สัปดาห์นี้ก่อนว่าถึง 2 ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาขึ้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ไปสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะประสบผลสำเร็จกันต่อ ต้องนำคำประกาศของฝ่ายการเมืองผู้กำหนดนโยบายทางการศึกษาล่าสุดขึ้นมายืนยันให้รับรู้ทั่วกันก่อน
คุณตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกประกาศเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2564 เรื่องนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566
ประเด็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาเขียนชัด “ส่งเสริม สนับสนุนให้สถานศึกษานำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปสู่การปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างสมรรถนะที่สำคัญจำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ให้กับผู้เรียน”
“พัฒนาและบูรณาการกระบวนการจัดการเรียนรู้และการวัดประเมินผลฐานสมรรถนะสู่การปฏิบัติในชั้นเรียน เพื่อสร้างความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างตรรกะความคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลให้นักเรียนไทยสามารถแข่งขันได้กับนานาชาติ”
สำหรับคำประกาศข้างต้นสอดคล้องกับเป้าหมายที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน วางไว้ ให้เป็น 1 ใน 5 กิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rocks) คือ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะเพื่อตอบสนองการเปลียนแปลงในศตวรรษที่ 21
ที่ผมหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะเกิดมีข้อโต้แย้งถกเถียงเกี่ยวกับการนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะกับโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 226 โรงเรียน ในพื้นที่ 8 จังหวัด จนทำให้เกิดความสับสน หวั่นไหวในฝ่ายปฏิบัติ ว่าจะไปต่ออย่างไรกันแน่
จากแผนเดิมที่วางไว้และประกาศเป็นทางการแล้วตั้งแต่สมัยที่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการฯ ว่าใช้หลักสูตรฉบับใหม่ในโรงเรียนนำร่องสังกัด สพฐ.เขตพื้นที่ละ 3 โรงเรียน (ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่) และโรงเรียนที่พร้อมใช้ (รวมโรงเรียนสังกัดอื่นๆ) เดือนพฤษภาคม 2564 ปีการศึกษา 2564 ต่อมาถึงเปลี่ยนเป็นทดลองนำร่องกับโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาก่อน
มาถึงวันนี้เกิดการแปรความแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ว่า กำหนดให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 (อิงมาตรฐาน) ในปัจจุบัน และปรับการเรียนการสอนไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน
เพื่อหยุดการทดลองใช้หลักสูตรใหม่ไว้แค่โรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเท่านั้น ส่วนโรงเรียนทั่วไปให้จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ต่อไปตามเดิม
ทั้งๆ ที่ข้อความในแผนปฏิรูปไม่ได้ชี้ชัดถึงขั้น “กำหนดให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 (อิงมาตรฐาน) “แต่ใช้ข้อความว่า” โดยการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐานในปัจจุบันไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Competency-based Learning) เป็นสำคัญ
การแปรความแผนปฏิรูปสวนทางกับนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาประกาศชัดเจน จะไม่ให้ฝ่ายปฏิบัติ เขตพื้นที่การศึกษา ครู ผู้บริหารโรงเรียนที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง สับสนกับความไม่แน่นอนและไม่ต่อเนื่องได้อย่างไร
จากแนวโน้มสถานการณ์ที่ไม่ค่อยสู้ดี ประกอบกับการเมืองเข้าสู่ปีสุดท้ายของรัฐบาล หลักสูตรฐานสมรรถนะอาจมีชะตากรรมเช่นเดียวกับการปฏิรูปหลักสูตรในอดีตที่ผ่านมา เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาในระดับหลักการใหญ่
ผู้มีอำนาจตัดสินใจโดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ต้องทำให้เกิดความกระจ่างชัดเจนในสองประเด็น
ประเด็นแรก ประเด็นหลัก ควรเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาขึ้นพื้นฐานเดิมที่ใช้มานานตั้งแต่ พ.ศ.2551 เป็นหลักสูตรใหม่ฐานสมรรถนะ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) หรือไม่
ประเด็นที่สอง ประเด็นรอง จะมีกระบวนการนำหลักสูตรใหม่ไปใช้กับโรงเรียนอย่างไร เริ่มกับโรงเรียนกลุ่มใดก่อนหลัง จนกระจายไปทั่วประเทศ
การนำประเด็นรองขึ้นมาเป็นต้นเหตุให้เกิดการล้มทั้งกระดาน จะต้องตอบคำถามให้ชัดก่อนว่า ของใหม่กับของเก่า หลักสูตรไหนสอดคล้องกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกมากกว่ากัน
ความเคลื่อนไหวนี้เลยเข้าทางฝ่ายที่ยกเหตุผล 3 ประการขึ้นมาเป็นข้ออ้างคัดค้าน โดยเฉพาะข้อแรกการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรใหม่ จะมีผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ เรื่องการผลิตสื่อและตำราเรียน
ของเดิมที่ผลิตไว้ ยังขายและใช้ไม่หมด เลยเดือดร้อนเสียหาย ผลประโยชน์ ว่างั้นเถอะ
ส่วนข้อคัดค้านอีกสองประการ คืออะไร เอาไว้สนทนาสาธารณะกันต่อวันหน้า
รวมถึงประเด็นที่ค้างไว้ เรื่องทิศทางและวิธีการพัฒนาครู กับการขับเคลื่อนหลักสูตรฐานสมรรถนะแบบมีส่วนร่วม กระทรวงศึกษาธิการและกรรมการพัฒนาหลักสูตรทำอะไรไปบ้าง อย่างไร ให้บรรลุเเป้าหมายปฏิรูปหลักสูตรเพื่อปฏิรูปการศึกษาอย่างได้ผล