ศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ พวงงาม
ผมเข้าใจว่า ยังไม่เป็นข้อยุติว่าการกำหนดให้นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งเห็นว่า ทั้งนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยทยอยกันลาออกอยู่เป็นระลอกๆ และที่ยังเห็นว่าไม่มีผลกระทบในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสภามหาวิทยาลัยในช่วงเวลานี้ เพราะ ป.ป.ช. ได้ยืดเวลาการยื่นไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2562 จึงทำให้นายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยต่างก็รอดูท่าทีของ ป.ป.ช. แต่หากในที่สุด ป.ป.ช. ยังยืนยันเหมือนเดิม เข้าใจว่านายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยก็จะลาออกเป็นจำนวนมาก ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน
ประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า นายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยมีความสำคัญต่อการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยอย่างไร และมีอำนาจหน้าที่ไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยอย่างไร ซึ่งก็เป็นประเด็นที่หลายคนสงสัยและอยากจะรู้ ซึ่งผมเห็นว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่หลักๆ ที่คล้ายคลึงกันทุกมหาวิทยาลัยนั่นก็คือ ประการที่หนึ่ง การกำหนดนโยบายและอนุมัติแผนพัฒนามหาวิทยาลัย เพื่อให้ฝ่ายบริหารหรืออธิการบดีนำไปปฏิบัติ ประการที่สอง ออกระเบียบข้อบังคับเพื่อเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย ประการที่สาม อนุมัติให้ปริญญา ประกาศนียบัตร และอนุปริญญาบัตร รวมทั้งอนุมัติให้ปริญญากิตติมศักดิ์ ประการที่สี่ ให้ความเห็นชอบเลือกอธิการบดี แต่งตั้งและถอดถอนรองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสำนัก รวมทั้งตำแหน่งทางวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ เป็นต้น ประการที่ห้า พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักสูตรต่างๆ ของมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่คณะกรรมการอุดมศึกษากำหนด และประการที่หก พิจารณาเสนอเรื่องเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งและถอดถอนนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ อธิการบดี ศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์พิเศษ
ดังนั้น จึงเห็นว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยมีความสำคัญต่อการทำหน้าที่ทางวิชาการในด้านการศึกษา เพื่ออนุมัติหลักสูตรของมหาวิทยาลัย การอนุมัติปริญญาต่างๆ รวมทั้งตำแหน่งทางวิชาการของทางมหาวิทยาลัย ตลอดจนการกำหนดนโยบายและแผนการพัฒนามหาวิทยาลัย เพื่อให้อธิการบดีนำไปปฏิบัติ ซึ่งในประการหลักๆ ที่กล่าวนี้ หากกรรมการสภาลาออกเกินครึ่งหนึ่งจะทำให้การดำเนินงานต่างๆ เป็นต้นว่า อนุมัติปริญญาบัตร อนุมัติหลักสูตรการเรียนการสอน ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้มีปัญหาอย่างแน่นอน
ส่วนที่มาที่ไปของกรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยทั่วไปจะประกอบด้วย นายกสภามหาวิทยาลัย ซึ่งจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ และมีที่มาโดยผ่านกระบวนการสรรหาจากผู้มีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับทางสังคม โดยผ่านความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยนั้นๆ
กรรมการสภามหาวิทยาลัยอีกกลุ่มหนึ่งมาจากตัวแทนผู้บริหารมหาวิทยาลัย ได้แก่ อธิการบดี รองอธิการบดี ประธานสภาคณาจารย์และตัวแทนคณาจารย์ประจำ และตัวแทนข้าราชการหรือพนักงาน รวมทั้งประธานกรรมการส่งเสริมกิจการของมหาวิทยาลัย
ที่สำคัญ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการสภามหาวิทยาลัยทั้งหมดซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากบุคคลภายนอก โดยคำแนะนำของนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว ต้องมาจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ เช่น ด้านการศึกษา ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ กฎหมาย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านการบริหารการเงิน งบประมาณ การบริหารงานบุคคล การปกครองท้องถิ่น เป็นต้น
ผมจึงเห็นว่า การเลือกนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยในแต่ละมหาวิทยาลัย จึงต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติเพื่อมองหาคนที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยในการกำหนดนโยบายและแผนการพัฒนามหาวิทยาลัยนั้นๆ ด้วย
แต่ก็มีข้อสังเกตสำหรับในบางมหาวิทยาลัยที่มักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเลือกนายกสภาและกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิกันมาหนัก แต่กลับมักจะเลือกกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่คำนึงถึงคุณภาพหรือสาขาความชำนาญการ แต่กลับไปเลือกพรรคพวกเดียวกัน เพื่อมาเป็นไม้ประดับคอยสนับสนุนกลุ่มของผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เห็นว่าผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านั้นเป็นพวกพ้องตนเอง เช่น เลือกผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อมาสนับสนุนการเลือกอธิการบดี หรือทีมบริหารมหาวิทยาลัย เป็นต้น สภามหาวิทยาลัยบางแห่งก็กลายเป็น “สภามหาวิทยาลัยตรายาง” ซึ่งก็ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่จะต้องเป็นผู้ที่มาให้คำแนะนำทางวิชาการ มาเสนอนโยบายและแผนงานมหาวิทยาลัยเพื่อให้อธิการบดีนำไปปฏิบัติ
จึงเป็นที่มาของกลุ่มคณาจารย์จำนวนหนึ่งที่ออกมาสนับสนุนว่า นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยมีความจำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เพราะกรรมการสภามหาวิทยาลัยบางแห่งอาจจะไปมีผลประโยชน์ร่วมกับอธิการบดี รองอธิการบดี ที่เป็นกลุ่มก้อน (ก๊วน) เดียวกัน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากการลาออกของนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยถูกปล่อยให้ลาออกไปอย่างที่เป็นปรากฏการณ์อยู่นี้ ก็จำเป็นจะต้องเลือกนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยใหม่ เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้นายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยบางแห่งฮั้วกับฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นอธิการบดี หรือรองอธิการบดีมากขึ้น อันเป็นการเปิดช่องทางอีกประการหนึ่ง อย่างไรก็ตามนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยในอีกหลายแห่งก็มีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นอิสระ มีประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญ โดยมีความมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ในการพัฒนาการศึกษาของมหาวิทยาลัยอันจะเป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย ซึ่งกรรมการสภาในประเภทดังกล่าว บางมหาวิทยาลัยต้องไปเชิญหรือร้องขอให้มาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพราะต้องการอาศัยความรู้ความสามารถของบุคคลเหล่านั้นที่จะมาคอยชี้แนะในเชิงนโยบาย
ในท้ายที่สุด หากเกิดปรากฏการณ์ของกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัย จะต้องลาออกไปจะด้วยเห็นผลกลใดก็แล้วแต่ จะทำให้บางมหาวิทยาลัยสูญเสียโอกาสและสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและผู้ที่มีความตั้งใจที่จะเข้ามาช่วยมหาวิทยาลัย จากผลกระทบต่อการดำเนินการมหาวิทยาลัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงทำให้นายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยบางแห่งที่มีคุณภาพจะต้องออกลาออกไป
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ