วารินทร์ พรหมคุณ
กศน.ขอนแก่น จับมือเครือข่ายรุกแก้ปัญหาเด็กเร่ร่อน
เรื่องหนึ่งที่ใกล้ตัวแต่กลับถูกละเลย…นั้นคือสถานการณ์เด็กเร่ร่อน ที่กำลังขยายตัวแบบเงียบๆ ทั้งในเชิงปริมาณและปัญหา อีกทั้งพบว่าเด็กต่างเชื้อชาติ ก็มีการเคลื่อนย้ายเข้ามาเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นลาว พม่า กัมพูชา ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะยังมองเห็นปัญหากันเพียงแค่มิติเดียว ทั้งที่มีหลายมิติและซับซ้อนมากขึ้น …นี่จึงเป็นอีกปัญหาที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งในเชิงนโยบาย งบประมาณ และการทำงานในลักษณะเครือข่าย เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างสมบูรณ์แบบ
จากปัญหาดังกล่าวศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกลุ่มเป้าหมายพิเศษ หรือ ศพก. ในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) ซึ่งมีภารกิจหลักในการจัดและส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ให้แก่ผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา 2 ประการ คือ 1.จัดการศึกษานอกโรงเรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 โดยจัดเป็นหลักสูตรสถานศึกษา และการจัดการศึกษาต่อเนื่องให้แก่กลุ่มเป้าหมายคนไทยในต่างประเทศ และ 2.ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษานอกโรงเรียน ให้แก่กลุ่มเป้าหมายผู้ด้อยโอกาสในประเทศ ได้แก่ เด็กด้อยโอกาส คนพิการ ผู้สูงอายุ สตรีกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น
โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ นางณัฐกฤตา พึ่งสุข ผู้อำนวยการ ศพก.ได้ลงพื้นที่ติดตามการจัดการปัญหาเหล่านี้ ในอำเภอเมืองขอนแก่น
จังหวัดขอนแก่น เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีปัญหาเด็กเร่ร่อน เด็กไร้บ้าน เด็กแว้น และเด็กด้อยโอกาส เป็นอันดับต้น ๆ แต่ทว่ากลับสามารถจัดการกับปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี ด้วยความร่วมมือร่วมใจของเครือข่าย ที่เห็นพ้องกันว่าถึงเวลาที่ต้องช่วยกันลดหรือหยุดปัญหาลงให้จงได้
ผอ.บุญส่ง ทองเชื่อม จากศูนย์ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) อำเภอเมืองขอนแก่น กล่าวว่า จากการสำรวจในพื้นที่ขอนแก่น มีเด็กเร่ร่อน เด็กไร้บ้าน เด็กแว้น ประมาณ 3,000 กว่าคน ซึ่ง กศน. เห็นความสำคัญของเด็กกลุ่มนี้ไม่น้อยไปกว่าเด็กกลุ่มอื่น ๆ จึงได้ร่วมกับเครือข่าย เข้าไปช่วยเหลือ ดูแล และจัดการศึกษาให้ โดยสามารถชักนำมาเป็นนักศึกษา กศน.ได้ประมาณ 120 คน เนื่องจากมีงบประมาณจำกัด และมีครูที่ทำหน้าที่สอนเด็กเร่ร่อน เพียง 5 คน แต่ทุกคนก็ทุ่มเท และเสียสละที่จะช่วยดูแลเด็กเหล่านี้ ขณะเดียวกัน ก็ยังมีเครือข่ายที่ให้ความร่วมมือในการทำงานเป็นอย่างดี จึงทำให้งานออกมาค่อนข้างประสบความสำเร็จ
ด้านครูมานิต พงศ์จรัสมณี ครูผู้สอนเด็กเร่ร่อน กศน.อำเภอเมืองขอนแก่น เล่าถึงการทำงานว่าเริ่มต้นที่มาเจอกลุ่มเด็กเร่ร่อน ทางเครือข่ายจะพาครูไปหาแก๊งต่าง ๆ เช่น แก๊งโลงศพ แก๊งมังกรดำ เป็นต้น อย่างแก๊งโลงศพ จะมี “ป้ากุ้ง-นางฐาริณี ใจฐาน” ทำหน้าที่ดูแลเด็ก ๆ แต่กว่าจะเข้าถึงกลุ่มนี้ได้ก็ลำบากพอสมควร
“คำถามแรกที่เขาถามเรา คือ “มาทำไม พี่มาสอนหรอ ผมไม่อยากเรียน” …เราก็พูดว่าเรียนให้ครูหน่อย เขาก็พูดว่าไม่รู้จะเรียนไปทำไม ไม่เห็นอยากเรียน ความรู้ไม่อยากได้ มีความรู้ก็ไม่รู้จะไปทำอะไร นี่คือคำพูดของเขา แต่เราก็ไม่ลดความพยายาม ไปมาหาสู่พวกเขาเรื่อย ๆ จนเด็กบางคนก็ยอมเรียน ขณะที่บางคนยังไม่เรียน แต่แอบมาดูเพื่อนเรียน ทั้ง ๆ ที่ยังอยู่ในชุดนอน จนเข้าเดือนที่ 3-4 ก็มาถามว่าวันนี้มาสอนไหม ผมอยากเรียน หนูอยากเรียน ครูมาสอนหน่อยนะ และพอมาสอนได้สักพัก เราเดินไปไหนเขาก็จะเรียกเราว่าครูจากที่ไม่เคยเรียก …ความรู้สึกครั้งนั้นทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจ คิดในใจว่า เราเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเขาได้ จากที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยสวัสดีเรา
“การสอนการให้ความรู้กับเด็กกลุ่มนี้ ไม่ใช่แค่ให้ความรู้ขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่ต้องเสริมเรื่องอื่นด้วยทั้งอาชีพ บุคลิกภาพ มารยาท การอยู่ร่วมกันในสังคม เรียกว่าสอนทุกอย่างจนเขาเกิดความรักที่อยากจะอยู่กับเรา ส่วนกลุ่มอื่น ๆ ที่ยังไม่เข้ามาเรียน เราก็จะพยายามเข้าไปสอนเรื่องของอาชีพให้เขามีอาชีพ เมื่อเขามีความพร้อมเมื่อไหร่ก็จะเดินเข้ามาเรียนเอง ไม่มีการบังคับให้มาเรียน เพราะเวลาจัดกิจกรรม จะให้เขาเข้ามาร่วมด้วย แล้วเพื่อนเขาก็จะถามกันเอง” ครูมานิต กล่าว
ขณะที่ “ป้ากุ้ง-ฐาริณี” เจ้าของกิจการโลงศพ ที่วันนี้มีบทบาทดูแลเด็กๆ ในแก๊งโลงศพ เล่าว่า “เด็กๆ ส่วนใหญ่ที่มาอยู่บ้านนั้นเป็นเพื่อนลูกชาย เมื่อก่อนพวกเขาจะจับกลุ่มกันหน้าบ้านแล้วก็ชวนกันไปแว้น เด็ก ๆ ส่วนใหญ่หนีออกจากบ้าน เกเร ชอบเที่ยว ติดเพื่อนไม่อยากเข้าบ้าน ลักขโมย ดื่มเหล้า ติดยา แต่คนที่มาอยู่ที่บ้านนี้ ป้าฝึกให้ทำโลงศพจะไม่ให้อยู่เฉย ๆ แต่พอตกเย็น ก็จะรวมกลุ่มกันไปแว้น…เป็นอย่างนี้เรื่อยมา แต่โชคดีที่ ครู กศน. เข้ามาช่วยดูแล ตอนนี้เด็ก ๆ ก็กลับไปเรียนหนังสือกับ กศน. ไม่ค่อยออกไปแว้นแล้ว เรื่องนิสัยเกเรต่าง ๆ ก็หายไป เรียกว่าดีขึ้นมาก ที่สำคัญตอนนี้ลูกชายป้าจบหลักสูตรการทำหีบศพแล้ว เพื่อน ๆ ในแก๊งก็ตั้งใจเรียนรู้ ทำให้รู้สึกภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้อย่างน้อยที่สุดเขาก็ทำหีบศพเป็น และอาจจะเป็นอาชีพติดตัวไปได้”
…การแก้ไขปัญหาง่ายนิดเดียว มีแผลที่ไหน แก้ปัญหาที่นั่น …
เช่นเดียวกับ “เปี๊ยก-ประดิษฐ์จรัส อสุชีวะ” อดีตหัวหน้าแก๊งมังกรดำ ที่ผันตัวเองไปสู่ หัวหน้าศูนย์สร้างโอกาสเด็กและเยาวชน เล่าว่า เด็กส่วนใหญ่จะมีปัญหาทางครอบครัว …พ่อ แม่ ปฏิเสธลูก!! ถ้าเราไม่ช่วย ตัวเลือกของเขาก็คือไม่ตาย ก็ติดคุก ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาง่ายนิดเดียว มีแผลที่ไหน แก้ปัญหาที่นั่น
ที่สำคัญ คือ การสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้กับเด็กเหล่านี้ ซึ่งที่ศูนย์ฯ จะใช้ระบบพี่น้องดูแลกัน มีกฎกติกาเข้มงวด และเน้นการฝึกอาชีพ ให้พวกเขาปั้นพระ ฝึกสมาธิ ทำให้จิตใจนิ่ง และยังสอนให้ซ่อมมอเตอร์ไซค์ เพื่อที่อย่างน้อยก็จะมีอาชีพติดตัว และเด็กที่นี่ยังมีโอกาสได้เรียน กศน. ส่วนใหญ่จะทำงานเป็นเทศกิจ ซึ่งก็เป็นเครือข่ายของพวกเราที่คอยช่วยเหลือดูแลกันต่อไป
ขณะที่เด็กที่เคยหลงทางชีวิต และกำลังเริ่มต้นใหม่ อย่าง “พงษ์พันธ์” เด็กแว้นแก๊งโลงศพ กล่าวว่า ตอนอายุ 13 ปี เกเรทุกอย่าง จับกลุ่มแว้นมี 100 กว่าคน เพื่อนๆ ส่วนใหญ่ที่หนีออกจากบ้าน
“พอพ่อผมเสียชีวิตไม่มีใครช่วยแม่ทำโลงศพ ผมก็ต้องมาช่วย พอเราไม่ออกจากบ้าน เพื่อนก็เข้ามาในบ้านทีละคนสองคน จนกลายเป็น 10-20 คน แล้วก็ลองมาทำโลงศพกัน บางคนว่างอยู่บ้านก็เข้ามาช่วย ทำงานกลางวัน ตอนเย็นเราก็จับกลุ่มแว้น แต่ตอนนี้เลิกแว้นแล้ว ช่วยแม่ทำโลงศพที่บ้าน และมีครู กศน.เข้ามาสอนหนังสือ ให้กลุ่มของเราด้วย เรียนกันหลายคน ตอนนี้บางคนก็อยู่ ม.ต้น บางคนก็จะจบ ม.ปลาย แล้ว ส่วนตัวผมปีนี้ จะเรียนจบ ม.6แล้ว”
ส่วน “ธรรมลักษณ์” เล่าว่า เป็นคนหนองบัวลำภู มาอยู่ขอนแก่นกับญาติเพื่อเรียนหนังสือ แต่เส้นทางไม่ราบรื่นมีปัญหาในโรงเรียน ก็ถูกย้ายกลับหนองบัวลำภู แต่ตัดสินใจไม่เรียนหนังสือ ทั้งที่หัวดีเกรดเฉลี่ย 3.95
“พอไม่เรียนต่อ ออกจากบ้าน ก็ติดเพื่อน ทะเลาะวิวาท ติดยา จนถูกจับชีวิตวนเวียนอยู่แบบนี้ 2-3 ปี จนมาเจอพี่เปี๊ยก ก็บอกแกว่าอยากลองเปลี่ยนตัวเอง ว่ามันจะเป็นยังไง ก็มาเริ่มเรียนปั้นพระกับพี่เปี๊ยก แล้วก็เรียน กศน. พี่เปี๊ยกไม่มีกฎบังคับชีวิตมาก ขอให้เรารู้จักตัวเอง รู้จักทำงาน เขาเข้าใจเรา และการเรียน กศน. ก็มีความรู้สึกว่า เรียนง่าย ครูสอนไม่โหด เข้าใจ ปรึกษามีเวลาคุยกันได้ และตอนนี้ผมเรียนระดับ ม.ปลาย แล้วก็ทำงานเป็นเทศกิจ ด้วย เข้างานเป็นกะ ช่วงว่างก็ทำงานก่อสร้าง ซ่อมมอเตอร์ไซค์ อนาคตคิดว่า จะเรียนเกษตรต่อ จะกลับไปอยู่กับพ่อ แม่ ทำไร่ ทำสวน ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย”
…ทั้งหมดนี่้คือความพยายามของ กศน.ขอนแก่น และเครือข่ายทำงานช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน ที่พยายามสะท้อนปัญหา และนำพาเด็กๆ เหล่านี้ไปสู้เส้นทางชีวิตใหม่
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ