ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการะทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระดมหารือเตรียมความพร้อม บูรณาการการทำงาน ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุ รวมทั้งเตรียมแนวทาง มาตรการ และการดำเนินการเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจากที่หลายๆ หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน เริ่มจะกลับเข้าทำงานที่สถานที่ตั้งหรือออฟฟิศ ตามปกติ รวมทั้งโรงเรียนต่างๆ ที่เริ่มจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนตามปกติ (On Site)
ในวันที่ 7 ก.พ. 2565 มีหลายโรงเรียนสังกัด สพฐ. ในกรุงเทพมหานครที่จะกลับมาเปิดเรียน โดยกลุ่มนักเรียนที่จะกลับมาเรียนที่โรงเรียนแบบ On Site ส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ตั้งแต่ชั้น ม.1 – ม.6 เนื่องจากนักเรียนกลุ่มนี้ได้รับวัคซีนป้องกันโควิดแล้ว แต่การกลับมาเรียนที่โรงเรียนจะไม่ได้เป็นแบบเต็มชั้นเรียน ทางโรงเรียนจะให้นักเรียนแต่ละห้องสลับวันกันมาเรียน ครึ่งหนึ่งเรียนที่โรงเรียน และอีกครึ่งหนึ่งก็จะเรียนออนไลน์ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในช่วงที่ยอดผู้ติดเชื้อกลับมาทะลุหมื่นอีกครั้ง
โดยกระทรวงศึกษาธิการ รายงานว่า ขณะนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีการฉีดวัคซีนเข็มแรกไป 99% และเข็ม 2 กว่า 80% เช่นเดียวกับนักเรียนในกลุ่มอายุ 12-17 ปี 11 เดือน 29 วัน ที่ได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกและเข็ม 2 ไปแล้วกว่า 80% ซึ่งโรงเรียนที่จะเปิดทำการเรียน onsite ได้นั้น ต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
ในส่วนของเด็กเล็กอายุ 5-11 ขวบ ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษา โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครจะยังคงให้เรียนออนไลน์ไปก่อน เนื่องจากกลุ่มเด็กเล็กทั่วไปยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีเพียงกลุ่มเด็กเล็กทีมีโรคประจำตัวที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว คาดว่าวัคซีนสำหรับเด็กเล็กทั่วไปซึ่งเป็นล็อตที่สอง จะมาถึงประเทศไทยภายในเดือน ก.พ. 2565 นี้
และจากนโยบายรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ในการสนับสนุนการเปิดเรียน On Site เพื่อให้นักเรียนได้เข้ารับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ในบรรยากาศและสภาพแวดล้อม ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ได้ดีขึ้นอย่างปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย จะร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ ทำให้นักเรียนมีความปลอดภัยสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรณรงค์เรื่องฉีดวัคซีนให้ครบตามเป้าหมาย ซึ่งขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้ใช้ทุกกลไกในระดับพื้นที่ ดำเนินการสำรวจประชาชนที่ได้รับวัคซีนและยังไม่ได้รับวัคซีนในทุกครัวเรือน ผ่านแพลตฟอร์ม jitasa.care ซึ่งจะทำให้ทราบว่าสมาชิกในครัวเรือนบ้านใดยังไม่ได้รับวัคซีน เพื่อจะได้รณรงค์ให้ตัวเด็ก ผู้ปกครอง รวมถึงสมาชิกในครอบครัวได้เข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 อันเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคตามเป้าหมายที่ ศบค. กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุขกำหนด