กรรมการอิสระฯยกร่าง พ.ร.บ.ปฐมวัย ดูแลเด็กไทย-เด็กไร้สัญชาติ จัดให้มีคณะกรรมการการปฐมวัยแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการการปฐมวัยแห่งชาติ เป็นแกนหลักขับเคลื่อนงาน
วันที่ 26 ธ.ค.60 นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กอปศ.ว่าที่ประชุมได้พิจารณาการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การปฐมวัยแห่งชาติ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ ซึ่ง
หลักการส่วนใหญ่ของการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือจะมีการจัดตั้ง คณะกรรมการการปฐมวัยแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการการปฐมวัยแห่งชาติ เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนงาน
เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ ) กระทรวงมหาดไทย(มท.) และกระทรวงการพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ (พม. ) รวมถึงอาจจะมีหน่วยงานอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีกลไกกลางคล้ายกับซุปเปอร์บอร์ด เพื่อเป็นแกนหลักในการดำเนินงานส่วนจะขึ้นอยู่กับหน่วยงานใดนั้นยังไม่ได้ข้อสรุป
นพ.จรัส กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันเรามีคณะกรรมการการการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ซึ่งมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานอยู่แล้ว แต่คณะกรรมการฯ ชุดนี้จะหมดอายุไปพร้อมกับรัฐบาล แต่การจัดทำร่าง พ.ร.บ.การปฐมวัยแห่งชาติ จะทำให้การทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้มีความยั่งยืน ซึ่งโอกาสที่จะเป็นไปได้ในการตั้งคณะกรรมการปฐมวัยฯ ชุดนี้ คือให้อยู่ในกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนจะให้ใครเป็นประธานนั้นยังต้องหารือกันต่อไป
ทั้งนี้ การทำงานมีความเชื่อมโยงหลายกระทรวง รวมถึงจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะใช้เงินส่วนหนึ่งจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในการดูแลบริหารงาน
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ต้องมีคณะกรรมการการปฐมวัยฯ ขึ้นมา เพราะที่ผ่านมามีงานวิจัยระดับนานาชาติ ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกระบุชัดเจนว่า การลงทุนกับเด็กเล็กให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าการลงทุกกับผู้ใหญ่ เพราะเป็นการวางรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ.2560 กำหนดเด็กทุกคนต้องได้รับการดูแล
พ.ร.บ.ฉบับนี้จะดูแลครอบคลุมทั้ง เด็กสัญชาติไทยที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เด็กที่เกิดในประเทศไทย แต่ไม่ได้สัญชาติไทย เด็กที่เกิดชายแดนไทย แต่ไม่ได้สัญชาติไทย ให้เป็นหน้าที่ที่ประเทศไทยต้องดูแล เพราะเป็นเรื่องของประโยชนที่จะเกิดขึ้น ทั้งในด้านความมั่นคง และด้านการพัฒนาประเทศในพื้นที่ชายแดน แต่การการให้ทุนต่างๆ จะเน้นให้ความช่วยเหลือเด็กที่ได้สัญชาติไทยก่อน โดยในการดูแลเด็กเล็กต้องดูเรื่องความเหลื่อมล้ำ คุณภาพการดูแล ความหลากหลายทางสังคมเหล่านี้อาจเป็นปัญหาสำหรับเด็ก ซึ่งไม่สามารถแก้ไขโดยปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติได้
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า หลังจากนี้จะต้องไปรับฟังความคิดเห็นซึ่งเป็นกฎหมายที่จะต้องเร่งดำเนินการคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาลได้ภายในเดือน พ.ค.2561 ทั้งนี้ การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 54 เรื่องสิทธิเด็กไทย ทุกคนตั้งแต่อายุ 3 ปี ได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบจะได้รับการดูแลและพัฒนา ซึ่งรัฐธรรมนูญ กำหนดว่าให้เริ่มดำเนินการทันที่
ส่วนเด็กต่างชาติ การดูแลจะเป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) เป็นสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้ รับความเห็นชอบมากที่สุดในโลกของ Unicef พ.ศ.2535
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ