เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
กสศ.จัดกิจกรรมปัจฉิมนิเทศพร้อมโชว์ผลงานความคิด นศ.ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง หลังจบการศึกษาระดับ ปวส. รุ่นแรก ป้อนเข้าสู่ตลาดสายอาชีพกว่า 1,106 คน การันตีคุณภาพการศึกษากว่า 67 % เกรดเฉลี่ย 3.00 นับเป็นความสำเร็จก้าวแรกในการช่วยเหลือเด็กขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้เรียน ย้ำเรื่องโอกาสเป็นเครื่องมือ ลดความเหลื่อมล้ำที่สำคัญ ตัวช่วยเดินหน้าไปสู่การมีอาชีพมีอนาคตและพาครอบครัวหลุดพ้นความยากจนได้
เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดการประชุมปัจฉิมนิเทศ “สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” สำหรับนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ได้รับเกียรติโดยนางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธานกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวให้นโยบายการสร้างโอกาสทางการศึกษาที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา โดยครั้งนี้เป็นการจัดประชุมผ่านรูปแบบ Online และ onsite จำนวน 5 พื้นที่คือเวทีจังหวัดกรุงเทพมหานคร (เวทีกลาง) เวทีจังหวัดเชียงใหม่ เวทีจังหวัดสงขลา เวทีจังหวัดนครราชสีมา และเวทีจังหวัดชลบุรี ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงที่จะสำเร็จการศึกษากว่า 1,106 คน ครู อาจารย์ และผู้บริหารจากสถานศึกษาสายอาชีพ จำนวน 32 สถาบัน ว่าที่นายจ้าง สถานประกอบการ และผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการ กสศ.
นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้บริหาร ครู และอาจารย์สถานศึกษาสายอาชีพจาก 32 แห่งทั่วประเทศที่ทุ่มเทในการบ่มเพาะดูแล พัฒนาทักษะผ่านการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งให้นักศึกษาเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในสาขากว่า 41 สาขาซึ่งเป็นสาขาที่จะตอบโจทย์การพัฒนาประเทศตาม 10 อุตสาหกรรม S Curve และ New S Curve สาขา STEM (วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี) รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัล เป้าหมายตามนโยบายรัฐบาลและความต้องการตลาดแรงงานในท้องถิ่น ทำให้มีนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่สำเร็จการศึกษาจำนวนทั้งหมด 1,106 คน แบ่งเป็นชาย 571 คน หญิง 531 คน แบ่งเป็นนักศึกษาทุนในภาคเหนือ 255 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 226 คน ภาคกลาง 281 คน ภาคตะวันออก 165 คน ภาคใต้ 179 คน
“ภาพรวมทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. ได้สร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนชั้น ม. 3 ม. 6 ปวช. หรือเทียบเท่า จำนวนทุนสะสม 3 รุ่นจำนวนประมาณ 7,265 คน เข้าศึกษาในสถานศึกษาสาย อาชีพทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 98 แห่ง กระจายใน 44 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคในลักษณะโครงการที่เป็น พันธมิตรกับหน่วยงานต้นสังกัดทุกสังกัดสำนักงานคณะรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) สถานศึกษาอาชีวศึกษารัฐ เอกชน วิทยาลัยชุมชน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ร.ร. จิตรลดาวิชาชีพ” นายสุภกร กล่าว
นายสุภกร กล่าวว่า จากการทำงานของ กสศ. ได้ตั้งเป้าความสำเร็จไว้ 3 ก้าว วันนี้เป็นความสำเร็จก้าวที่หนึ่ง คือ “โอกาส” จากสองปีก่อนที่เด็กบางคนไม่เหลือความหวังและแทบไม่ได้เรียนต่อ ตอนนี้มีบัณฑิตจำนวน 1,106 คน นั่นคือก้าวแรกที่ได้รับโอกาสจาก กสศ.ให้เรียนสูงขึ้น แม้มีจำนวน 1,106 คนอาจถือว่าเยอะ แต่ยังมีเด็กที่เกิดในปีเดียวกันและมีฐานะยากลำบากประมาณ 1 แสนคน แต่กสศ.ให้โอกาสได้ 1,106 คน หรือ 1 % เท่านั้น ก้าวที่สองคือการมีงานทำโดยตั้งใจว่า ปี พ.ศ. 2570 นักศึกษาทุนทุกคนจะกลับมารวมตัวกันอีกครั้งอย่าหายไป ซึ่งกสศ.ได้เตรียมเว็บไซต์ หนังสือรุ่นสมัยใหม่ที่อัปเดทได้ทุกวัน ใครไปทำอะไร มีกิจกรรมอะไรอยากเล่าสามารถเข้ามาเขียนในเว็บไซต์ได้ ทุกคนก็จะเห็นเพื่อนทั้งพันกว่าคนได้มาอัปเดทชีวิต
“ก้าวที่สาม คืออยากเห็นผลผลิตของเราเปลี่ยนชีวิตจากรุ่นเราที่เติบโตมาอย่างยากลำบาก เมื่อต่อไปมีครอบครัวก็อยากให้ครอบครัวสลัดหลุดพ้นจากความยากลำบาก ซึ่งแม้จะเริ่มจาก 1,106 คน ก็จะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าโอกาสทางการศึกษาทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาลดลง และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้น ซึ่งน้องๆ ที่จบการศึกษาในวันนี้เป็นก้าวแรกของความสำเร็จ และไม่ใช่เฉพาะความสำเร็จเฉพาะตัว ซึ่งจะนำไปสู่ก้าวที่สอง ก้าวที่สามต่อไป” นายสุภกร กล่าว
นายสุภกร กล่าวว่า ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงมีประมาณปีละ 2,500 ทุน แบ่งเป็นสองส่วนคือส่วนที่ จบ ม.3 และเรียนต่อ ปวช. และ ปวช. เรียนต่อ ปวส. อีก 2 ปี ซึ่งรุ่นนี้เป็นรุ่นแรกที่จบการศึกษาในส่วนที่เรียนต่อ 2 ปี จึงมีผู้ที่จบการศึกษาประมาณ1,106 คน โดยคนที่จบการศึกษามีผลการเรียนดีเกรดเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไปมากถึง 67% ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์สิ่งที่กสศ.กำลังทำว่าประสบความสำเร็จ โดยถ้าครบ 5 ปีก็จะมีนักศึกษาที่ทะยอยจบการศึกษาปีละประมาณ 2,500 ปีต่อทุน โดยทุนนี้อาจจะเรียกว่าเป็นทุนที่ทำงาน 2 ส่วน ส่วนที่ 1 คือให้ทุนการศึกษากับนักเรียนที่ครอบคลุมค่าเรียน ค่าใช้จ่ายในการเรียน ค่าใช้จ่ายรายเดือน และส่วนที่ 2 คือ วิเคราะห์ตลาดแรงงานอาชีพว่าสาขาไหนที่มีโอกาสตกงานก็จะไม่ให้ทุนในสาขานั้น หรือสาขาอาชีพที่ตลาดต้องการแต่คุณภาพการเรียนการสอนยังไม่ถึง ก็ต้องชวนทางสถาบันการศึกษามาร่วมคิดว่าจะช่วยกันพัฒนาอย่างไร โดยแต่ละปีจะมีสถาบันการศึกษาเสนอแนวคิดมาเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัดทำให้แต่ละปีจะทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาได้ประมาณ 30 กว่าสถาบันเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมในพื้นที่ 5 จังหวัด 5 เวทีครั้งนี้ ยังได้มีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานของนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ร่วมแล้วกว่า 135 ผลงาน อาทิ ผลงานหุ่นยนต์เคลื่อนย้ายวัตถุ วิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรี ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เหรียญเงิน จากการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับภาคกลาง ปี 2563 รถบรรทุกดั้มขนาดเล็กเอนกประสงค์ วิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี ทำภายใต้แนวคิดการลดต้นทุนทางการเกษตรและช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถเข้าถึงรถบรรทุกในการใช้งานต่างๆได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ สงขลา ผู้ประกอบภาคเอกชน อาทิ บริษัทเงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท แอ๊ปโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น นำตำแหน่งงานว่าง และแนะแนวอาชีพที่เหมาะสมสมให้กับนักศึกษาทุนและให้กรอกใบสมัครงานตามที่สนใจ