รศ. ดร.สราวุธ สังข์แก้ว อาจารย์ภาควิชชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทีมผู้เชี่ยวชาญไผ่จากองค์กรต่างๆ ประกอบด้วย Dr.Weilim Goh Mr. Kok Sim Chan และ Mrs. Yi Xian How จาก Universiti Tunku Abdul Rahman ประเทศมาเลเซีย ดร.อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ Dr. Dieter Ohrnberger ผู้เชี่ยวชาญไผ่ของโลก ผู้เขียนหนังสือ The bamboos of the world และ Dr. Khoon Meng Wong สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ ประเทศสิงค์โปร์ ได้ร่วมกันศึกษาไผ่เลี้ยง ซึ่งเดิมคาดว่าเป็นลูกผสม (hybrid) และได้มีการศึกษาในเบื้องต้นไว้ก่อนแล้ว
ทั้งนี้ ดร.จักรพงษ์ รัตนมณี จากคณะเทคโนโลยีการเกษตรมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว โดยใช้เครื่องมือทางด้านชีววิทยาโมเลกุล พบว่า ไผ่เลี้ยง แท้จริงแล้วเป็นลูกผสมจากไผ่ต่างสกุลกัน (Intergeneric hybrid) โดยเป็นลูกผสมระหว่างไผ่รวก (Thyrsostachys siamensis Gamble) และไผ่ซางนวล (Dendrocalamus membranaceus Munro) ทำให้มีสกุลของลูกผสมสกุลใหม่ (nothogen. nov.) เกิดขึ้นชื่อว่า ×Thyrsocalamus Sungkaew & W.L. Goh และมีชนิดของลูกผสมชนิดใหม่ (nothosp. nov.) ชื่อว่า ×Thyrsocalamus liang Sungkaew & W.L. Goh โดยคำระบุชนิด (specific epithet) ว่า “liang” มาจากภาษาไทยที่มักใช้เรียกไผ่ชนิดนี้ว่าไผ่ “เลี้ยง” ผลงานวิจัยครั้งนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชื่อ Phytotaxa เมื่อ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 (DOI: http://dx.doi.org/10.11646/phytotaxa.362.3.3)
ไผ่เลี้ยง เป็นไผ่ที่ใช้ประโยชน์กันอย่างกว้างขวางทั้งหน่อ ลำ และปลูกเป็นไม้ประดับ แต่เดิมมักมีการใส่ชื่อพฤกษศาสตร์ให้กับไผ่เลี้ยงผิด เช่น Bambusa multiplex Schultes & Schultes หรือ Bambusa nana Roxburg เป็นต้น ทำให้เกิดความสับสนและ/หรือสื่อสารกันผิดไปในเชิงวิชาการ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ