ชงประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ เริ่มใช้กับครูรุ่นใหม่
วันที่ 19 มิ.ย.2561 ศ.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยผลการประชุม กอปศ. ที่มี ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน ว่า กอปศ.ได้พิจารณาหมวด 6 ระบบทรัพยากรเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าประเทศไทยใช้งบฯ การศึกษาเกือบ 9 แสนล้านบาท คิดเป็น 6.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ หรือจีดีพี และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 2.9% โดยหน่วยงานที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานมากที่สุด 70% คือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งในปี 2561 สพฐ.ใช้งบฯ 3 แสนล้านบาทเศษ โดยจำนวนนี้เป็นงบฯ บุคลากรกว่า 2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3 ใน 4 ของงบฯ ที่ได้รับทั้งหมดและในจำนวนนี้ เป็นงบฯ วิทยฐานะ และค่าตอบแทนอื่นๆ ของครู ปีละ 3.5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ สพฐ.มีข้าราชการในสังกัดเกือบ 5 แสนคน คิดเป็น 1 ใน 4 ของข้าราชการทั้งประเทศ ขณะที่จำนวนนักเรียนเข้าเรียนลดลง สวนทางกับค่าตอบแทนครูที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2550 มีสัดส่วนครู 1 คนต่อนักเรียน 20 คน แต่ปัจจุบันครู 1 คนต่อนักเรียน 16 คน ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น ประกอบกับตั้งแต่ปี 2561-2565 จะมีครูเกษียณอายุราชการปีละ 2 หมื่นคน รวม 1 แสนคน ดังนั้น จะต้องมาปฏิรูประบบทรัพยากรเพื่อการศึกษาและเรียนรู้ใหม่ โดยการจัดสรรงบฯ ผ่านผู้เรียน รวมถึงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนต้องมีแผนอัตรากำลังที่ชัดเจนและเร่งด่วน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ไปศึกษาอัตราเงินอุดหนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ เนื่องจากอัตราที่ใช้อยู่ปัจจุบันคำนวณมาตั้งแต่ปี 2545 หรือใช้มา 12 ปีแล้ว และควรมีการปรับอัตราเงินอุดหนุนให้แก่สถานศึกษาเอกชน ซึ่งปัจจุบันรัฐอุดหนุนอยู่ที่ 70%
ศ.นพ.จรัส กล่าวว่า กอปศ. เห็นว่าถ้ามีการปรับโครงสร้างการใช้ทรัพยากรโดยให้ตรงไปที่โรงเรียน และโรงเรียนสามารถบริหารทรัพยากรได้เองจะเพิ่มประสิทธิภาพ และทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงได้ ส่วน สพฐ.เขตพื้นที่ฯ จะมีหน้าที่เพียงการสนับสนุนดูแลไม่ใช่ปฏิบัติโดยตรง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ เงินที่ใช้ด้านบุคลากร ซึ่งดูเหมือนจะยังไม่มีประสิทธิภาพ เช่น เงินวิทยฐานะ ซึ่ง สพฐ.ใช้ปีละประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท โดยใช้ไปมากสำหรับผู้ที่มีวิทยฐานะชำนาญการ 77,135 คน และชำนาญการพิเศษ 197,880 คน แต่ระบบวิทยฐานะยังไม่เอื้อไปสู่คุณภาพ เพราะไปอิงผลงานในอดีต อิงการเข้าร่วมการอบรมพัฒนา ดังนั้น จะต้องมีการปรับระบบวิทยฐานะ ให้มีความหมายมากยิ่งขึ้น และให้มีการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ ทั้งนี้ อาจไม่สามารถทำได้กับผู้ที่มีวิทยฐานะอยู่แล้ว แต่จะเริ่มใช้สำหรับผู้ที่จะเข้าสู่วิทยฐานะ
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ กอปศ.จะมีพิจารณาว่าส่วนใดจะต้องบรรจุไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ส่วนใดจะอยู่ในแผนการปฏิรูปที่จะออกมาคู่กับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
ด้าน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า การจัดสรรงบฯ ที่จะเสนอในประเด็นการปฏิรูปประเทศ 1.งบฯ ลงทุนก่อสร้างครุภัณฑ์ให้ดูสภาพตามความจำเป็นของแต่ละที่ 2.งบฯ ดำเนินงาน ปัจจุบันอยู่ที่ สพฐ. 6.4 พันล้านบาท เขตพื้นที่ฯ 1.8 พันล้านบาท ซึ่งความจริงเขตพื้นที่ฯ ควรจะได้มากและควรมากสุดที่สถานศึกษา ปัจจุบันสถานศึกษา 30,324 แห่ง มีงบฯดำเนินการประมาณ 15 หมื่นล้านบาท และการให้โรงเรียนใช้จ่ายได้อย่างคล่องตัว อาจต้องปรับเป็นเงินอุดหนุนหรือเงินรายจ่ายอื่น และการจัดสรรงบฯจะไม่มีการเฉลี่ยเท่ากันหมด แต่จะดูตามความแตกต่างเรื่องบุคคล เช่น ฐานะ ความพิการ สถานศึกษา เช่น สถานที่ตั้ง ขนาดโรงเรียน และความแตกต่างระหว่างรัฐและเอกชน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ