กศน.แจงค่าใช้จ่ายอินเตอร์เน็ต กศน.ตำบล ผูกพันสัญญา 2 สังกัด TOT และ DE
นายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการ กศน. เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ภายใต้แผนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้ยุทธศาสตร์การสร้างสังคมคุณภาพ ที่ประชาชนทุกคนต้องสามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแผนงานดังกล่าว ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จึงได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ และใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลที่ เหมาะสมผ่านเครือข่ายการทำงานที่มีอยู่
โดยเฉพาะการดำเนินงานของ ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ซึ่งดำเนินการโดย กศน.ตำบล เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญ และประโยชน์ของเทคโนโลยีดิจิทัลในภาคประชาชนในวงกว้าง รวมถึงสนับสนุนเพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และอาชีพได้อย่างสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจชุมชนที่สร้างสรรค์และยั่งยืน ทั้งนี้ ในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าวให้ครอบคลุม กว้างขวาง ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง จำเป็นต้องมีการดำเนินการในด้านโครงข่ายการให้บริการอินเตอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพด้วย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในเรื่องนี้จำนวนหนึ่ง
เลขาธิการ กศน. กล่าวต่อไปว่า สำหรับรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการใช้งานอินเตอร์เน็ตของ กศน.ตำบล ในส่วนของสำนักงาน กศน. มีการเสียค่าบริการสัญญาณอินเตอร์เน็ต ใน 2 ลักษณะ ได้แก่ 1 ใช้บริการโครงข่าย MOENet จำนวน 3,198 แห่ง มีค่าบริการแห่งละ 955 บาท/เดือน ซึ่งเป็นสัญญาผูกพันกับ TOT ที่กำลังจะสิ้นสุดในเดือน ธ.ค.60 นี้
และ 2 ใช้บริการโครงข่ายกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) จำนวน 4,226 แห่ง ค่าบริการกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นผู้ให้การสนับสนุน โดยตั้งงบฯ ไว้ที่กระทรวงดิจิทัลฯ ในการดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าว โดยประมาณการค่าใช้จ่ายไว้แห่งละ 5,000 บาท/เดือน ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการในระหว่างปี 2559-2561 ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นอัตราค่าใช้จ่ายสำหรับการบริการอินเตอร์เน็ต ที่ใช้สำหรับหน่วยงาน/องค์กร โดยจำแนกออกเป็นค่าสัญญาณอินเทอร์เน็ต ค่าอุปกรณ์ Switch Router ค่าอุปกรณ์ Access Point ค่าอุปกรณ์ User Authentication ค่าอุปกรณ์ Log file และ ค่าตู้เก็บอุปกรณ์ Network
สำหรับในปีงบประมาณ 2561 นี้ กศน.ตำบล ทั้งหมดทั่วประเทศ จำนวน 7,424 แห่ง จะใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตของกระทรวงดิจิทัลฯ ซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ส่วนในปี 2562 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดโครงการที่ดำเนินการกัน จะต้องมีการประสานงานว่าจะยังมีโครงการต่อเนื่องต่อไปหรือไม่ ซึ่งหากไม่มีการดำเนินโครงการต่อเนื่อง ทาง กศน.จะพิจารณาหาเครือข่ายใหม่ ที่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพต่อไป
“ในเบื้องต้นหากกระทรวงดิจิทัลฯ ไม่ได้สนับสนุนต่อ แต่ กศน.ยังใช้อินเตอร์เน็ตของกระทรวงดิจิทัลฯ ต่อไป กศน.ก็จะต้องประมาณการงบฯ ค่าใช้จ่ายสำหรับการบริการอินเตอร์เน็ตไว้ แห่งละ 5,000 บาท/เดือน ตามฐานประมาณการงบฯ ของกระทรวงดิจิทัลฯ ขณะเดียวกัน กศน.กำลังพิจารณาเครือข่ายอื่นที่ราคาเหมาะสมไปพร้อมกันด้วย อาทิ เครือข่าย 3BB, TOT, CAT และ True เป็นต้น เพื่อให้ราชการได้รับประโยชน์สูงสุด” นายกฤตชัย กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ