หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Book เติบโตอย่างต่อเนื่อง ยิ่งโรค COVID-19 ระบาด การอ่านหนังสือดิจิทัลยิ่งโตกว่าเดิม MEB แพลตฟอร์ม E-Book คาดการณ์มูลค่าตลาด E-Book ปี 2021 ที่ 2,000 ล้านบาท เติบโต 100%
E-Book โต เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน
พัฒนา พิลึกฤาเดช ผู้ก่อตั้ง และผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไฮเท็คซ์ อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด หรือ Hitexts เล่าใหัฟังว่า ตลาดหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ และสื่อดิจิทัล ในปี 2021 จะมีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% จากปี 2020 เนื่องจากระแสการเรียนออนไลน์, การ Work from Home และอุปกรณ์อ่านหนังสือดิจิทัลที่มีมากขึ้น
สำหรับ Hitexts เป็นบริษัทลูกของ MEB หนึ่งในแพลตฟอร์ม E-Book ของไทย และทั้งสองบริษัทอยู่ภายใต้ บริษัท บีทูเอส จำกัด ของ บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หากเจาะไปที่ตลาด E-Book ปัจจุบัน MEB มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 70% และมี E-Book จำนวนมากที่สุดในตลาด
ปัจจุบันตลาด E-Book ในประเทศไทยขับเคลื่อนโดย 2 ผู้ให้บริการหลักคือ MEB และ Ookbee รวมถึงสำนักพิมพ์ต่าง ๆ เริ่มหันมาทำตลาด E-Book มากขึ้น สังเกตจากประเภท E-Book ที่มีให้เลือกหลากหลาย ส่วนอุปกรณ์การอ่าน E-Book นอกจากแท็บเล็ตต่าง ๆ ยังมี E-Reader หรืออุปกรณ์เพื่ออ่าน E-Book โดยเฉพาะ
เปิดตลาดองค์กรเพิ่มช่องทางรายได้ใหม่
ในทางกลับกัน ความคุ้นชิน E-Book ของผู้บริโภค ทำให้ความต้องการ E-Book ในตลาดองค์กรเพิ่มขึ้นเช่นกัน Hitexts จึงมีแผนรุกตลาดการศึกษา ผ่านการพัฒนา Hibrary ระบบห้องสมุดออนไลน์องค์กร หรือ E-Library เพื่อแก้ปัญหาการบริหารจัดการ และเพิ่มความคุ้มค้าให้กับการใช้งบประมาณของห้องสมุดขององค์กร
จุดเด่นของ Hibrary คือ ไม่ใช้งบประมาณสูง รองรับเนื้อหา E-Book, วีดีโอ และ Podcast ไม่มีค่าดูแล และบำรุงรักษาระบบรายปี ส่วนฝั่งผู้อ่านจะมีแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่าย รองรับไฟล์แบบ PDF และ E-Pub ด้านสำนักพิมพ์มีการขายทั้งแบบรายปี และใช้งานต่อเนื่อง พร้อมระบบจัดการลิขสิทธิ์ หรือ DRM
มีการสำรวจพบว่า มากกว่า 75% ขององค์กรที่ทำ E-Library ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งที่ใช้งบประมาณกว่า 5 แสน – 3 ล้านบาท ในการพัฒนาระบบห้องสมุดออนไลน์ แต่ใช้งบประมาณเพียง 10-20% ในการซื้อ E-Book ซึ่งน้อยเกินไป และไม่จูงใจการใช้งาน E-Library เช่นบางองค์กรมียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันไม่ถึง 100 ครั้ง
ตั้งเป้าสิ้นปีนี้ผู้ใช้ 120 ราย ปี 2022 โต 100%
ปัจจุบันมีผู้ใช้ Hibrary ทั้งหมด 55 องค์กร เป็นสถาบันการศึกษา 27% ห้องสมุดประชาชน 64% องค์กรรัฐและเอกชน อีก 9 % มีบุคคลากรและประชาชนทั่วไปใช้งานอยู่เดือนละประมาณ 12,000 คน ทาง Hitexts ตั้งเป้าว่า สิ้นปี 2021 จะมีผู้ใช้งาน 120 องค์กร และปี 2022 จะเติบโตขึ้น 100%
หากเจาะไปที่ตลาดที่ Hitexts ทำจะพบว่า ยังมีโอกาสทางการตลาดอีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มการศึกษา ที่มีทั้งสถาบันอุดมศึกษากว่า 300 แห่ง โรงเรียนขนาดกลางขึ้นไปกว่า 14,000 โรงเรียน ห้องสมุดประชาชนกว่า 700 แห่ง รวมถึง ห้องสมุดขนาดใหญ่ เช่น หอสมุดแห่งชาติ และ อุทยานการเรียนรู้ (TK-Park)
จากปัจจัยทั้งหมดนี้ Hitexts จึงตั้งเป้ารายได้จากการทำตลาดองค์กรไว้ทั้งหมด 200 ล้านบาทภายในปี 2022 ช่วยเหลือการเพิ่มยอดขายจากฝั่งผู้บริโภคทั่วไปที่ยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และยังไม่มีแนวโน้มจะหยุดเติบโต ผ่านพฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนไป
สรุป
นอกจากรุกตลาดลูกค้าทั่วไป MEB และ Hitexts ยังร่วมมือกันบุกตลาดองค์กรที่โอกาสยังเปิดกว้าง ยิ่งหลายองค์กรในปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากร ห้องสมุดดิจิทัล จึงเป็นอีกทางเลือกที่ดี เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก และตอบโจทย์การใช้ชีวิตในปัจจุบัน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา