การศึกษาไทยในวันนี้…
คุณภาพชีวิตที่ดีหนึ่งของคน หรือประชากรในชาติบ้านเมือง สิ่งหนึ่งก็คือระบบการศึกษา การเรียน
รู้ ที่อาจจักเริ่มตั้งแต่การศึกษาตามธรรมชาติ การศึกษาด้วยตนเอง สิ่งแวดล้อม ประสบการณ์ของชีวิตรวมไปถึงระบบการศึกษาที่ภาครัฐ หรือรัฐบาลของแต่ละประเทศได้กำหนดไว้ในกฎหมายหลักของประเทศก็คือ รัฐธรรมนูญของประเทศชาติบ้านเมืองนั้นๆ คำถามหนึ่งในระบบการศึกษาก็คือ อะไรสิ่งใดคือ การศึกษาที่ดีและมีมาตรฐานของมนุษย์
การศึกษาเรียนรู้ที่รัฐได้จัดให้กับเด็กเยาวชนมีมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาลนับพันปีตั้งแต่สมัยกรีก โรมัน จีน อินเดีย รวมถึงบางประเทศที่อาจจักนำทฤษฎี หลักการของระบบการศึกษานำมาใช้กับเด็ก เยาวชน ผู้เรียนแต่ละช่วงวัยโดยแบ่งเป็นระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมตอนต้นปลาย ระดับอุดมศึกษา ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก และการศึกษาหลังระดับปริญญาเอกที่ถูกจัดอยู่ในโลกปัจจุบัน ระบบการศึกษาในสังคมไทยเรามีการพัฒนาการมาจากอดีตที่อยู่ในข้อเท็จจริง ทั้งจากในรั้วในวัง การศึกษาที่จัดโดยพระสงฆ์ในวัด นักบวชในศาสนาอื่นๆ มาจนถึงระบบการศึกษาที่บริหารจัดการโดยเอกชน องค์กรการกุศลสาธารณประโยชน์และรัฐ
มีคำถามที่หลากหลายที่ว่า การศึกษาแบบใด ระบบใด ใช้หลักการทฤษฎีใดในการจัดการศึกษา หรือประเทศใดที่เป็นแบบอย่างของระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก ก็อาจจักอยู่ในข้อเท็จจริงที่รัฐ หรือรัฐบาลของแต่ละประเทศจักบริหารจัดการประเทศในภาพรวมทั้งระบบการเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี สังคม ศาสนา วัฒนธรรม ของประเทศนั้นๆ ระบบของการศึกษาที่ดีและเป็นที่คาดหวังทั้งผู้ปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้องก็คือ ให้เขาเหล่านั้นได้มีความรู้ ทักษะ ความสามารถ การคิดวิเคราะห์ การทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข การประกอบอาชีพการงานจากศาสตร์ สาขาที่ได้เรียนรู้มาอย่างชำนาญการ รวมไปถึงการนำความรู้ความสามารถนั้นนำไปใช้กับสังคมประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้าทันอารยประเทศ…
สยาม หรือไทย เราได้มีพระราชบัญญัติประถมศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2464 ที่ก่อกำเนิดในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) หรือหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา ในช่วงแรกๆ ของการมีกฎหมายด้านการศึกษาออกมาได้พบเห็นถึงสภาพปัญหาต่างๆ อาทิ หลักการวิธีการ งบประมาณ บุคลากร การบริหารจัดการระบบการจัดการศึกษาที่มีการควบคุมโรงเรียนสอนศาสนาที่เป็นของเอกชน โรงเรียนจีน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 “คณะราษฎร” ได้ประกาศฉบับที่ 1 ไว้ในหลักการบริหารชุดใหม่ไว้หกประการ คือ เอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และการจัดการศึกษาอย่างเต็มที่ให้แก่ราษฎร…(Ilaw.or.th)
สมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2501 ได้มีการจัดตั้งสภาการศึกษาแห่งชาติขึ้นมา โดยทำหน้าที่ร่างแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2503 โดยแผนการศึกษาฯ ฉบับดังกล่าวมีการใช้ในระบบของรัฐยาวนานถึง 16 ปี หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2520 ที่มีเป้าประสงค์อบรมพลเมืองให้ตระหนักและเห็นคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเสรีภาพในกรอบของกฎหมายของประเทศ…
พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่มีการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการ และเปิดโอกาสในภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาทั้งเอกชน องค์กรวิชาชีพ บุคคลต่างประเทศ ในมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้ระบุไว้ว่า “การศึกษา หมายความว่า กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต”
การศึกษาขั้นพื้นฐาน หมายความว่า การศึกษาก่อนระดับอุดมศึกษา และการศึกษาตลอดชีวิต หมายถึง การศึกษาที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต…
การศึกษาของเมืองไทยเราถูกกล่าวขานอยู่ในบริบทต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องยาวนานมากกว่าห้าทศวรรษ อาทิ โอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาที่รัฐจัดให้สามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียมจริงหรือไม่ หรือว่าสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงทั้งของรัฐและเอกชน มีการแข่งขันกันทั้งระบบธุรกิจการศึกษามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งเกิดช่องว่างทางการศึกษาทั้งระบบในงาน เงิน คนและการบริหารจัดการ โรงเรียนที่อยู่ในเป้าหมายแห่งการยุบควบรวม อัตรากำลังของความเป็นข้าราชการที่ถูกตัดทอน การแข่งขันกันในระดับผู้บริหารในการทำผลงานทางวิชาการ ระบบในประเมินความดีความชอบมิอาจจักรวมถึงอำนาจมืด
หรือมือที่สามที่เข้าไปบริหารจัดการการศึกษาที่อยู่ในข้อเท็จจริง…
เมื่อเร็ววันมานี้ รัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่รัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …โดยเฉพาะความย้อนแย้งกันถึงอำนาจในการบริหารจัดการระหว่างศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ตามมาตรา 39 ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 รวมถึงทักษะของความเป็นครู ไม่ควรจะกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ที่จะมีการแก้ไข หากควรกำหนดไว้ในประกาศของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เรื่องมาตรฐานวิชาชีพครู อาจจักรวมถึงบทเฉพาะกาล มาตรา 106 ที่กำหนดให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในเวลา 2 ปี ซึ่งผู้แทนราษฎรได้มีการอภิปรายถึงกฎหมายดังกล่าว มีลักษณะของการไม่ยืดหยุ่น รวบอำนาจไว้ส่วนกลาง ขาดแผนพัฒนาการศึกษาที่เน้นให้ผู้เรียนมีความพร้อมและรู้เท่าทันยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงพร้อมเรียกร้องให้มีการปรับแก้ไขสิ่งหนึ่งก็คือ ภาวะแห่งการเมืองที่มีความอ่อนไหวเกรงว่าจะมีการยุบสภา กฎหมายฉบับนี้ตกไปแล้ว ไปเริ่มต้นใหม่…(มติชนรายวัน 23 พฤศจิกายน 2564 หน้า 7)
ข้อมูลหนึ่งของนายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุน กสศ. พบว่ามีเด็กเยาวชนที่อยู่ในระบบการศึกษาภาคบังคับประมาณ 8 ล้านคน ในจำนวนนี้มีนักเรียนนักศึกษาที่อยู่ในครอบครัวยากจน 15% และจำนวน 5% หรือ 500,000 คน หลุดออกจากระบบการศึกษา หรืออาจจักเรียกว่า “เด็กกลุ่มเสี่ยง” เด็กกลุ่มล่องหน มิอาจจะรวมถึงเด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร เด็กรหัส G เด็กที่มีเลขบัตรประชาชนขึ้นต้นด้วย 00 รวมถึงเด็กที่ต้องออกจากระบบการศึกษา เพื่อช่วยผู้ปกครองหารายได้ ผู้ปกครองเจ็บป่วยพิการ ปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (มติชนสุดสัปดาห์ 26 พ.ย.-2 ธ.ค.2564 หน้า 24)
ภาวะแห่งการเมืองไทยในวันนี้มิอาจจักปฏิเสธถึงระบบการศึกษาของเด็กเยาวชน ประชาชนในระดับชาติบ้านเมืองในวันข้างหน้า การทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ครบองค์ประชุม ความคิดเห็นที่แย้งกันระหว่างรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านทำให้สภาล่มอยู่บ่อยครั้งที่ไม่สามารถออกกฎหมายที่จักเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในชาติ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนใน พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ. … อคติทางการเมือง ขั้ว ฝ่าย อำนาจผลประโยชน์ วาทกรรม “นักเรียนเลว” ที่จัดทำคู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียน ยังคงอยู่ในข้อเท็จจริง มิอาจจักรวมถึงที่นักเรียนโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรี หาทางหนีออกจากโรงเรียนเนื่องด้วยถูกการรังแกจากรุ่นพี่ หรืออาจจะมีพฤติกรรมที่มิพึงประสงค์ของตนเอง ครอบครัวที่ต้องพบกับสภาพปัญหาทั้งอำนาจนิยม วัตถุนิยม บริโภคนิยม เงินนิยม…
บริบทของการศึกษาในสังคมไทยวันนี้เกี่ยวเนื่องทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ที่มีวิสัยทัศน์ถึงประเทศต้องมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง พัฒนาคนในทุกมิติและช่วงวัยให้เป็นคนดี คนเก่งและมีคุณภาพ สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม สร้างความเติบโตคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภาครัฐต้องทำงานเพื่อประชาชนและประโยชน์โดยส่วนรวม
ในหลักการดังกล่าวดูเสมือนฝันที่จักไปให้ถึงในวันเวลานั้น มิอาจจักรวมถึงให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 …
วันเวลานี้ปัญหาของประเทศชาติบ้านเมืองรวมถึงนักการเมืองไทยบางคนที่อยู่ในสภาพแห่งการแก่งแย่งอำนาจและผลประโยชน์ทั้งส่วนตน และพรรคพวก นักการเมืองไทยเราในวันนี้ดูเสมือนว่าจะมองเป็นคุณภาพชีวิตของเด็กเยาวชน ประชาชนทั้งเศรษฐกิจ สังคม ปัญหาปากท้อง อาชญากรรมรายวัน การฆ่าตัวตาย การศึกษาไทยทั้งระบบ ตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงอุดมศึกษามีความย้อนแย้งที่อยู่ในข้อเท็จจริง คำถามหนึ่งก็คือ ระบบการศึกษาไทยในวันนี้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพทั้งผู้เรียนและสถาบันการศึกษาตามความคาดหวังหรือไม่ บัณฑิตที่จบมาต้องตกงาน หรือไม่มีงานทำนับแสนราย จำนวนผู้ต้องขัง หรือนักโทษที่เข้าสู่เรือนจำ ทัณฑสถาน สถานพินิจมีจำนวนเพิ่มขึ้นย้อนแย้งกับภาวะแห่งศาสนาที่จำนวนพระ สามเณรลดน้อยลง วัดร้าง รัฐบาล หรือเราท่านควรมีท่าทีเช่นไร …
การศึกษาไทยในวันนี้มีความหลากหลาย ย้อนแย้ง เหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมทั้งความเป็นคนที่เกิดมา ฐานะทางสังคม เศรษฐกิจ โอกาสทางการศึกษาที่ดีและรัฐสนับสนุนตามรัฐธรรมนูญ ดูเสมือนว่าเป็นความฝันที่ต้องใฝ่คว้าด้วยโอกาสในชีวิต บุญทำกรรมแต่งของแต่ละชีวิต ใครคนหนึ่งมีการศึกษาที่ดีจากสถาบันการศึกษาที่ดีจักมีชีวิตที่ดีไปได้ตลอดชีวิตหรือไม่อย่างไร …
เฉลิมพล พลมุข