สัมภาษณ์พิเศษ : มณฑล ภาคสุวรรณ์ ปักธง..เพิ่มศักยภาพ ‘ร.ร.เอกชน’
หมายเหตุ – นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) “มติชน” ถือโอกาส สัมภาษณ์พิเศษ เปิดนโยบายแนวทางการจัดการศึกษาปัญหา อุปสรรค รวมถึง การพัฒนาโรงเรียนเอกชนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่วางไว้
๐น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มอบให้ขับเคลื่อนเรื่องใดเป็นเรื่องแรก?
“มอบให้สร้างความเข้มแข็งให้โรงเรียนเอกชน โดยนำข้อเรียกร้องต่างๆ มาพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอุดหนุนของโรงเรียนทั่วไป รวมถึง มีความห่วงใยโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในภาคใต้ ที่ให้ลงไปดูว่ามีเรื่องใดที่ต้องส่งเสริมสนับสนุน ให้ตรงกับความต้องการของโรงเรียนแต่ละประเภท ขณะเดียวกันยังให้เร่งแก้ปัญหาที่คั่งค้าง อาทิ กรณีโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ที่ได้ตั้งคณะกรรมการควบคุมเข้าไปบริหารจัดการนานกว่า 3 ปีแล้ว แต่ปัญหาก็ยังไม่จบ ดังนั้น ผมคงต้องเร่งแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด”
๐เป็นลูกหม้อ สช.อยู่แล้ว ได้กลับมารู้สึกอย่างไร?
“ดีใจที่ได้กลับมาในที่ที่เติบโต จะตั้งใจทำงานให้เต็มที่เท่าที่จะทำได้”
๐ปัญหาใหญ่ของ สช.เรื่องใดที่ต้องเร่งแก้ไข?
“ผมมาทำงานที่ สช.ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ อดีตรัฐมนตรี และอดีตเลขาธิการ กช.หลายคน ได้วางระบบ และดำเนินการมาระดับหนึ่ง ทำให้การศึกษาเอกชนก้าวหน้าไปมาก ที่สำคัญโรงเรียนเอกชนก็พัฒนาศักยภาพจนแข่งขัน และดึงดูดให้คนเข้ามาเรียนได้ ดังนั้น สิ่งที่จะทำคือสานต่อ และต่อยอดงานเดิมที่มีอยู่ ยึดแนวทางใน 3 มิติ มิติที่ 1 ผู้เรียน ยึดเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ และจุดเน้นนโยบายของ ศธ.เป็นหลัก อยากเห็นผู้เรียนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ เติบโตไปเป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ โดย สช.จะเข้าไปเสริมเติมเต็มในเรื่องหลักสูตร การเรียนการสอน ที่สำคัญคือการสร้างภูมิคุ้มกันในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด หรือภัยที่เกิดจากอินเตอร์เน็ต
มิติที่ 2 ประสิทธิภาพของโรงเรียนเอกชน ที่ต้องแข่งขันได้อย่างมีคุณภาพ สิ่งที่ต้องทำคือผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. … เพื่อปลดล็อกปัญหาต่างๆ สร้างขวัญกำลังใจให้ครู และบุคลากรทางการศึกษา ทั้งหมดนี้จะต้องรอความชัดเจนของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ หากผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จะปรับแก้ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนให้สอดคล้อง เป็นกลไกหลักที่จะช่วยให้โรงเรียนเอกชนเข้มแข็ง รวมถึง จะไปช่วยการลดหย่อนภาษีให้แก่สถานศึกษาทั้งในระบบ และนอกระบบ โดยเฉพาะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่โรงเรียนนอกระบบยังไม่ได้การลดหย่อนภาษีเท่าที่ควร โดยจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนนอกระบบต่อไป
และมิติที่ 3 ด้านการบริหารจัดการ ต้องปรับมุมมองให้ประชาชนมองโรงเรียนเอกชนในเชิงบวก ช่วยรัฐจัดการศึกษา ไม่ใช่เข้ามาเป็นภาระ กลไกสำคัญคือ คณะกรรมการ กช.ที่จะมีบทบาทส่งเสริมสนับสนุน”
๐การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้โรงเรียนปิดกิจการจำนวนมาก?
“ยังไม่ได้สำรวจตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่ยอมรับว่ามีโรงเรียนที่ต้องปิดกิจการไปบ้าง รวมถึง ยังมีปัญหาผู้ปกครองค้างเงินบำรุงการศึกษาจำนวนมาก ซึ่ง สช.มีกองส่งเสริมโรงเรียนในระบบ เพื่อให้โรงเรียนกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ส่วนแนวทางการช่วยเหลือ คงต้องให้สถานศึกษาทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายไปแล้วส่วนหนึ่ง เป็นเงินรายละ 2,000 บาท แม้ไม่ใช่เงินจำนวนมาก แต่ก็ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องอื่น เชื่อว่าโรงเรียนเองก็มีมาตรการยืดหยุ่นให้ผู้ปกครองพอสมควร ขณะเดียวกัน สช.มีกลไกเปิดให้กู้ยืมกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ อีกทั้ง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ยังเสนอเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว เพื่อให้โรงเรียนมีทรัพยากรเพิ่มมากขึ้นด้วย”
๐มีเรื่องใดที่ตั้งใจจะผลักดันให้เกิดในช่วงที่เป็นเลขาธิการ กช.?
“จะผลักดัน 3 มิติที่กล่าวมาในข้างต้น อยากเห็นโรงเรียนเอกชนแข่งขันในเชิงคุณภาพได้ จากที่ผ่านมาจะถูกมองในเชิงธุรกิจการศึกษา ซึ่งเท่าที่สัมผัส ผู้เข้ามาทำธุรกิจโรงเรียน ส่วนหนึ่งมาเพื่ออุดมการณ์ ด้วยใจรัก ต่อเนื่องจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ คงไม่ใช่การแสวงหากำไร จนไม่มีลิมิต เพราะโรงเรียนเอกชนที่ได้รับเงินอุดหนุน จะถูกกำหนดเพดานค่าธรรมเนียมไว้ แต่ต้องยอมรับว่าโรงเรียนนานาชาติ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเปิดรับนักเรียนจากประเทศต่างๆ โดยรอบเข้ามาเรียน”
๐โรงเรียนนานาชาติ มีข้อเสนออะไรบ้าง?
“โรงเรียนนานาชาติจะมีบริบทที่ไม่เหมือนกับโรงเรียนสามัญทั่วไป เช่น การนำครูต่างชาติเข้ามาสอน จำเป็นที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ตามที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภากำหนด ขณะที่ระดับสากลหลายประเทศ เปิดโอกาสให้ใช้ใบรับรองจากประเทศต้นทางได้ และการนำครูที่เชี่ยวชาญเฉพาะมาสอน เช่น ดนตรี กีฬา ฯลฯ ซึ่งบางครั้งครูเหล่านั้นไม่ได้จบในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์โดยตรง และไม่ใช่แค่ครูต่างประเทศเท่านั้นที่พบปัญหานี้ ครูอาชีวศึกษาก็มีปัญหา เช่น อยากได้ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโดยตรงมาสอน ก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีใบอนุญาตฯ ดังนั้น โรงเรียนนานาชาติจึงอยากให้คุรุสภาวางแนวทางที่สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน โดยอยากให้อนุโลมใช้ใบรับรองจากประเทศต้นทางได้ โดยไม่ต้องสอบเทียบมาตรฐานกับทางคุรุสภา ทราบว่าโรงเรียนนานาชาติได้หารือคุรุสภาโดยตรงแล้ว
ส่วน สช.เองจะช่วยผลักดันในส่วนที่ทำได้ อาทิ กรณีครูที่สอนโรงเรียนเอกชนที่ยังไม่มีใบอนุญาตฯ อาจอนุโลมให้ใช้ประสบการณ์สอนในการเทียบโอนเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ หากครูรายใดสอนมาเป็นเวลานานกว่า 8 ปีแล้ว จะขอให้อนุมัติใบอนุญาตฯ อัตโนมัติ หรือให้สอบเป็นกลุ่มเฉพาะ ที่ไม่ใช่ต้องกลับไปเรียนประกาศนียบัตรบัณฑิต หรือ ป.บัณฑิต เป็นภาระกับครู ตรงนี้ผมเคยผลักดันมารอบหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จ คิดว่าเมื่อได้มาทำหน้าที่เลขาธิการ กช.จะลองผลักดันเรื่องนี้อีกครั้ง
นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมโรงเรียนนอกระบบที่สอนวิชาชีพ ซึ่งปัจจุบันมีความสำคัญ ต้องไปดูเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทุกอย่างได้มอบให้คณะอนุกรรมการการศึกษาเอกชนแต่ละด้าน ศึกษาข้อมูล เพื่อเสนอคณะกรรมการ กช.พิจารณาเห็นชอบในหลักการ เพื่อเดินหน้าขอความร่วมมือ เพื่อปลดล็อกเรื่องต่างๆ เหล่านี้ต่อไป ขณะเดียวกันจะพยายามจะไม่ออกกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นภาระให้กับโรงเรียนเอกชนด้วย”
๐มีเรื่องอะไรที่หนักใจ?
“มายเซ็ทของคนใน และคนนอก สช.ที่มักจะมองว่าโรงเรียนเอกชนเป็นธุรกิจการศึกษา อยากให้เข้าใจ และยอมรับว่า บางอย่างเป็นปัญหาเชิงระบบ แต่จะพยายามทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานให้ใกล้ชิดมากขึ้น”
๐ข้อเรียกร้องของสถานศึกษาอาชีวะเอกชนที่ขอกลับมาอยู่กับ สช.?
“ช่วงที่อยู่ในตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องนี้ ซึ่งเชื่อมโยงกับการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ. … ขณะเดียวกัน ยังมีเรื่องสิทธิประโยชน์ ทั้งค่ารักษาพยาบาล เงินอุดหนุน กองทุนต่างๆ ที่ยังผูกติดกับ สช.ที่ต้องดำเนินการให้เป็นธรรม ส่วนจำเป็นจะต้องกลับมาสังกัด สช.หรือไม่นั้น ควรต้องคุยกันให้ชัดเจน เพราะช่วงที่ย้ายไปอยู่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ก็ใช้วิธีการโหวต ดูข้อดี ข้อเสีย และเห็นว่าจะพัฒนาการจัดการอาชีวะทั้งระบบได้ เกิดการแชร์ทรัพยากรร่วมกัน
ดังนั้น หากจะกลับมาอยู่กับ สช.ต้องดูข้อดี ข้อเสีย ว่า 6 ปีเพียงพอที่จะพิสูจน์หรือไม่ว่าการดำเนินการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หากคิดว่ายังไม่เพียงพอ อาจต้องเดินหน้าต่อไปกับ สอศ.”