เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
ทำไม ‘คะแนน PISA’ นักเรียนไทยตกต่ำ วงเสวนา กสศ. ถอดรหัสความเหลื่อมล้ำ ‘เก่งกระจุกตกกระจาย’ ยิ่งยากจน คะแนนยิ่งต่ำ แนะจัดสรรงบเพิ่มคุณภาพ ป้องกันหลุดจากระบบการศึกษา ย้ำครอบครัว-โรงเรียน-หลักสูตร ช่วยปรับวงจรเรียนรู้ได้
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2566 ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวในเวทีเสวนา Exclusive Talk PISA 2022 และอนาคตทิศทางการศึกษาไทย Beyond 2025 ว่า จากข้อกังวลเรื่องของผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากลของเด็กไทย PISA 2022 พบว่า นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 394 คะแนน วิทยาศาสตร์ 409 คะแนน และการอ่าน 379 คะแนน ซึ่งลดลงทุกด้านและต่ำสุดในรอบ 20 ปีนั้น ทำให้เกิดข้อคำถามที่ทิศทางของระบบการศึกษาไทยว่าควรจะไปต่ออย่างไร กสศ.
โดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) จึงนำฐานข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development) หรือ OECD มาวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาการศึกษาและปฏิรูปในระยะยาว ซึ่งผลการวิเคราะห์จากการสำรวจสอบถามนักเรียนไทยกว่า 8 พันคน พบว่า สมรรถนะต่ำกว่าระดับพื้นฐานหรือไม่ผ่านเกณฑ์ คือ Level 1 ด้านคณิตศาสตร์มีถึง 68.3% การอ่านไม่ผ่าน 65.4% และวิทยาศาสตร์ไม่ผ่าน 53% ขณะที่กลุ่มอัจฉริยะหรือสมรรถนะระดับสูง Level 5 และ 6 ด้านคณิตศาสตร์มีเพียง 1% การอ่าน 0.2% และวิทยาศาสตร์ 0.6%
“ผลการประเมิน PISA ค่อนข้างสวนทางกับที่เราส่งนักเรียนไปแข่งโอลิมปิคได้เหรียญทองกลับมา แต่ริง ๆ PISA ก็เหมือนการแข่งกีฬา แต่โอลิมปิคเราส่งเด็กเก่งไปที่สู้กับใครในโลกก็ได้ แต่ PISA เป็นกีฬาที่ใหญ่มาก อย่างข้อมูลตรงนี้มาจาก 8 พันคน จึงสะท้อนภาพของความเหลื่อมล้ำ เรามีเด็กเก่งแค่ 1 ใน 100 แต่อีก 70 ไม่ผ่านเลย และถ้ากลุ่มตัวอย่างเป็นหมื่นเป็นแสนคน ก็จะมีเห็นสัดส่วนที่มากกว่านี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วสัดส่วนเด็กเก่งกับไม่ผ่าน ไม่ควรจะห่างกันมากเกินไป เราต้องพยายามขยับสัดส่วนให้เข้าใกล้ค่าเฉลี่ยของ OECD” ดร.ไกรยส กล่าว
ส่วนเรื่องเศรษฐานะของนักเรียน เรามีการแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มรวยสุด 25% บน จนถึงยากจนสุด 25% ล่าง พบว่า นักเรียนที่ครอบครัวมีระดับรายได้น้อยลงมา ค่าเฉลี่ยคะแนนจะน้อยลงตามมาเช่นกัน ทั้ง 3 วิชา
เมื่อดูสัดส่วนระหว่างผ่านเกณฑ์กับไม่ผ่านเกณฑ์ของทั้ง 4 กลุ่ม จะพบว่า กลุ่มรวยที่สุด สัดส่วนใกล้เคียงกันคือ ผ่าน 52% ไม่ผ่าน 48% แต่ระดับรายได้ลดลงสัดส่วนระหว่างผ่านเกณฑ์และไม่ผ่านเกณฑ์ก็แตกต่างกันมาก กลุ่มยากจนที่สุดไม่ผ่านสูงถึง 77.43% ผ่านเพียง 22.57%
แต่เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปจะพบว่า กลุ่มเด็กช้างเผือก คือ กลุ่มเด็กที่ยากจนที่สุด แต่มีผลคะแนนสูงในกลุ่มท็อป 25% บน พบว่ามีจำนวน 260 คน เราพบว่า สามารถทำคะแนนทั้ง 3 วิชาได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มเด็กที่รวยที่สุดในประเทศ นับเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ
แต่กลุ่มนี้มักหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนใคร ไปไม่ถึงระดับอุดมศึกษาเพราะต้องออกมาหาเลี้ยงครอบครัว เราจึงต้องค้นหาเด็กช้างเผือก ดูแลให้มีเส้นทางการศึกษาให้ไกลที่สุด มีงานทำ และเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศ ก็จะมีโอกาสที่มีรายได้สูงที่จะพาออกจากกับดักความยากจน ดังนั้น การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในไทย การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ โดยเราพบว่า กลุ่มช้างเผือกมีทัศนะอยากเรียนสูงมากกว่าเด็กยากจนส่วนใหญ่
“เมื่อพิจารณาปัจจัยสนับสนุนจากครอบครัว เช่น ได้กลับบ้านไปเจอพ่อแม่ไหม มีบทสนทนาการศึกษากับที่บ้านไหม และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโรงเรียน กลุ่มเด็กช้างเผือกสถานการณ์ดีกว่าเด็กยากจน ขณะที่กรอบความคิดแบบเติบโต Growth Mindset หรือเชื่อว่าตนเองพัฒนาได้ กลุ่มเด็กช้างเผือกก็คะแนนสูงกว่าทุกกลุ่ม ดังนั้น การจะเปลี่ยนเด็กยากจนหรือช้างพังให้เป็นช้างเผือกได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปเติมเต็มช่องว่างให้ได้ โดยเฉพาะบริบทของครอบครัวและโรงเรียน รวมถึงปลูกฝัง Growth Mindset ให้ไม่ย่อท้อปัญหา ไม่ยอมแพ้ และเชื่อว่าพัฒนาได้ เพราะหากดูข้อมูลระดับโลก จะเห็นว่าประเทศที่เด็กมีคะแนน Growth Mindset สูง คะแนน PISA ก็สูงตามไปด้วย” ดร.ไกรยส กล่าว
ดร.ไกรยส กล่าวว่า กสศ. ยังทำโครงการวิจัย PISA for School ร่วม OECD วิเคราะห์ในระดับโรงเรียน พบว่า เด็กช้างเผือกทำคะแนนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนจากทุกระดับรายได้ เราวิเคราะห์ว่าความเป็นช้างเผือกสร้างได้หรือไม่ พบว่า มีตัวแปร 5 ตัวทักษะอารมณ์สังคม หรือ Big 5 Model ที่เด็กช้างเผือกมี แต่เด็กยากจนคนอื่นไม่มี คือ 1.การมองโลกแง่บวก 2.การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น 3.รู้สึกกระตือรือร้นไม่หยุดนิ่ง ตัวเองต้องพัฒนาตลอดเวลา 4.การมีระเบียบวินัยในตัวเอง และ 5.ความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งบางทักษะเด็กช้างเผือกก็สูงกว่าเด็กฐานะดีด้วยซ้ำ หากเราบ่มเพาะให้เด็กมีทักษะเหล่านี้ อนาคตของเด็กไทยก็จะดีขึ้นมาก
นอกจากนี้ ยังพบว่า โรงเรียนที่มีปัญหาขาดแคลนทรัพยากร และบุคลากร คือ ยิ่งขาดครู ไม่ครบชั้น ไม่ครบสาระ ขาดอุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอน ยิ่งได้คะแนน PISA น้อย โดยงบประมาณการศึกษาส่วนใหญ่เป็นเงินเดือนและงบประจำ งบลงทุน เหลือเป็นงบพัฒนาการสอนไม่ถึง 10% ดังนั้น จึงต้องสนับสนุนให้มีงบประมาณลงไปถึงห้องเรียนด้วย
ดร.ไกรยส กล่าวต่อว่า เมื่อสอบถามความรู้สึกของเด็ก เด็กรู้สึกตัวเองใช้เวลาเรียนเยอะ แต่ไม่รู้สึกว่าได้เรียนรู้อะไร ขณะที่บางประเทศอย่างนิวซีแลนด์ ฟินแลนด์ แคนาดา เกาหลีใต้ เอสโตเนีย ญี่ปุ่น ใช้เวลาเรียนไม่เยอะ แต่เด็กรู้สึกได้ว่าเรียนรู้จริง ๆ และกลุ่มนี้คะแนน PISA ก็สูง ขณะที่ความรู้สึกปลอดภัย เด็กไทยก็รู้สึกไม่ค่อยเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน หรือขาดขวัญทางการศึกษา ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากช่วงสถานการณ์โควิด 19 ด้วย ขณะที่การสอบถามความเห็นของครู พบว่า ไม่อยากให้มองแค่ผล PISA แต่ต้องมองทะลุไปสู่ภาพที่ใหญ่กว่านั้น คือ พัฒนาการศึกษาอย่างไรให้เด็กมีแรงบันดาลใจรู้สึกอยากเรียน และครูสนับสนุนให้เดินไปบนเส้นทางนั้น เด็กจึงเรียนแล้วไม่เครียด สร้างระบบการศึกษาที่มาจากรอบ ๆ ตัวเด็ก ให้ความสำคัญระบบนิเวศน์การเรียนรู้ เชื่อมโยงไปสู่ครอบครัว ชุมชน ประเทศ
ดังนั้น ข้อเสนอเชิงนโยบายของ กสศ. คือ ต้องไม่มีรั้วระหว่างบ้านและโรงเรียน ที่แยกกันทำหน้าที่ บ้านก็โยนว่าหน้าที่การเรียนการสอนเป็นของโรงเรียน หรือโรงเรียนไม่ได้สนใจสถานะของเด็ก ต้องมีมาตรการสนับสนุนให้เกิดการทำงานระหว่างบ้านและโรงเรียนมีมากขึ้น รวมถึงทำให้เกิดการเรียนรู้เพื่อทักษะอนาคต ต้องบูรณาการทั้งเรื่องของสุขภาวะเด็ก การเรียนการสอน และการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ให้เป็นภาพเดียวกัน จะมองแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้ เช่น สุขภาวะต้องดูว่าเด็กมีภาวะทุพโภชนาการหรือไม่ ซึมเศร้าไหม การเรียนการสอนที่ต้องออกแบบให้ยืดหยุ่น ถ้าทำได้ดี เมื่อมีการประเมินเข้ามาเด็กไทยก็มีขวัญพร้อมเข้าสู่การประเมิน แนวโน้มก็จะดีขึ้น ขณะที่ระบบการศึกษานั้นมีหลายระบบ มีทั้งที่เน้นเรื่องการเรียนอย่างมีความสุข ผลคะแนนดี และความเสมอภาค เราพบว่า มี 4 ระบบการศึกษา คือ ญี่ปุ่น เกาหลี ลิทัวเนีย และไต้หวัน ที่ทำได้ทั้ง 3 ด้าน ส่วนระบบการศึกษาของไทยก็ต้องมาดูว่าจะเริ่มจากจุดไหน
“การปฏิรูปที่สำคัญ คือ ต้องทำให้เกิดวงจรการเรียนรู้ในชั้นเรียน ซึ่งที่ผ่านมาเราติดกับดักแค่ตอนสอบ ใช้การประเมินเชิง Summative Assessment หรือการสอบไล่ พอวัดผลแล้วก็ปิดเทอม ไม่ได้มีการพัฒนา จึงต้องทำให้เกิดการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้เชิง Formative Assessment มากขึ้น ให้ครูมีเครื่องมือนี้ในการประเมินผลตอนที่เด็กกำลังเรียน แต่ไม่ใช่การสอบมิดเทอม จะทำให้เด็กรู้ว่าเรียนรู้เพื่อไปสู่เป้าหมายหรือเนื้อหาส่วนไหน ตัวเองเรียนรู้มาถึงจุดไหน และเป้าหมายการเรียนรู้ต่อไปคืออะไร ทำให้รู้ว่าเด็กเรียนได้ดีขึ้นหรือแย่ลงแล้วต้องรีบพัฒนา อย่าไปรอลุ้นประเมิน PISA ซึ่งเราเป็นอย่างนี้มา 20 ปีแล้ว ซึ่งจริง ๆ PISA เป็นเพียงเหมือนการตรวจสุขภาพเท่านั้น ที่ทำให้เรารู้ว่าต้องพัฒนาตรงไหนอย่างไร” ดร.ไกรยส กล่าว
ดร.ไกรยส กล่าวว่า กสศ. กำลังทำวิจัยกับ OECD ในการนำ PILA หรือนวัตกรรมการประเมินการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องมาทดลองใช้ เพราะต่อไปการประเมิน PISA 2025 รูปแบบการประเมินจะเปลี่ยนจากประเมินความรู้ ที่เป็นแบบเลือกตอบปรนัย มาสู่การประเมินสมรรถนะที่เปิดกว้าง มีระบบโต้ตอบกับผู้ใช้ในการใช้เหตุผลบนฐานข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ หากทำผิดก็แก้ไขได้ จะทำให้เกิดการประเมินว่าทำครั้งที่สองทำดีขึ้นไหม มีความอดทน ต่อสู้ และมี Growth Mindset หรือไม่