ห้องสมุดสำหรับ”ชาวตลาด”
โครงการห้องสมุดเคลื่อนที่สำหรับชาวตลาด ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงเน้นหลักการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน มีเป้าหมายให้ชุมชนชาวตลาด ได้มีหนังสืออ่านเป็นประจำ สร้างวัฒนธรรมการอ่าน และทรงเล็งเห็นช่องทางในการพัฒนาอาชีพสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)จัดหามุมใดมุมหนึ่งในตลาดจัดเป็นห้องสมุดประชาชนสำหรับชาวตลาด
นายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการสำนักงาน กศน.กล่าวว่า ห้องสมุดประชาชนสำหรับชาวตลาด ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้คนที่มาจับจ่ายซื้อของในตลาดและแม่ค้า พ่อค้า ในตลาดระหว่างรอการจับจ่ายซื้อของได้อ่านหนังสือ ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องอาชีพของตัวเอง เพื่อจะได้เสริมอาชีพของตัวเองให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นระหว่างรอลูกค้ามาซื้อของด้วย
ทั้งนี้ จุดเด่นสำคัญของห้องสมุดสำหรับชาวตลาดก็คือ ในเรื่องของความร่วมมือ ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ของห้องสมุดประชาชนชาวตลาดก็คือให้เจ้าของตลาด ผู้นำชุมชนหรือ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการในตลาดได้มีส่วนร่วมในการจัดห้องสมุดชาวตลาด โดยช่วยกันจัดสถานที่ จัดหาสื่ออุปกรณ์
“การบริหารจัดการ ของ กศน.ไม่จำเป็นต้องมีงบประมาณลงไปมาก ไม่จำเป็นต้องจัดหาบุคลากรเพิ่มเติม เพราะเรามีชุมชนเจ้าของตลาดบริหารจัดการ ซึ่งหลายแห่งประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ เพราะมีผู้สนับสนุนตั้งแต่เริ่มโครงการ โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งชุมชนที่อยู่รอบบริเวณตลาดก็ได้มารับบริการ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในเรื่องของข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ และเรื่องของบ้านเมือง สามารถไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้” เลขาธิการสำนักงาน กศน.กล่าว
นอกจากนี้ ในเรื่องของการส่งเสริมการอ่าน ขณะนี้ กศน.ได้ทำในเชิงรุก เป็นลักษณะของรถเคลื่อนที่ดัดแปลงเป็นห้องสมุดเล็กๆ ขับเคลื่อนไปในชุมชน ซึ่งเราจะพยายามให้เข้าถึงชุมชนและสถานที่ที่สามารถจะให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ใกล้มือและได้อ่านสะดวกซึ่งผมคิดว่าจุดนี้จะทำให้ได้ประโยชน์มากที่สุด พร้อมกันนี้ กศน.ยังได้จัดกิจกรรมรักการอ่านในลักษณะของแหล่งเรียนรู้มีห้องสมุดและมีมุมหนังสือที่จัดไว้ทั่ว ๆ ไป เช่น มุมหนังสือในโรงพยาบาล มุมหนังสือในสถานีรถไฟ และห้องสมุดประชาชนกลางหมู่บ้าน ห้องสมุดจังหวัดเคลื่อนที่ที่ กศน.ร่วมกับจังหวัด เป็นต้น
ส่วนเรื่องของคนไม่รู้หนังสือ ปัจจุบันลดลงไปมากเหลือแค่ 10% แต่ผู้ลืมหนังสือขณะนี้ กศน.ได้จัดกิจกรรมเสริมในเชิงของสื่อและให้ครู กศน.ลงไปดูแลกลุ่มเป้าหมาย และลงไปสำรวจเพื่อให้ความรู้เพิ่มเติม โดยเฉพาะในเรื่องการเรียนรู้ภาษาไทย ซึ่งจะต้องนำสื่อเชิงรุกเข้าไปเพื่อไม่ให้กลุ่มเหล่านี้ลืมหนังสือ
——————–
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ