสักพักก็อาจมีวัคซีนที่ปลอดภัยกว่าปัจจุบันออกมาต้นปีนี้ และ 2) เน้นการใส่หน้ากากทั้งที่บ้าน และโรงเรียน รวมทั้งการเว้นระยะห่าง ล้างมือ ใครป่วยหรือมีประวัติสัมผัสต้องหยุดอยู่บ้าน ทำความสะอาดห้อง และควรมีการทดสอบเด็กเป็นระยะ ในช่วงที่มีระบาดหนัก ส่วนที่ไม่ระบาดหนักอาจตรวจเฉพาะคนที่มีอาการไม่จำเป็นต้องใช้สูตรเดียวทั้งประเทศขึ้นอยู่กับพื้นที่ เช่น นักเรียนติดคนเดียวก็ไม่จำเป็นต้องปิดทั้งโรงเรียนที่สร้างความเสียหายมาก อาจะให้หยุดกับคนที่สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยง
“ โรงเรียนควรเป็นที่ที่ปิดหลังสุด แต่กลับถูกปิดก่อน เพราะไปคิดเหมือนไข้หวัดใหญ่ทั้งที่ปัญหาไม่เหมือนกัน ซึ่งน่าเป็นห่วงเด็กที่ต้องหยุดในช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงที่สมอง กำลังพัฒนา และพบว่าเด็กติดเกมเยอะมากช่วงนี้เรียนจอใหญ่ไปก็เล่นเกมจอเล็กไปด้วยถ้าไม่ดูให้ดีก็จะเป็นปัญหาจำเป็นต้องมาช่วยกันให้เด็กได้รับการศึกษาที่ดีรวมทั้งองค์การอนามัยโลก บอกว่ามีปัญหาเรื่องเด็กอ้วนเตี้ยซึ่งมาจากไม่ได้ออกกำลังกายอยู่แต่หน้าจอ อีกด้านก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามหาศาล อินเดียมีคนที่ไม่ได้เรียนสุดท้ายก็ออกไปหางานอนาคตก็แย่หมดไม่มีความรู้ ต้องหาทางแก้ไขปัญหาที่จะตามมา”
ศาสตราจารย์ สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
ศาสตราจารย์ สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า นโยบายที่เตรียมการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 4 ล้านโดส ให้เด็ก 12-18 ปี ถือว่ามาถูกทาง เพราะว่าเดือนพฤศจิกายนโรงเรียนจะเปิดอีกครั้ง คำถามเกิดขึ้นว่ากันยายนนี้ เราจะฉีดให้เด็กกลุ่มไหนก่อน ในมุมของสิทธิเด็ก เด็กทุกคนต้องได้รับการฉีด แต่เด็กกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง กลุ่มยากจน กลุ่มที่อยู่ในชุมชน ควรได้รับการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆเช่นกัน เพราะตอนนี้ติดเชื้อจำนวนมาก ขณะที่ ครู 45% จะฉีดวัคซีนครบสองโดสแล้วจะทำถึง 70% ก่อนเปิดเทอมเดือนพฤศจิกายนได้ทันหรือไม่
หากเด็กไปโรงเรียนแล้วมีการติดเชื้อเกิดขึ้น ควรเตรียมสถานที่พักคอยดูแล บริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ว่าพบเด็กติดเชื้อ คนสองคน แล้วสั่งปิดโรงเรียนทันที ดังนั้นการมีสถานที่พักคอยจะทำให้แยกเด็กออกจากกันและทำให้เด็กส่วนใหญ่ก็ยังเรียนได้ปกติ มโนทัศน์การศึกษาต่อไปต้องมองว่าเปิดโลกการเรียนรู้บนฐานที่ปลอดภัยของสถานศึกษา บ้านพักเด็กทั่วประเทศ จะเป็นคำตอบสำคัญ สถานการณ์เด็กเยาวชนในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเปราะบาง ยากจน ยากจนพิเศษ ชายขอบ ยังไม่อยู่ในภาวะปกติและเสี่ยงมากๆ การฉีดวัคซีน การจ้างงานพ่อแม่ การมีอาสาสมัครไปช่วยเยียวยาจะทำให้เด็กฟื้นตัวดีขึ้น
ศาสตราจารย์ สมพงษ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ปิดเรียนและเด็กต้องอยู่ในชุมชนแออัดทำให้เกิดความเครียดสะสมแบบสามเส้า ทั้ง เด็ก พ่อแม่ผู้ปกครอง และ ครู เราจะทำอย่างไร กับความเครียดที่เด็กต้องเรียนรู้ใบงานมากมาย อยู่หน้าจอวันละ 7-8 ชม. ที่เด็กเอือมระอา แต่คนที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องการเรียนออนไลน์ใบงานได้เป็นเรื่องที่น่าคิด อีกทั้งเมื่อเปิดเทอม มีทั้งเด็กกำพร้า เด็กยากจนด้อยโอกาส และเด็กปกติที่เรียนด้วยกัน ครูจะมีวิธีการจัดการแนะแนวอย่างไร เยี่ยมบ้านเด็กอย่างไร หากไปเจอเด็กที่มีภาวะซึมเศร้าเกิดการสูญเสียจะประสานหน่วยงานไหนไปช่วยดูแล