วารินทร์ พรหมคุณ
จากการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชน และเจ้าหน้าที่งานการศึกษาตามอัธยาศัยประจำปี 2560 ภาคใต้ ณ โรงแรมลีการ์เดนท์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งได้มีการเสวนาเรื่องโครงการสร้างเมืองนักอ่าน โดยนายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจะสร้างเมืองนักอ่านได้ต้องทำให้การอ่านเป็นเรื่องของวัฒนธรรม และการเป็นนักอ่านก็ต้องปลูกฝังมาจากครอบครัว สิ่งนี้ถึงจะติดตัว ทุกวันนี้มีหนังสือในท้องตลาดและคนทำหนังสือจำนวนมากแต่คนอ่านกลับมีน้อย จึงอยากเชิญชวนมอบหนังสือเป็นของขวัญในเทศกาลต่างๆให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ดึงให้พูดได้รับอ่านหนังสือมากขึ้น
ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ที่ปรึกษาสำนักงานอุทยานการเรียนรู้(ทีเค ปาร์ค) กล่าวว่า การจะเป็นเมืองนักอ่านได้ต้องทำให้คนมีนิสัยรักการอ่านก่อน ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่ครอบครัว เด็กอายุ 0-3ขวบ ต้องส่งเสริมให้คุ้นเคยกับการอ่าน โดยเริ่มต้นที่การอ่านในสิ่งที่ชอบในสิ่งที่ใช่ก่อน ก่อนที่จะอ่านอย่างมีจุดมุ่งหมาย และอ่านเพื่อนำสาระความรู้ไปใช้ นอกจากนี้การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ก็จะมีส่วนช่วยทำให้เกิดสังคมนักอ่านได้
นางวรรญา ทิพย์ดนตรี ผอ.สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) จังหวัดสงขลา กล่าวว่า นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ให้ความสำคัญกับ “การอ่าน” อย่างมากโดยเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของจังหวัด และสนับสนุน ส่งเสริมกิจกรรมการอ่านเชิงรุกให้ถึงชุมชนโดยมอบรถห้องสมุดเคลื่อนที่ให้แก่ กศน.สงขลาด นำหนังสือออกให้บริการประชาชนครบทั้ง 16อำเภอในสงขลา
ด้าน นายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการสำนักงาน กศน. กล่าวว่า นโยบายส่งเสริมการอ่านของ กศน.จะเดินตามแผนยุทธศาสตร์การอ่านของชาติ โดยมีภารกิจสำคัญ คือการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงมหาดไทย ในการจัดแหล่งเรียนรู้ จัดหาสื่อ จัดหาหนังสือ จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้บริการประชาชนในพื้นที่ โดยล่าสุดสำนักงาน กศน.มีนโยบายให้ทุกจังหวัดจัดห้องสมุดชาวตลาด ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยให้จัดอย่างน้อยจังหวัดละหนึ่งแห่ง ซึ่งผลปรากฏว่าได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างดี นอกจากนี กศน.จังหวัด แต่ละจังหวัดยังรณรงค์ให้สถานศึกษามองบริบทของตัวเองว่าจะส่งเสริมการอ่านได้อย่างไรบ้าง ทำให้แต่ละจังหวัดมีแผนงานของตนเอง เช่น กศน.จังหวัดสงขลา มีการรณรงค์”ไม่ลืมหนังสือ”แก้ปัญหาผู้ไม่รู้หนังสือ เป็นต้น
ขณะที่ ลุงเวียง รอดผล ผู้ดูแลห้องสมุดสำหรับชาวตลาด อายุ 85 ปี กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจาก กศน.ให้ดูแลห้องสมุดสำหรับชาวตลาด ที่ตั้งในสถานีรถไฟ อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งไม่ได้มีการเดินรถไฟแล้ว แต่ธนาคารออมสิน ได้มาซื้อและให้อนุรักษ์ไว้ และให้ตนดูแล เพราะตนเคยทำงานในสถานีรถไฟมาก่อน และได้เปิดร้านขายชากาแฟในสถานีรถไฟมา 65ปีแล้ว การที่ กศน.มาตั้งห้องสมุดสำหรับชาวตลาด เอาหนังสือมาให้คนในตลาดซึ่งติดอยู่กับสถานีรถไฟให้พ่อค้าแม่ค้าได้อ่าน เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะมีแม่ค้าและลูกค้าเก่าแก่เข้ามานั่งดื่มชากาแฟ และมานั่งอ่านหนังสือเป็นจำนวนมาก
…คนแก่บางคนมาอ่าน แต่บางตัวอ่านไม่ออกก็มาถามและก็ช่วยกันอ่านไป อันนี้เป็นเหมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า และทำให้ไม่เหงาด้วย เพราะมีเพื่อนเวียนเข้าออกร้านตลอดเวลา
———————-
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ