เริ่มพัฒนาทักษะผู้ได้รับการจ้างงานผ่านระบบออนไลน์ก่อนทยอยลงพื้นที่จัดทำข้อมูลชุมชนใน 5 มิติ ได้แก่ สุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการภาครัฐ ผ่านแอพ U2T
จันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 16.09 น.
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ อว.ได้จัดวางโรดแม็พโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T เบื้องต้นในด้านการจ้างงาน ได้เริ่มการจ้างงาน 60,000 คน เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 และประมาณ 15,000 คน ได้เริ่มการพัฒนาทักษะการทำงานในด้านต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการใช้เทคโนโลยี ด้านการเงิน ด้านภาษาอังกฤษ และด้านสังคม ซึ่งตามแผนงานนั้นคาดว่าคน 60,000 คน จะได้รับการฝึกอบรมพัฒนาทักษะให้แล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.2564 นอกจากนี้คนที่ได้รับการจ้างงานยังจะได้รับการพัฒนาทักษะเฉพาะด้านที่สอดคล้องกับงานพัฒนาชุมชน ซึ่งจะทยอยฝึกอบรมในสถานที่จริงตลอดระยะเวลาการทำงาน 1 ปี
รองปลัด อว.กล่าวต่อไปว่า ด้านการจัดทำข้อมูลชุมชน ในเดือน ก.พ.นี้ จะจัดทำข้อมูลตำบล เพื่อวัดประสิทธิภาพและศักยภาพของชุมชนใน 5 มิติ ได้แก่ สุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการภาครัฐ เพื่อวิเคราะห์ความเข้มแข็งหรืออ่อนแอของตำบลนั้นๆ ในมิติต่างๆ ก่อนจะนำมาปรับแผนหรือทบบทวนแผนยกระดับเศรษฐกิจและสังคมให้สอดรับกับข้อมูลของชุมชน การทำข้อมูลตำบลนี้จะทำซ้ำอีกครั้งในเดือน มิ.ย.2564 เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของตำบล และจะทำการวัดอีกครั้งเมื่อสิ้นสุดโครงการ ทั้งยังจะจัดเก็บข้อมูลชุมชนที่สะท้อนประสิทธิภาพและศักยภาพตำบล เพื่อจัดเก็บลงในระบบการจัดเก็บข้อมูล หรือ Data Lake ผ่าน application U2T ในสมาร์ทโฟน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือน มี.ค.2564 โดยเก็บข้อมูลเป็นกลุ่ม เช่น กลุ่มข้อมูลด้านการท่องเที่ยว กลุ่มข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ กลุ่มข้อมูลด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรม และกลุ่มข้อมูลด้านชุมชนเมืองของตำบล เป็นต้น ทั้งนี้จะทำการจัดเก็บข้อมูลลง Data Lake ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้
ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวอีกว่า ส่วนด้านกิจกรรมยกระดับเศรษฐกิจและสังคมนั้น แต่ละมหาวิทยาลัยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 ก.พ.2564 และจะทบทวนปรับปรุงแผนเป็นระยะๆให้สอดรับกับความจำเป็นและความต้องการของชุมชน โดยกิจกรรมต่างๆ นั้นจะแบ่งเป็นกรอบใหญ่ๆ เช่น กิจกรรมในด้านการพัฒนาสัมมาชีพ การพัฒนาการท่องเที่ยว การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือการพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นต้น โดยกิจกรรมในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมนี้ จะดำเนินการผ่านคนที่ได้รับการจ้างงานภายใต้การชี้แนะให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ภายใต้ U2T มหาวิทยาลัยสู่ตำบล จะมีการดำเนินการที่เรียกว่าแฮกกาธอน (Hackathon) โดยให้ผู้ได้รับการจ้างงานจะนำโจทย์หรือปัญหาของชุมชนมาหาแนวทางในแก้ปัญหาผ่านกระบวนการแฮกกาธอน ซึ่งคาดว่าเริ่มดำเนินการในเดือน มี.ค.นี้
คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่
-
เห็นด้วย
0%
-
ไม่เห็นด้วย
0%