กลวิธี”ปลาทูน่าอ่าน”ภาษาไทยแสนสนุก รร.บ้านบาลูกายาอิง
หนึ่งในปัญหาสำคัญของสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประชากรส่วนใหญ่ใช้ภาษามลายู เป็นหลักในการสื่อสาร ก็คือปัญหาการ “อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้” ซึ่งกระทบกับการเรียนรู้ในสาระวิชาอื่นๆ ไม่เพียงแค่วิชาภาษาไทย เท่านั้น
โรงเรียนบ้านบาลูกายาอิง ต.ร่มไทร อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ก็เหมือนกันหลายโรงเรียนในพื้นที่ ที่ประสบปัญหาดังกล่าว โดยเมื่อปีการศึกษา 2558 พบว่ามีนักเรียนชั้น ป.1-ป.3 พูดไทยไม่ได้ อ่านไม่ออก และเขียนไม่ได้ถึงร้อยละ 60 หากยังปล่อยทิ้งไว้ก็จะส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ในการเรียน เพราะภาษาไทยเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้เด็กๆ เกิดความเข้าใจและสามารถเรียนรู้ในสาระวิชาหรือเรื่องราวต่างๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น “ครูปานทิพย์ จุลบุตร” ครูประจำชั้น ป.1 ได้พยายามหาทางแก้ไข ทบทวนวิธีการสอนภาษาไทย สำหรับนักเรียน ป.1 เสียใหม่ โดยสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ทั้งเรื่องของการพูด-อ่าน-เขียน ใช้สื่อและนวัตกรรมการสอนที่หลากหลาย เข้ามากระตุ้นการเรียนรู้ของนักเรียน และยังได้จัดทำโครงการ “การเรียนรู้ภาษาไทยด้วยสื่อสร้างสรรค์” ภายใต้โครงการ “ส่งเสริมการเรียนรู้สุขภาวะสำหรับเด็กด้อยโอกาส” จากการสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จนมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น
ครูปานทิพย์ เล่าถึงปัญหาในการสอนภาษาไทย ว่า ถ้าเราใช้ภาษาไทยคุยกันไม่ได้ ก็จะไม่รู้เรื่องกันทั้งครูและเด็ก ทีนี้ถ้าจะจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร ก็สามารถสอนได้ แต่เด็กส่วนใหญ่จะไม่สนใจเพราะตำรามีแต่ตัวหนังสือ ก็เลยต้องมาหาวิธีการสอนใหม่ หาสื่อหาเครื่องมือที่แตกต่างมาช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ อยากเรียนรู้มากขึ้น เพราะภาษาไทยสำคัญมาก ในการที่เราจะใช้สื่อสารทั้งการพูด การอ่าน การเขียน แล้วก็การฟังเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ทุกๆ เรื่อง เพื่อให้เขาสามารถที่จะเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นไปได้
…ในชั่วโมงเรียนวิชาภาษาไทย เรื่องมาตราตัวสะกดแม่ ก กา “ครูปานทิพย์” ใช้เครื่องมือ “ปลาทูน่าอ่าน” มาใช้เป็นสื่อในการสอน เริ่มจากรับใบงาน เป็นแผ่นกระดาษมีรูปปลา 2 แผ่น แล้วให้เด็กๆ ไปค้นหาคำที่ตัวเองอ่านออก และอยู่ในมาตราตัวสะกดจากสื่อต่างๆ ที่วางกระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งห้องมาเขียนเติมลงไปในช่องว่าง เมื่อครบแล้วเด็กๆ ก็จะนำมาตัด ระบายสีสันตามชอบ แล้วนำกระดาษทั้งสองแผ่นมาทากาวประกบกันและเสียบไม้ แล้วนำออกไปอ่านให้เพื่อนๆ ฟังหน้าชั้นเรียน รวมถึงนำกลับไปอ่านทบทวนที่บ้าน
“ครูจะบอกว่าให้นักเรียนเขียนคำที่อ่านได้ เขาก็จะไปหามาคำที่เขาอ่านได้ เพราะว่าเวลาครูให้เขียนเสร็จ นักเรียนจะต้องมาอ่านให้ครูฟังก่อน เพราะฉะนั้นเขาก็จะไปหาคำที่เขาอ่านได้ก่อน แล้วก็ค่อยเพิ่มความยากขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถทางด้านการอ่าน เพราะว่าอ่านจากคำง่ายๆ ก่อน แล้วก็ไปหาคำยาก เขาก็สามารถที่จะพัฒนาตัวเองในด้านการอ่านได้ แล้วก็เข้าใจคำที่เขาเขียน เพราะว่าครูบอกว่าให้เราอ่านคำที่อ่านได้ แล้วก็เข้าใจความหมาย ทำให้เขาได้รับทักษะทั้งการอ่าน การเขียน และการพูด แล้วก็สนุกในการสร้างสื่อในการเรียนรู้ขึ้นมาด้วยตัวของเขาเอง”
ครูปานทิพย์ ยังพูดถึงบรรยากาศในชั้นเรียน สิ่งที่สังเกตเห็นได้คือเด็กๆ ทุกคนมีความกระตือรือร้นในการค้นหาคำตามโจทย์ที่ได้รับ มีความสุขและสนุกสนานไปกับการค้นหาคำศัพท์จากสื่อรูปแบบต่างๆ ทั้งหนังสือป๊อบอัพ ต้นไม้ตัวหนังสือ หรือบัตรคำศัพท์ที่วางเรียงรายอยู่ทั่วห้องเรียน เปิดโอกาสให้เด็กๆ ค้นหาได้ตามอิสระ จะนั่ง จะนอน จะขีด จะเขียนอย่างไรก็ตามที่แต่ละคนถนัด ซึ่งวิธีการนี้ทำให้เด็กๆ เรียนรู้ภาษาไทยได้ดีขึ้นมากกว่าร้อยละ 70 เมื่อเทียบจากวิธีการสอนแบบเดิม และสิ่งที่สำคัญ คือทำให้เด็กมีความสุขในการเรียน
ขณะที่ ผอ.ทำนุ อาแวกะจิ โรงเรียนบ้านบาลูกายาอิง กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่เห็นชัดเจน คือพอเด็ก ๆ สนุกกับการเรียนแล้วเขาก็จะเรียนเก่งขึ้น หากเราสามารถทำโครงการนี้ทั้งกลุ่ม หมายถึงขยายผลไปทุกระดับชั้น เชื่อว่าจะสามารถที่ทำให้ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนการสอนสูงขึ้น เพราะว่าพื้นฐานของการเรียนรู้ ก็คืออยู่ที่ความเข้าใจ เมื่อเด็กมีความเข้าใจในวิชาภาษาไทย วิชาอื่นๆ เขาก็จะเข้าใจได้ดีขึ้นตามไปด้วย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ