“การุณ”เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบอะควาเรียมสงขลา ปลาย มี.ค.นี้ / ด้านผอ.อาชีวะเกษตรภาคใต้ ดันเดินหน้าต่อให้เป็นเลิศด้านวิจัย-ดูแลสัตว์น้ำ-สิ่งแวดล้อม
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรืออะควาเรียม ของวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ จ.สงขลา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ว่า ตนได้เชิญคณะกรรมการฯ ลงพื้นที่ในวันที่ 27-28 มี.ค.2561 เพื่อตรวจดูว่ามีอะไรที่เป็นข้อสังเกต หรือสาเหตุที่ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างอะควาเรียมต่อไปได้ รวมถึงรูปแบบรายการตามทีโออาร์ กับรูปแบบรายการที่มีการเปลี่ยนแบบแตกต่างกันอย่างไร ทั้งนี้ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการตรวจสอบข้อเท็จจริงรายงาน รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาต่อไป
“ในพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ระเบียบข้าราชการพลเรือน กับ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เขียนไว้ว่าเมื่อมีการกล่าวหาว่าข้าราชการพลเรือน หรือข้าราชการครู กระทำผิดวินัย หรือกรณีเป็นที่สงสัยว่า ข้าราชการพลเรือน หรือข้าราชการครู ผู้ใดกระทำผิดวินัย ถ้ามีตัวตนก็ต้องตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง แต่โครงการนี้ยังไม่มีตัวตน แต่สงสัยว่าโครงการนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงตั้งคณะกรรมการไปตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน หากตรวจสอบแล้วเห็นว่าโครงการฯ ไม่ถูกต้อง มีการดำเนินการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและหากเห็นว่ามีใครเกี่ยวข้องก็จะสรุปเรื่องเสนอ รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายดำเนินการต่อไป”นายการุณ กล่าว
ด้านนายวิศวะ คงแก้ว ผอ.สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคใต้ กล่าวว่า วัตถุประสงค์เดิมในการสร้างอะควาเรียมก็เพื่อการศึกษา ดังนั้นคุณลักษณะดังกล่าวก็ต้องมุ่งไปที่การศึกษาก่อน แล้วให้การท่องเที่ยวเป็นส่วนรองลงมา เรื่องนี้ก็จะสามารถเดินหน้าไปได้ ซึ่งผู้วางโครงการเดิมก็คงคิดไว้รอบคอบแล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการในส่วนที่เชื่อมโยงระหว่างอะควาเรียมกับการศึกษา แต่ถ้าสามารถเชื่อมโยงกันได้ สถาบันการอาชีวศึกษาก็ต้องเข้ามาดูด้วย เพราะวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ เป็นวิทยาลัยที่เป็นเลิศทางด้านการเพาะเลี้ยง ซึ่งต่อไปอาจจะมีสาขาวิชาใหม่เกิดขึ้นจะเป็นนวัตกรรมใหม่ก็ได้ เช่น เรื่องการดูแลอะควาเรียม การบริหารจัดการอะควาเรียม ซึ่งจะเป็นอาชีพใหม่ รวมไปถึงการศึกษาและวิจัย ที่จะทำให้เกิดการดำรงอยู่ของสภาพแวดล้อมของทะเลสาบสงขลา จะเป็นศูนย์วิจัยศึกษาและทดลองที่สำคัญของสภาพแวดล้อมกับการศึกษาทางด้านการประมง ซึ่งก็คือวัตถุประสงค์หลัก
“สิ่งที่เราเห็นขณะนี้คือปรากฏการณ์ แต่เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้สร้างคุณภาพหรือมูลค่า ซึ่งเราจะต้องจินตนาการไปข้างหน้าว่าอะควาเรียมคืออะไร จะต้องเชื่อมโยงนักศึกษาระดับ ปวช. ปวส.หรือ ปริญญาตรีอย่างไร ต้องมีห้องแล็ป ห้องทดลองสัตว์น้ำ การดูแลสัตว์น้ำ จะต้องทำอย่างไร รวมถึงกฎหมายของสวนสัตว์ที่มาคุ้มครองสัตว์น้ำเหล่านี้ ซึ่งไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่สร้างอะควาเรียมให้เสร็จเราก็ต้องมองไปข้างหน้าด้วย”นายวิศวะ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ