กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ 11 เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง ซึ่งมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจ จำนวน 659 แห่งทั่วประเทศ จัดเสวนาออนไลน์ “โรงเรียนเปลี่ยนใหม่ ปิด Gap ห้องเรียนยุคโควิด-19 ครั้งที่ 1” ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และประธานอนุกรรมการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ กล่าวว่า Learning Loss ภาวะการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning Gap ช่องว่างการเรียนรู้ เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทย มานาน และมากกว่าที่เกิดขึ้นจากโควิด -19 แต่หลายฝ่ายไม่รู้ตัว เป็นช่องว่างที่ทำให้เด็กไม่ได้รับการพัฒนา เรียนรู้ได้ไม่เต็มศักยภาพ นักเรียนแต่ละคนมีพื้นฐานแตกต่างกัน ถ้าไม่ระวังจะมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ไม่บรรลุเป้าหมายการเรียนรู้และไม่ได้รับการดูแล
เป็นช่องว่างที่ต้องปิด เพื่อทำให้อย่างน้อยนักเรียนทุกคนต้องบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ขั้นต่ำ เป็นเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศมีคุณภาพการศึกษาดีทำได้ ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ความเชื่อและเปลี่ยนระบบ ซึ่งเป็นเป้าหมายของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง ที่กสศ.ร่วมกับ สพฐ. ตชด. อปท. สช. และ11เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง
อย่างไรก็ตามการจะเดินหน้าการศึกษาไทยให้ไร้ช่องว่าง จำเป็นต้องอาศัยเวลา เช่น ประเทศฟินแลนด์ ใช้เวลากว่า 30 ปี จัดระบบที่ให้นักเรียนไม่ว่าอยู่ห่างไกลแค่ไหน ต้องได้รับการศึกษาที่คุณภาพเท่าเทียมกัน เรื่องนี้สามารถทำได้ในประเทศไทย อย่างไรก็ตามการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าครูไม่เรียนรู้จากการทำหน้าที่ของตน นี่คือหัวใจ ในโลกปัจจุบันการศึกษา การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนมากทั้งมุมของเด็ก และครู ดังนั้นแม้ครูเรียนมาจากสถาบันที่เก่งเท่าไหร่ พอมาทำงาน ความรู้ประสบการณ์เหล่านั้นไม่พอ ต้องเรียนรู้เพิ่ม ต้องเรียนรู้จากการทำหน้าที่ครู ครูต้องเป็นนักเรียน เรียนจากการทำงานในหน้าที่ครู เรียนร่วมกัน ดังนั้นโรงเรียนต้องเป็นชุมชนการเรียนรู้ทั้งของครูและของศิษย์
เชื่อว่าผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กไม่มีวันเต็ม100% เด็กแต่ละคนเต็มไม่เท่ากัน ขณะนี้โดยเฉลี่ยของเด็กไทย น่าจะไม่ถึง 30% เด็กเก่ง อาจไม่ถึง 80-90% แต่จะมีเด็กบางคนอาจได้แค่10-20% เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ครู โรงเรียน มีโอกาสที่จะพัฒนาอีกมากมาย ช่วยกันหาทาง เพื่อให้นักเรียน เรียนรู้ เต็มศักยภาพยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนดี เกิดแรงบันดาลใจหลายอย่างให้กับเด็ก ๆ ขณะที่ผู้บริหารต้อง Empower ครู ไม่ใช่สั่งการครู ทำให้ครูมีพลังขึ้นมา เพื่อจะทำงานพัฒนา ครูจะเป็นผู้มีส่วนร่วมพัฒนาระบบการศึกษาในทุกระดับ ไม่ใช่แค่ผู้รอรับคำสั่งจากเบื้องบนเท่านั้น ขณะที่อีกสิ่งที่น่ากังวล คือ เด็กเรียนไม่ทัน ทำให้ยิ่งหลุดจากระบบการศึกษา แนะนำให้โรงเรียนใช้ 5 มาตรการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยรับเปิดเทอม เน้นประเมินและช่วยเด็กเป็นรายคน
ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร CEO Starfish Education หนึ่งในเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) กล่าวว่า เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเองจึงพยายามใช้มาตรการที่ลดช่องว่างการเรียนรู้ให้มากที่สุดในช่วงโควิด-19 เพราะสิ่งที่เรากังวลคือการที่เด็กหลุดออกนอกระบบ การฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย ดังนั้นการเปิดเทอมจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ ไม่ใช่เพียงแค่แผนการสอน
สำหรับมาตรการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย มี 5 ด้าน สำคัญ ได้แก่ 1.การประเมินสภาพแวดล้อมเด็กและครอบครัวทั้งระบบ ผู้ปกครองและครูสามารถช่วยกันประเมินความพร้อมของเด็กเป็นรายคน เช่น งานวิชาการบางอย่างเด็กเคยทำได้แต่วันนี้กลับทำไม่ได้ สภาพชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจของครอบครัว การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต 2.การวางแผนของโรงเรียนทั้งระบบ เพื่อฟื้นฟูการเรียนถดถอย เรื่องนี้ไม่สามารถทำแค่ครูบางคน บางชั้นเรียน เพราะเด็กทุกคนได้รับผลกระทบทั้งหมด ดังนั้น ต้องวางแผนระดับโรงเรียน ทั้งระบบงาน มีทีม ทรัพยากร และงบประมาณ 3.สนับสนุนเครื่องมือและการพัฒนาครู เช่น พัฒนาศักยภาพและสนับสนุนเครื่องมือเพื่อประเมินช่องว่างการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับเด็กรายคน และจัดการเรียนการสอนช่วยเด็กๆได้ รวมถึงการสร้างสื่อการเรียนรู้ 4.การช่วยเหลือนักเรียนรายบุคคล เพราะสถานการณ์ที่บ้านของเด็กมีความต่างกัน ต้องประเมินเพื่อจัดการเรียนการสอนเป็นรายบุคคล หรืออย่างน้อยที่สุดจัดการเรียนการสอนเป็นรายกลุ่มเพราะเราไม่สามารถใช้แผนเดียวทั้งห้องเรียนได้ 5.การติดตามและปรับปรุง ต้องทำในระยะสั้น ทำไปปรับไป เพื่อให้ทันสถานการณ์
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวถึง หลายประเทศให้ความสำคัญกับการวัดและประเมินผลเพื่อการพัฒนา (Formative Assessment) เพราะเด็กกลับมาด้วยพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกัน ครูต้องสามารถประเมินรายคนได้ ควรได้รับการติดตามและเยียวยาเป็นรายบุคคลจนพัฒนาการกลับเข้าสู่ภาวะปกติ มีตัวอย่างนโยบายในระดับชาติที่น่าสนใจจำนวนมากเพื่อลดช่องว่างการเรียนรู้ เช่น โครงการ Teach at the Right Level (TRL) ขององค์กร Pratham ในอินเดีย ประเมินความรู้ของเด็กว่าอยู่ที่ระดับไหนเพื่อสอนให้เด็กคนนั้นฟื้นฟูความรู้กลับมา และสร้างอาสาสมัครชุมชน ช่วยสอนเสริมให้เด็กที่เรียนตามไม่ทัน
ขณะที่ในเอเชียใต้ แอฟริกา ก็ใช้อาสาสมัคร ช่วยสอน เพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้อง ติดตามเพื่อนกลับเข้าห้องเรียน องค์กร BRAC ในบังคลาเทศ มีโครงการ Pashe Achhi หรืออยู่ข้างคุณ ช่วยเหลือสนับสนุนดูแลสุขภาพจิต (Psychosocial) โดยการโทรศัพท์ไปคุยเพื่อสำรวจให้กำลังใจ ผู้ดูแลและพ่อแม่เด็กทุกสัปดาห์ สำหรับประเทศที่มีงบประมาณจำนวนมาก เช่น อังกฤษ รัฐบาลตั้งกองทุนงบประมาณ 1 พันล้านปอนด์ ชื่อ educational catch-up initiatives เพื่อให้โรงเรียนได้นำไปใช้ให้มั่นใจว่านักเรียนสามารถฟื้นตัวกลับมาได้
นอกจากนี้รัฐบาลยังจัดให้มีโครงการ National Tutoring Programme โดยโรงเรียนสามารถจ้างติวเตอร์เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่มีช่องว่างการเรียนรู้ มีการจัด in-house mentor ให้กับกลุ่มนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ยากลำบาก ซึ่งผู้มาเป็น mentor จะต้องผ่านการอบรมเป็นการเฉพาะ รวมถึงกลุ่มนักศึกษาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ขณะที่เวลส์ มีการรับสมัครครู และผู้ช่วยสอนเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยเหลือนักเรียน และกลุ่มด้อยโอกาส เปราะบางในทุกกลุ่มอายุ “ชู นวัตกรรม กล่องการเรียนรู้ ช่วยลดช่องว่าง กลุ่มเข้าไม่ถึงออนไลน์ ส่งผลนักเรียนมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ