กอปศ.พิจารณาร่างพ.ร.บ.สถาบันหลักสูตร การเรียนการสอน และทรัพยากรการเรียนรู้แห่งชาติ ตั้งเป้าหมายแล้วเสร็จ 2 เดือน ประกาศใช้เป็นกฎหมายในปีนี้
วันที่ 13 มี.ค.2561 ผศ.ยุวดี นาคะผดุง ประธานอนุกรรมการการจัดการเรียนการสอน ในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กอปศ.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.สถาบันหลักสูตร การเรียนการสอน และทรัพยากรการเรียนรู้แห่งชาติ ซึ่งในการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้มีความจำเป็นที่จะต้องตั้งสถาบันหลักสูตร การเรียนการสอน และทรัพยากรการเรียนรู้แห่งชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญศึกษา พัฒนาวิธีการจัดการเรียนการสอน การนำหลักสูตรไปใช้ การวัดและประเมินผล รวมทั้งพัฒนาคลังทรัพยากรการเรียนรู้ทั้งสื่อและผู้รู้ จัดหมวดหมู่สื่อดิจิทัล หนังสือ และสื่อรูปแบบอื่น ๆ อย่างครบวงจรและถูกต้อง ตลอดจนทำข้อเสนอเชิงนโยบาย
“สถาบันนี้จะเป็นนิติบุคคล มีความอิสระ มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ มีคณะกรรมการบริหารสถาบันฯ และมีการสรรหา ผอ.สถาบันฯ โดยให้ดำรงตำแหน่งเป็นวาระๆ ละ 4 ปีเป็นได้ไม่เกิน 2 วาระ หรือ 8 ปี เพื่อทำงานได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งสถาบันหลักสูตรฯ ไม่ใช่ตัดเสื้อตัวเดียวให้ใส่เหมือนกันทั่วประเทศ แต่หลักสูตรแกนกลางยังจำเป็นต้องมี เพื่อประกันว่าขั้นต่ำที่เด็กต้องเรียนในแต่ละระดับชั้นคืออะไร ส่วนรายวิชาเพิ่มเติม กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน หรือหลักสูตรสถานศึกษานั้น สถานศึกษาต้องทำให้สอดคล้องกับบริบทของตัวเอง”ผศ.ยุวดี กล่าว
ด้าน ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธาน กอปศ. กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการปฏิรูปโครงสร้างใหญ่เรื่องวิชาการ ต้องแยกออกมาจากการบริหารให้มีความเป็นอิสระ ไม่ให้ถูกแทรกแทรงได้ ประกอบกับขณะนี้สภาพของความรู้และการเรียนรู้เปลี่ยนโลกอนาคตต้องใช้สมรรถนะ ประกอบกับการเรียนรู้จากดิจิทัล ก็เป็นเครื่องมือสำคัญและมีสื่อใหม่ ๆ มากมาย
ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนจากการเรียนเนื้อหาสาระไปสู่ฐานสมรรถนะ ซึ่งสถาบันที่จะตั้งขึ้นใหม่นี้จะเป็นองค์กรที่รวมเรื่องหลักสูตร และการประเมินภายใน ทรัพยากรการเรียนรู้ของการศึกษาสายสามัญทั้งหมด เพื่อรักษามาตรฐานขั้นต่ำของการศึกษา และสามารถใช้ได้ทั้งการศึกษาในระบบและการศึกษานอกโรงเรียน ที่เทียบได้เลยในบางส่วน ส่วนจะนำหน่วยงานใดในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เช่น สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน เป็นต้น มารวมจัดตั้งเป็นสถาบันหลักสูตรฯ นั้นต้องดูในรายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งก็น่าจะมีหลายสำนักเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และผู้ปฏิบัติงานในองค์กรใหม่นี้ก็ควรเป็นพนักงานราชการไม่ใช่ข้าราชการ
ทั้งนี้ กอปศ.ตั้งเป้าหมายให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน และประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ภายในปีนี้
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ