เน็ตฟลิกซ์ประกาศแล้วว่าซีรีส์เรื่อง “Sex Education” ที่เล่าเรื่องราวความรักความสัมพันธ์และมุมมองทางเพศของกลุ่มนักเรียนมัธยมในแง่มุมที่ก้าวหน้าและหลากหลายจะกลับมาฉายสตรีมมิ่งในซีซั่น 3 วันที่ 17 กันยายนนี้
“Sex Education” เป็นอีกหนึ่งซีรีส์วัยรุ่นที่ได้รับคำชมจากคนดูและนักวิจารณ์อย่างมาก ด้วยพล็อตที่กล้าพูดเรื่องราวประสบการณ์ทางเพศแบบโจ่งแจ้งตลกร้าย แต่ไม่ได้เลอะเทอะหาสาระไม่ได้ หากแต่การเล่าเรื่องตลกร้าย หรือการพูดถึงเรื่องราวทางเพศอย่างตรงไปตรงมายิ่งถูกใจคนรุ่นใหม่ยุคที่พูดอะไรกันตรงๆ ที่สำคัญความตรงที่ซีรีส์บอกเล่านั้นก็มีสาระและแง่คิดสะท้อนกลับมาที่คนดูไม่ใช่เล่น เพราะปัญหาของวัยรุ่นที่กำลังเติบโตเหมือนกันทั้งโลกก็หนีไม่พ้น ปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อน แฟน และครอบครัว
และไม่ใช่เพียงซีรีส์วัยรุ่นอยากรู้อยากลอง หรือวัยคะนองสงสัยเรื่องทางเพศแค่นั้น แต่มันได้พูดถึงเรื่องราวที่ลึกซึ้งกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวความต้องการทางเพศของวัยรุ่น ปัญหาความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง ความไม่ลงรอยกับคนในครอบครัว การทำแท้ง การเป็นเกย์ เลสเบี้ยน ความแตกต่างด้านเชื้อชาติ เรื่องราวระหว่างชนชั้น การกลั่นแกล้ง (bully) ในโรงเรียน เป็นต้น
เรื่องราวใน “Sex Education” ตลอด 2 ซีซั่นที่ผ่านมาจึงมีมิติที่กว้างไกลมากกว่าแค่ละครวัยรุ่นที่อาจจะมีเรื่องราวชวนหัวสัปดนอยู่บ้าง แต่เนื้อแท้และแก่นในของซีรีส์มีวิธีที่จะพูดถึงเรื่องราวทางเพศ และปัญหาความสัมพันธ์รอบตัวเหล่าวัยรุ่นโดยเน้นไปที่ช่วง “ก้าวผ่าน” และ “เปลี่ยนผ่าน” ของชีวิตวัยรุ่นมัธยมปลายที่หลายครั้งหลายพวกเขาก็เริ่มก้าวขาข้างหนึ่งมาสู่ความสัมพันธ์หรือโลกแบบผู้ใหญ่อยู่บ้าง โดยแต่ละตอนจะพาเราไปรู้จักวัยรุ่นในแบบต่างๆ กับสถานการณ์ที่พวกเขาต้องเผชิญ ผ่านเรื่องราวชวนหัว วุ่นวาย สนุกสนาน และแน่นอนเป็นความจริงในสังคมวัยรุ่นยุคนี้
ตัวละครหลักในซีซั่น 1 และ 2 คือ “โอทิส” เด็กหนุ่มมัธยมปลาย ที่มีพ่อแม่เป็นนักวิชาการสาขาเชี่ยวชาญด้านการบำบัดปัญหาทางเพศ ซึ่งโอทิสเองก็มีปัญหาส่วนตัวทางเพศที่ไม่กล้าปรึกษาพ่อแม่ได้นอกจากเพื่อนสนิท และที่ตลกร้ายคือ โอทิสที่ภายนอกดูเป็นเด็กทั่วไปไม่ได้โดดเด่นป๊อปปูลาร์ในโรงเรียน กลับกลายเป็นที่ปรึกษาเรื่องลับๆ ให้กับเพื่อนนักเรียนเกือบทั้งโรงเรียน ด้วยพรสวรรค์ที่เข้าอกเข้าใจผู้คนได้ลึกซึ้ง ช่วยให้คำแนะนำกึ่งบำบัดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนๆ ในโรงเรียน ไปจนถึงให้คำปรึกษาปัญหาทางเพศ
แต่ขณะที่โอทิสสามารถช่วยเยียวยาความสัมพันธ์ให้เพื่อนๆ ได้ แต่ตัวเขากลับต้องมาสะดุดขากับการสานสัมพันธ์ของตัวเองกับ “เมฟ” เพื่อนในโรงเรียนเดียวกัน เด็กสาววัยรุ่นลุคพังก์ กร้านโลก ที่ถูกตัดสินจากสังคมในโรงเรียนว่าเป็นสาวใจแตก บ้านแตกสาแหรกขาดแม่ติดคุก พี่ชายเป็นเด็กเดินยา ชีวิตปากกัดตีนถีบที่ทำให้เธอเหมือนไม่มีอนาคต แต่เนื้อแท้ “เมฟ” ก็เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่ถูกตัดสินจากสภาพครอบครัวและสิ่งแวดล้อมของตัวเอง แต่นั่นไม่อาจตัดสินได้ว่าเธอเป็นคนประเภทไหน แม้ “เมฟ” เป็นเด็กหัวกะทิของโรงเรียน แต่ด้วยชีวิตที่ต้องเลี้ยงตัวเองส่งผลให้เธอขาดโอกาสในหลายอย่าง รวมทั้งขาดความมั่นใจว่า สังคมและที่ที่เติบโตมาย่อมไม่อาจมีสิ่งดีๆ เหลือไว้ให้ ซึ่งโอทิสได้เข้ามาหยิบยื่นมิตรภาพความเข้าใจและไม่ตัดสินใดๆ ในตัวเมฟ
ขณะที่อีกหนึ่งตัวละครหลักที่มีมิติและเส้นเรื่องน่าสนใจคือ “อีริค” เพื่อนสนิทของโอทิส ซึ่งเป็นเกย์ผิวสี มาจากครอบครัวอพยพในแอฟริกา ซึ่งอีริคก็เป็นตัวละครที่มีการพัฒนาการและซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ จากซีซั่น 1 และ 2 ด้วยคาแร็กเตอร์หนุ่มสดใสที่มีความมั่นใจในตัวเอง และไม่ได้อำพรางปิดบังตัวตนความเป็นเพศที่สามของเขาเลย แม้จะถูกบูลลี่กลั่นแกล้งจากเพื่อนในโรงเรียนก็ตาม
ในแต่ละซีซั่นตัวละครนักเรียนมัธยมปลายในเรื่องจะค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้น และน่าสนใจขึ้นเรื่อยๆ จากซีซั่น 1 ถึง 2 เรื่องราวจะขยายให้เราไปรู้จักตัวละครนักเรียนวัยรุ่นคนอื่นๆ มากขึ้นเพื่อให้ทำความเข้าใจเรื่องราวของพวกเขาที่ต่างก็มีปัญหาหลากหลาย
ในซีซั่น 3 ที่กำลังจะเปิดให้ชมสตรีมมิ่งทางเน็ตฟลิกซ์ 17 กันยายนนี้ จะคลี่คลายปมที่ค้างไว้ในซีซั่นก่อน เริ่มตั้งแต่เส้นเรื่องของ “โอทิส” และ “เมฟ” ที่จะสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ได้สำเร็จหรือไม่ ขณะที่ “อีริค” จะเข้าสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่จริงจังมากขึ้นกับเพื่อนนักเรียนหนุ่มที่ไม่ยอมรับตัวเอง และเส้นเรื่องรองแต่บทเด่นอย่าง “จีน” แม่ของโอทิสที่อลหม่านกับความสัมพันธ์ที่เริ่มไม่ธรรมดาจะไปต่ออย่างไร
Sex Education ซีซั่น 3 นี้ จะมีการขยายบทให้ตัวละครในโรงเรียนมากขึ้น และมีตัวละครใหม่ๆ เข้ามาเสริมเรื่องให้กระจายบทได้หลากหลายเพื่อสะท้อนให้เห็นปมปัญหาวัยรุ่นที่ก็มีสารพัดอย่าง
แน่นอนว่าความคาดหวังในซีซั่น 3 ก็ยังคงอยากเห็นความกล้าเล่นกล้าเล่าของซีรีส์เรื่องนี้เช่นเคย ด้วยความที่เป็นหนึ่งในซีรีส์ขวัญใจคนดูที่ชมกันปากต่อปาก ใช้อารมณ์ขันในแบบตลกร้ายมาเป็นตัวดำเนินเรื่องอย่างมีชั้นเชิง พาเราไปดูสังคมและความสัมพันธ์ในโรงเรียนมัธยมที่มีความแตกต่างหลากหลาย พร้อมกับที่พูดถึง “ปัญหาสุขภาพทางเพศ” ที่เกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัยในชีวิต แม้ฉากหน้าของเรื่อง และชื่อของซีรีส์ที่แปลกันตรงตัวว่า “เพศศึกษา” จะชวนให้มโนไปได้ว่าเนื้อเรื่องจะเต็มไปด้วยความทะลึ่งตึงตัง ซึ่งก็มีอยู่บ้างเพื่ออรรถรส แต่เนื้อแท้ของซีรีส์เรื่องนี้เล่าเรื่องความหลากหลายของวัยรุ่นได้โดยไม่สั่งสอน หรือตัดสินใดๆ
เพราะที่สุดพวกเขาก็ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ทั้งดีทั้งร้ายเพื่อเตรียมพร้อมสู่โลกของผู้ใหญ่นั่นเอง
(ภาพประกอบ Youtube Video / Netflix)