ครู 4 แสนคน พร้อมลุยเยี่ยมบ้าน คัดกรอง ป้องกันเด็กยากจน 2 ล้านคน หลุดออกจากระบบ ด้านกสศ. เผย ปี 62 จับมือ สพฐ–อปท.– ตชด. ให้ทุนนักเรียนเสมอภาค ช่วยแก้เหลื่อมล้ำ ไม่น้อยกว่า 8 แสนคน
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.62 ที่สวนเฉลิมหล้า สะพานหัวช้าง กรุงเทพฯ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ร่วมกับ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดแถลงข่าวโครงการรณรงค์ “จดหมายลาครู” ความร่วมมือแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คืนเด็กๆกลุ่มเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษากลับสู่โรงเรียน ภายในงานมีการแสดงนิทรรศการ “จดหมายลาครู” จาก 7 พื้นที่ 4 ภูมิภาค ทั่วประเทศ
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า โครงการรณรงค์จดหมายลาครู ได้แรงบันดาลใจจากชีวิตจริงของนักเรียนด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งต้องลาออกไปหารายได้ เป็นเสาหลักของครอบครัว ซึ่งจากฐานข้อมูล กสศ.และกระทรวงศึกษาธิการ พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กนักเรียนมากกว่า 2 ล้านคน ที่อาศัยอยู่กับครอบครัวที่มีปัญหาความยากจนและมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นักเรียนไม่ไปโรงเรียน เช่น ความห่างไกลของสถานศึกษา ไม่มีค่าเดินทาง ไม่มีค่าอาหาร หรือมีความจำเป็นต้องออกไปทำงานแบ่งเบาภาระครอบครัว เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำดังกล่าว ในปีการศึกษา 2562 กสศ.ได้ขยายความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ในโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขสำหรับนักเรียนทุนเสมอภาค ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะมีเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์การคัดกรอง ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อขจัดอุปสรรคในการมาเรียนเพิ่มขึ้นจากเดิม 510,000 คนในปีการศึกษาที่ผ่านมา เป็นประมาณ 800,000 คน
“สิ่งสำคัญยิ่งกว่าเงินอุดหนุน คือ การเยี่ยมบ้าน เพื่อค้นหา คัดกรองให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่เดือดร้อนที่สุดตามเกณฑ์ของกสศ.โดยในปีนี้ จะเป็นการรวมพลังของคุณครูทั้ง 3 สังกัด กว่า 4 แสนคน ถือเป็นกลไกที่ช่วยให้การลดความเหลื่อมล้ำมีประสิทธิภาพ เกิดผลยั่งยืนที่สุด และยังมีกระบวนการติดตามนักเรียน ที่ได้รับเงินอุดหนุนอย่างใกล้ชิดได้แก่ 1.การรักษาอัตราการมาเรียนให้เกินกว่าร้อยละ 80 ตลอดปีการศึกษา 2.น้ำหนักส่วนสูง การมีพัฒนาการที่สมวัยตามเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อมั่นใจว่าเป็นการช่วยเหลือที่เด็กได้ประโยชน์อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษากับ กสศ. ได้ หากพบเห็นเรื่องราวของเด็กๆเหล่านี้ สามารถแจ้งไปยังโรงเรียนหรือเขตพื้นที่การศึกษาในพื้นที่ รวมถึง สายด่วนกสศ. 02-0795475 กด1” นพ.สุภกร กล่าวว่า
นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2561 สพฐ. และ กสศ. ร่วมมือกันสำรวจและคัดกรองนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ สามารถช่วยบรรเทาอุปสรรค ปัญหาต่างๆ ในการไปเรียน เพิ่มโอกาสทางการศึกษาของนักเรียนได้จำนวน 510,040 คน เงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขของกสศ.ยังช่วยให้รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนนักเรียนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15 ขณะที่โรงเรียนในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่มีนักเรียนยากจนที่ได้รับจัดสรรช่วยเหลือเต็ม 100% จำนวน 388 โรงเรียน อย่างไรก็ตามในปีนี้ สพฐ.ได้กำชับ ให้เขตพื้นที่การศึกษาทุกจังหวัด สถานศึกษา และคุณครูทั่วประเทศ ให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านและคัดกรองเด็กที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ เพื่อไม่ให้มีใครต้องตกหล่นอีกต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ายังมีนักเรียนกว่า 1 แสนคนที่น่าจะเข้าข่ายได้รับเงินอุดหนุน แต่ไม่ได้รับโอกาสนี้
นายขจร ศรีชวโนทัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า เด็กยากจนด้อยโอกาสมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกนอกระบบการศึกษาได้ทุกวินาที หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องจึงต้องทำงานเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ให้ทันท่วงที ในช่วงเดือนกรกฎาคม ครูสังกัดอปท.จำนวน 377 โรงเรียน ใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาญจนบุรี นนทบุรี สระแก้ว ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และยะลา จะลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน คัดกรองนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล – ม.ต้นจำนวนมากกว่า 120,000 คน เพื่อแก้ปัญหาได้เป็นรายคน ตามบริบทพื้นที่ได้อย่างแท้จริง โดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่ทางกสศ.อำนวยความสะดวกให้ ทั้ง 10 จังหวัดนำร่องของ อปท. จะเป็นตัวแบบเพื่อขยายผลการปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของสถานศึกษาสังกัดอปท.ทั่วประเทศทั้งหมดในปีต่อไป
ด้าน พล.ต.ต.วันชาติ คำเครือคง รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กล่าวว่า นักเรียนในสังกัด กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) มีจำนวนทั้งสิ้น 26,552 คน จาก 218 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นพื้นที่ภาคเหนือ 78 โรงเรียน ภาคตะวันออกฉียงเหนือ 52 โรงเรียน ภาคกลาง 46 โรงเรียน และภาคใต้ 42 โรงเรียน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร และด้อยโอกาส จากนี้ครูในสังกัด ตชด. จะลงพื้นที่ เยี่ยมบ้าน เพื่อค้นหา คัดกรองอย่างรัดกุมให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่กำลังเดือดร้อนตามเกณฑ์ ของกสศ. เงินอุดหนุนนี้แม้จำนวนไม่มากแต่อย่างน้อยก็ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองได้ ทั้งในส่วนของค่าเดินทาง ค่าอาหาร ฯลฯ ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กๆกลุ่มนี้ ความร่วมมือระหว่าง บช.ตชด. และ กสศ.จะไม่ใช่งานเฉพาะหน้า ระยะสั้นแต่จะเป็นการช่วยเด็กนักเรียนกลุ่มนี้ในระยะยาว และมีความยั่งยืน
ด.ช.พงษ์ศกร อาสาพิทักษ์ไพร หรือ น้องแดง อายุ 13 ปี โรงเรียนบ้านนาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เจ้าของจดหมายลาเล่าถึงเหตุผลที่ต้องลาครู ว่า พ่อของตนเสียชีวิตแล้ว ทำให้ครอบครัวเหลือกันอยู่ 3 คนไม่ได้มีเงินมากนัก ทุกวันนี้พี่คนโตไปทำงานรับจ้าง ตนอยู่กับแม่ แม่ต้องทำงานหนักหาเงิน พอช่วงเก็บลำไยตนเลยต้องหยุดเรียนไปช่วยแม่ ตอนที่เขียนจดหมายลาก็ไม่รู้จะได้กลับมาเรียนเมื่อไร แต่ถ้าตนยังไปเรียนก็จะไม่มีใครช่วยแม่จริงๆ จึงตัดสินใจลาเรียน จนกระทั่งครูบอยมาตามกลับไปเรียนก็เลยกลับมา เพราะถึงแม้ตนจะเรียนไม่เก่ง แต่ก็อยากจะเรียนหนังสือ ตนมีความหวังว่าโตขึ้นจะเป็นนักกีฬาฟุตบอล เพราะเป็นกีฬาที่ชอบมาก และในวันนี้ได้มีโอกาสกลับมาเรียนก็ตั้งใจว่าจะเรียนให้จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 และตามฝันให้สำเร็จ
นายนพรัตน์ เจริญผล ครูโรงเรียนบ้านนาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า หลังจาก ด.ช.พงศกร อาสาพิทักษ์ไพร หรือ ‘น้องแดง’ จบป.6 โรงเรียนบ้านใบหนา พบน้องแดงเดินเล่นอยู่แถวโรงเรียน เกิดสงสัยว่าทำไมไม่ไปโรงเรียนจนทราบว่าเด็กไม่อยากไปเรียน เพราะเดินทางลำบาก และจะออกไปช่วยแม่รับจ้างทำงานที่บ้านฐานะยากจน ผนวกกับช่วงนั้นพ่อน้องแดงเพิ่งเสียชีวิต จึงคิดว่ายังไงก็ตามเราก็ต้องให้น้องแดงได้เรียนต่อ เลยพูดกล่อมให้กลับไปเรียนและย้ำว่าอย่างน้อยขอให้จบ ม.6 มีประกาศนียบัตรติดตัวไป จนตอนนี้ปัจจุบันน้องแดงเรียนอยู่ ม.2 โรงเรียนบ้านนาเกียน
ทั้งนี้ ส่วนครอบครัวของน้องแดงมีรายได้เฉลี่ยไม่ถึง 500 บาทต่อเดือน ส่วนใหญ่รับจ้างทำไร่ แบกกะหล่ำปลี รายได้ไม่แน่นอน อย่างตอนนี้มีเด็กเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษาอีกประมาณ 2 คน ตอนนี้พยายามติดตามเด็กๆกลับมาเข้าเรียนให้ได้ตามปกติ ส่วนใหญ่สาเหตุมาจากความยากจนทำให้เด็กส่วนใหญ่ต้องหยุดเรียน และกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ในอำเภออมก๋อย เด็กนักเรียนมีฐานะยากจน
“ตอนนี้มีเด็กนักเรียนหลายคนเขียนจดหมายลาครูไปปลูกข้าว ไปเก็บเห็ดเผาะ เนื่องจากตรงกับช่วงฤดูปลูกข้าวพอดี เป้าหมายหลักต้องการนำเงินมาจุนเจือครอบครัว เด็กบางคนลาหยุดเรียนไป 1-2 อาทิตย์ เมื่อกลับมาเรียนครูก็ต้องมาสอนย้อนหลังให้ จึงคิดว่าจำนวนเด็กยากจนน่าจะเพิ่มขึ้นและเสี่ยงหลุดนอกระบบการศึกษาอีก” นายนพรัตน์ กล่าว
นพรัตน์ กล่าวว่า เงินอุดหนุนที่ได้รับจาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ถือว่ามีความสำคัญมาก ในการเข้าไปช่วยเติมเต็มเรื่องค่าใช้จ่ายในครอบครัว เช่น มาม่า ปลากระป๋อง เป็นต้น และใช้จ่ายอื่นๆที่จำเป็น เงินอุดหนุนส่วนนี้จะเป็นกำลังใจให้เด็กและผู้ปกครอง ช่วยสนับสนุนให้บุตรหลานไปเรียนหนังสือต่อ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ