เด็กมัธยมกรุงเทพคริสเตียน สร้าง BCCSAT-1 ดาวเทียมดวงแรกในกลุ่มอาเซียน พร้อมส่งเข้าสู่วงโคจรปลายปี 2562 แรงผลักดันจาก 3 องค์กรด้านเทคโนโลยีการบินและอวกาศ
เมื่อเร็วๆ นี้ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จัดพิธีลงนามข้อตกลงด้านการเรียนการสอน โครงการ บีซีซี สเปซโปรแกรม (BCC SPACE PROGRAM) ร่วมกับหน่วยวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศ Intelligent Space System Laboratory (ISSL) มหาวิทยาลัยโตเกียว, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และบริษัท อัสโตรเบอร์รี่ จำกัด เพื่อสร้างพื้นฐานและการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศ แก่นักเรียนมัธยม
นายศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผอ.โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กล่างถึงการเข้าร่วมโครงการ บีซีซี สเปซโปรแกรม เมื่อปลายปี 2560 เพื่อต้องการพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการบินและอวกาศ ให้แก่นักเรียนมัธยมศึกษา และเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา โดยตั้งเป้าหมายที่จะบุกเบิกโครงการศึกษาด้านเทคโนโลยีการบินและอวกาศสำหรับนักเรียนมัธยม ซึ่งเริ่มสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก หรือ CubeSat เพื่อส่งเข้าสู่วงโคจรภายในปลายปี 2562 โดยจะเป็นดาวเทียมดวงแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ดวงในโลก ที่ถูกพัฒนาและส่งเข้าสู่วงโคจรด้วยฝีมือของนักเรียนมัธยม นอกจากนี้ โรงเรียนได้เตรียมสร้างห้องปฏิบัติการด้านอวกาศ (Space Laboratory) และสถานีควบคุมและสื่อสารภาคพื้นดิน (Ground Station) เพื่อรองรับการพัฒนาด้านการศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการบินและอวกาศ อันจะนำไปสู่การปฏิบัติภารกิจด้านอวกาศต่อไปในอนาคต
“เราต้องการให้เด็กกรุงเทพคริสเตียน สร้างประวัติศาสตร์ให้ประเทศไทย เพื่อกระตุ้นให้เด็กไทยหันมาสนใจเทคโนโลยีการบินและอวกาศ ซึ่งแม้มหาวิทยาลัยทั่วโลกจะสร้างดาวเทียมมากพอสมควร แต่ในระดับนักเรียนถือว่ายังมีน้อยมาก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน ยังไม่มีเลย ขณะนี้โรงเรียนเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2560 มีนักเรียนระดับชั้น ม.4 จำนวน 27 คน ซึ่งเป็นเด็กกลุ่มแรกที่สมัครเข้าร่วมโครงการ โดยในปีการศึกษา 2561 เราเริ่มนับถอยหลังจากนี้ 2 ปี ดาวเทียมจะต้องสร้างให้เสร็จ เพื่อส่งเข้าสู่วงโคจรภายในปลายปี 2562 เนื่องจากได้นำงบประมาณ 7 ล้านบาทไปเช่าพื้นที่จรวดของประเทศรัสเซีย เพื่อนำดาวเทียมปล่อยขึ้นอวกาศ”
นายศุภกิจ กล่าวและว่า ทั้งนี้ หากจะถามว่าการสร้างดาวเทียมได้ประโยชน์อะไร ขอให้มองเรื่องดาวเทียมกับคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องเดียวกัน แนวความคิดอันดับ 1.เปิดโลกความคิดเปิดสมองของเด็กทางการศึกษา 2.เกิดโลกของการเรียนรู้ การทำงานเป็นทีม การประกอบ การควบคุมวงโคจรของดาวเทียม เพราะดาวเทียมสามารถถ่ายรูปได้ หากเด็กต้องการถ่ายรูปกำแพงเมืองจีน เด็กก็จะเกิดการเรียนรู้ในการควบคุมวงโคจร การคำนวณเวลา 3.เมื่อมีดาวเทียมก็จะต้องมีสถานีภาคพื้นดิน (Ground Station) จะเกิดการสื่อสารระหว่างกันทั่วโลก เมื่อดาวเทียมไปหยุดอยู่ที่สถานีไหนของประเทศนั้นจะใช้ประโยชน์ของดาวเทียมที่มีอยู่ได้มากมายบนอวกาศ
ด้าน ดร.พะโยม ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า น่าชื่นชมที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ร่วมกับองค์กรที่เชี่ยวชาญ นำเรื่องดาวเทียมและอวกาศ มาสอนเด็กมัธยม จัดการเรียนการสอนแบบเข้มข้น ถึง 630 ชั่วโมงตลอดหลักสูตร ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ และตนมองว่าเป็นความท้าทายในการจัดการศึกษา และต้องกล้าที่จะทำ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนประเทศในปัจจุบันมุ่งเน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้น การศึกษาจะเป็นพื้นฐานในการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับ
รศ.ดร.อุดมเกียรติ นนทแก้ว คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ.กล่าวว่า ที่ผ่านมา มจพ.โดยภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ดำเนินการส่งดาวเทียม KNACKSAT เข้าสู่วงโคจร นับเป็นดาวเทียมดวงแรกของประเทศไทย ที่ออกแบบและดำเนินการสร้างโดยคณะอาจารย์และนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และนับเป็นดาวเทียมดวงแรกของประเทศที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยคนไทย 100% ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศ มจพ.จึงได้เข้าร่วมในโครงการ บีซีซี สเปซโปรแกรม โดยให้การสนับสนุนทางด้านการอบรมและฝึกสอน ให้แก่นักเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย พร้อมทั้ง ทาง มจพ.ได้ส่งอาจารย์เข้าไปสอนนักเรียนทุกวันอังคาร และวันพฤหัสบดี ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการใช้ห้องปฏิบัติการด้านอวกาศและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดาวเทียมในโครงการนี้
ทั้งนี้ นายกิตนาถ ชูสัตยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัสโตรเบอร์รี่ จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทฯ รับผิดชอบในการบริหารจัดการโครงการโดยรวม ร่วมกับทางโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และยังเป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาและควบคุมการผลิตดาวเทียม BCCSAT-1 รวมถึงการส่งเข้าสู่วงโคจร
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ