ครูแบบซูเปอร์แมน “ดาว์พงษ์” ตั้งใจนำร่องปี 2560-ในอนาคตจะแบ่งสัดส่วนการผลิต “ครู” เป็นครูคืนถิ่น 25% ระบบปิด 40% และระบบเปิด 35%
เมื่อวันที่ 29 ก.ย.59 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานครบรอบ 124 ปี การสถาปนาการฝึกหัดครูไทย และวันคล้ายวันสถาปนากรมการฝึกหัดครู โดย พล.อ.ดาว์พงษ์ ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายการผลิตครูในศตวรรษที่ 21” ตอนหนึ่งว่า
…ปัจจุบันการผลิตครูมีปัญหามาก ซึ่งที่พบหลัก ๆ คือการเปิดหลักสูตรวิชาชีพครูมากเกินความจำเป็น และบางแห่งก็เปิดสอนก่อนที่หลักสูตรจะได้รับการรับรอง ตลอดจนมาตรฐานที่ต่างกันมาก การเปิดโอกาสให้โรงเรียนรับครูที่ไม่มีวุฒิครูเข้ามาสอนก่อน แล้วค่อยมาขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบขาดความเข้มงวดจริงจังในการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน หลักสูตรไม่ได้เตรียมให้นักศึกษาครู มีนวัตกรรมการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิด และไม่ได้เน้นการบูรณาการสมรรถนะ การสอนใหม่ ๆ การบูรณาการเนื้อหาและเทคนิคการสอน รวมถึงคุณลักษณะความเป็นครูโดยเฉพาะจิตวิญญาณความเป็นครู
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาเหล่านี้ทำให้ต้องมีการปฏิรูประบบการผลิตครู โดยอยากให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) ผลิตครูในศตวรรษที่ 21 ที่เป็นซูเปอร์แมน โดยคุณลักษณะของครูที่ตนอยากเห็น คือ มีจิตวิญญาณความเป็นครู มีความรู้ในเรื่องที่สอน มีเทคนิคการสอนดี ถ่ายทอดให้นักเรียนเข้าใจง่าย มีความรู้ ICT มีบุคลิกภาพดี และที่สำคัญคือมีทักษะการพูด ไม่ใช่พูดเก่งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีเทคนิคพูดจูงใจนักเรียน ซึ่งตนได้มอบให้ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ (ทปอ.มรภ.)ไปปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครู มานำเสนอ โดยต้องให้ความสำคัญเรื่องจิตวิทยาเด็กพิเศษ จิตวิทยาการเรียนการสอน จิตวิทยาครูว่าด้วยการลงโทษนักเรียน การสร้างแรงจูงใจ เทคนิคการพูด และเทคนิคการสอน นอกจากนี้ครูในอนาคตต้องเข้าใจเรื่องการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ซึ่งเป็นการประเมินที่นานาชาติให้การยอมรับ
“นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยเรื่องการผลิตครู ได้กำชับให้ผมทำหลักสูตรการผลิตครูให้มีความเข้มแข็งเหมือนในอดีต ซึ่งขณะนี้ผมได้ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครู และทางทปอ.มรภ.ได้เสนอกรอบหลักสูตรในการผลิตครูมาแล้ว จากนี้จะนำมาพิจารณาร่วมกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศ โดยวางเงื่อนเวลาว่า หลักสูตรผลิตครูใหม่จะต้องแล้วเสร็จเพื่อใช้นำร่องปีการศึกษา 2560”
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวและว่า สำหรับการผลิตครูในอนาคต จะมีการแบ่งสัดส่วนการผลิตเป็น 25:40:35 ของอัตราเกษียณอายุราชการ คือ โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น 25% การผลิตครูระบบปิด 40% ซึ่งจะแบ่งโควตาในสถาบันผลิตครูตามขีดความสามารถของแต่ละแห่ง และอีก 35% เป็นการผลิตครูระบบเปิดทั่วไป
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ