ห้ามจัดสอบสาระเด็กปฐมวัย มุ่งดูแลพัฒนาการสมอง-วัดสมรรถนะรอบด้าน
วันที่ 3 เม.ย.2561 ศ.วิริยะ นามสิริพงศ์พันธุ์ กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) ในฐานประธานอนุกรรมการเด็กเล็ก เปิดเผยภายหลังการประชุม กอปศ. ว่าขณะนี้คณะกรรมการได้ดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.(…) เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการปรับรายละเอียด และคาดว่าจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาได้เร็ว ๆ นี้ โดยจะมีการกำหนดคำนิยามคำว่า”เด็กปฐมวัย” ไว้ในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ว่าหมายถึง “เด็กที่มีอายุไม่เกิน 8 ขวบ” เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเด็กที่เหมาะสมกับช่วงวัย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการพัฒนามนุษย์ให้มีสมรรถนะอย่างรอบด้านรวมถึงสมอง ซึ่งจะต้องหาวิธีการป้องกันไม่ให้มีการยับยั้งพัฒนาการดังกล่าว ซึ่งหมายถึงการสอบโดยเน้นสาระ ดังนั้น จะมีการกำหนดลงในกฎหมายฉบับนี้ ว่าห้ามสอบ แต่ก็จะเปิดให้มีการจัดสอบได้ในกรณีของการสอบสมรรถนะ เช่น การทดสอบพฤติกรรมเด็ก หรือสอบพ่อแม่ เป็นต้น
ศ.วิริยะ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังหาแนวทางบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กปฐมวัน ซึ่งเกี่ยวข้อง 4 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยให้มีคณะกรรมการกำหนดนโยบายที่มาจาก 4 กระทรวง เพื่อบูรณาการนโยบายให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงการจัดสรรงบฯ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะทำหน้าที่ให้บริการงานดูแลเด็กเล็ก เชื่อมโยงกับทั้ง 4 กระทรวง หรือถ้าจะทำในลักษณะของเครือข่ายก็จะต้องให้อำนาจ อปท.ในการทำงาน
“จากการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ พบว่า ส่วนใหญ่เห็นว่าเด็กชั้น ป.1 และ 2 ไม่ควรเรียน 8 กลุ่มสาระ แต่ให้เน้นสมรรถนะ ซึ่งทาง ศธ.รับลูกไปแล้ว โดยขณะนี้มีการปรับปรุงวิธีการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน โดยไม่เน้น 8 กลุ่มสาระ ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ ศธ. รับลูกและเดินไปพร้อมกับ กอปศ.” ศ.วิริยะ กล่าว
ด้าน นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า กฎหมายพัฒนาเด็กปฐมวัย จะดูแลและพัฒนาเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงอายุ 8 ขวบ โดยแบ่งช่วงวัยของเด็กเป็น 1.ช่วงก่อนคลอดหรือทารกในครรภ์มารดา 2.ช่วงแรกเกิดถึง 3 ปีบริบูรณ์หรือช่วงเด็กเล็ก 3.ช่วงอายุ 3 ปีบริบูรณ์ถึงก่อน 6 ปีบริบูรณ์ เรียกว่าช่วงก่อนวัยเรียนหรือวัยอนุบาล และ 4.ช่วงอายุ 6 ปีบริบูรณ์ถึงก่อน 8 ปีบริบูรณ์ เรียกว่าช่วงรอยต่อระหว่างวัยอนุบาลกับวัย ป.1-2
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้กำหนดไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ว่าเพื่อเป็นการปกป้องพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ห้ามมิให้สถานศึกษาตามกฎหมายว่า ด้วยการศึกษาแห่งชาติ และโรงเรียนตามกฎหมาย ว่าด้วยโรงเรียนเอกชน รับเด็กปฐมวัยเข้าศึกษาโดยใช้วิธีการสอบคัดเลือก เว้นแต่ได้กระทำตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการนโยบายทั้ง 4 กระทรวงกำหนด และในมาตรา 19 วรรคสอง ยังระบุว่าห้ามบุคคลใดเรียกรับเงิน หรือเก็บเงิน หรือผลประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นเงื่อนไขในการรับเด็กปฐมวัยเข้าศึกษาในระดับอนุบาลและประถมศึกษา
โดยมีบทกำหนดโทษ ในมาตรา 27 ว่าผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และมาตรา 28 กำหนดว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 19 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10 เท่าของเงินที่เรียกรับ หรือเงินที่เรียกเก็บหรือประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้กำหนดให้เงินเบี้ยปรับดังกล่าว ส่งเข้ากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ