สพฐ. ชู ร.ร.ราชประชานุเคราะห์ 37 เป็นต้นแบบลดความยากจน เล็งประสาน สอศ. ช่วยสร้างอาชีพ-เชื่อมโยงมิติใหม่การศึกษาขั้นพื้นฐาน
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 จังหวัดกระบี่ ซึ่งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ มีเป้าหมายในการจัดการเรียนการสอน คือ ให้เด็กด้อยโอกาส เด็กยากจน ได้รับโอกาสและได้รับความเท่าเทียมกันในด้านการศึกษา จากการลงพื้นที่ พบว่าโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 มีวิธีการบริหารจัดการเรียนการสอนที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ โดยโรงเรียนได้ให้โอกาส กับเด็กด้อยโอกาสในเขตพื้นที่บริการตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายให้เข้ามาเรียนน รวมถึงให้โอกาสทางการศึกษากับนักเรียนที่เคยอยู่ในสถานพินิจ ให้เด็กเหล่านี้กลับมาเรียนเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของตน
นายอัมพร กล่าวต่อว่า ในส่วนของการจัดการศึกษา พบว่าโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 เน้นการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งให้เด็กมีทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ มากกว่าทักษะวิชาการ เพื่อให้เด็กเรียนจบไปมีอาชีพ มีงานทำทันที ทั้งนี้โรงเรียนได้ปรับสภาพแวดล้อมให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนแห่งความสุขด้วย โดยออกแบบบ้านพักที่ดีสำหรับเด็ก มีอาหารกลางวันถูกหลักโภชนาการ การดูแลชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เพราะมีการดูแลระหว่างนักเรียนกับนักเรียน ระหว่างพี่กับน้อง ระหว่างครูกับนักเรียน และระหว่างผู้บริหารกับครู ที่ดี เมื่อเห็นภาพเช่นนี้แล้ว คิดว่า หากเราทำโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ที่เน้นสอนเด็กด้อยโอกาส ให้มีคุณภาพและมาตรฐานเดียวกัน จะทำให้ประเทศลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาได้เป็นอย่างดี รัฐมนตรีว่าการ ศธ. จึงมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำการบริหารจัดการของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 มาถอดบทเรียนเพื่อไปขยายผลให้เป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์อื่นๆ ได้ปฏิบัติตาม
“ผมจะนำหลักการที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้มอบให้ไว้มาปฏิบัติ มองว่า ต่อไป ผู้อำนวยการโรงเรียนที่จะมาดูแลโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ อาจจะต้องมาอบรมในโรงเรียนต้นแบบ เพื่อดูว่าโรงเรียนบริหารจัดหารอย่างไรถึงประสบความสำเร็จ เพื่อนำสิ่งที่ได้ไปพัฒนาโรงเรียนของตนต่อไป ทั้งนี้ ผมมองว่า ทิศทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ในอนาคจะไม่เน้นให้นักเรียน เรียนในห้องเรียน แต่จะเน้นสอนทฤษฎีที่จำเป็น และให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติ ซึ่งทำให้การเรียนการสอนแบบ Active Learning เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น และตอบโจทย์เรื่องลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส พัฒนาเด็กให้มีทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ซึ่งเด็กเหล่านี้จะเป็นต้นแบบหลุดพ้นจากความยากจน” นายอัมพร กล่าว
นายอัมพร กล่าวต่อว่า การสร้างทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต ให้นักเรียนในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ นั้น รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เน้นย้ำว่า สพฐ.และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ต้องสร้างสะพานเชื่อมโยงกัน และต้องไม่มีพรมแดนระหว่างกัน ตนได้หารือ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ. ที่ได้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ว่าควรสร้างมิติใหม่ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้สพฐ. และสอศ.สามารถทำงานเชื่อมต่อกันได้อย่างแท้จริง คือ ต่อไป สพฐ.จะเตรียมคนให้มีต้นทุน และพร้อมที่จะเรียนรู้ ส่วน สอศ.ไปต่อยอดให้มีอาชีพ มีงานทำ มีรายได้
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่